ข่าว

วัชระ แฉ 4 ชื่อเอี่ยวสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วัชระ" แฉ 4 ชื่อเอี่ยวสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า มีตั้งคนกันเองนั่งเป็น กมธ.

 

 

          เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 - นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี 12 คนที่เสนอมานั้น เป็นที่น่าสงสัยมาก เพราะตั้งผู้ที่จะถูกสอบสวนหรือลูกน้องผู้ถูกสอบสวนมานั่งเป็นกรรมาธิการด้วย ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสภาไทย

 

          อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ ม.129 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมาธิการมีหน้าที่ในการกระทำกิจการ สอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ตามหน้าที่และอำนาจ แล้วรายงานให้สภาทราบ ซึ่งตามหลักของการสอบหาข้อเท็จจริง ระหว่างผู้สอบข้อเท็จจริงกับผู้ถูกสอบข้อเท็จจริงต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือในภาษากฎหมายเรียกว่า การขัดกันแห่งผลประโยชน์ และที่ร้ายแรงที่สุดที่ไม่ควรเกิดขึ้น คือ ผู้สอบข้อเท็จจริงกับผู้ถูกสอบข้อเท็จจริงเป็นคนๆเดียวกัน เพราะจะทำให้ผลการสอบข้อเท็จจริงไม่เกิดความชอบธรรมหรือความจริงแน่นอน

 

          นายวัชระ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ควรจะถูกสอบข้อเท็จจริงในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ แต่กลับได้เป็นกรรมาธิการ ประกอบด้วย 1.นายสุชาติ โรจน์ทองคำ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และในอีกฐานะหนึ่งคือ ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง (ตรวจรับ) งานก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ในการพิจารณาตรวจรับงานการก่อสร้าง และให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาการก่อสร้างฯ และงาน ICT งานสาธารณูปโภคฯ ตลอดจนงานอื่นๆ ของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ และเป็นกรรมการเร่งรัดการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ และเป็นกรรมการบริหารการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการอำนวยการก่อสร้างในภาพรวม และต้องรับผิดชอบโดยตรง หากปรากฏว่า การขยายเวลาก่อสร้างเป็นไปโดยมิชอบ

 

          2.นายพินิจ พูลเกิด ที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างฯ CAMA เป็นผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในการให้คำปรึกษา ประสานงาน รวมทั้งให้ความเห็นในการพิจารณาการขยายระยะเวลาการก่อสร้างฯ รวมถึงงาน ICT งานสาธารณูปโภค และงานอื่นๆ ของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ และเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงหากปรากฏว่า การขยายระยะเวลาการก่อสร้างเป็นไปโดยมิชอบ     

 

          นายวัชระ กล่าวต่อไปว่า 3.นายพงศ์กิตต์ อรุณภักดีสกุล และนางปัณณิตา สะท้านไตรภพ ข้าราชการระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมีนายนัท ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้บังคับบัญชาของนายพงศ์กิตต์และนางปัณณิตา ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษแก่บุคคลทั้งสองได้โดยตรง ทั้งนี้ สถานะของนายนัท ย่อมส่งผลโดยตรงกับความเห็นของบุคคลทั้งสองอย่างชัดเจน

 

          และ 4.นายนัท เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการเร่งรัดการก่อสร้างฯ และเป็นกรรมการบริหารการก่อสร้างฯ ซึ่งได้รับทราบและไม่คัดค้านผลของการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง และเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การขยายระยะเวลาการก่อสร้างเป็นไปโดยมิชอบ ดังนั้น ความเห็นของบุคคลทั้งสองในฐานะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมอย่างแน่นอน

 

          “ด้วยเหตุผลโดยประจักษ์ดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าความเห็นของบุคคลทั้ง 4 ในฐานะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการก่อสร้างอาคารรัฐสภา จึงมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างชัดเจน และมีลักษณะอันไม่เป็นธรรม เนื่องจากผู้สอบข้อเท็จจริงกับผู้ถูกสอบข้อเท็จจริง เป็นบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง” นายวัชระ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ