ข่าว

กมธ.เกษตรฯวุฒิ ลุยพื้นที่ติดตาม บางระกำโมเดล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กมธ.เกษตรและสหกรณ์ และวุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตาม โครงการบางระกำโมเดล จ.พิษณุโลก ภายใต้การปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

 

          คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เร่งทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่ติดตามการทำงานตามนโยบายรัฐบาล ผ่านโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โครงการบางระกำโมเดล โครงการเกษตรแปลงใหญ่ และโครงการพัฒนาศักยภาพขบวนการผลิตสินค้า พื้นที่พิษณุโลก ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

 

 

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา พร้อมคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามโครงการ การจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จากตัวแทนจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ติดตามการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ วุฒิสภามีหน้าที่ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แม้สมาชิกวุฒิสภาจะไม่มีอำนาจในการสั่งการแบบรัฐบาล แต่จะเป็นส่วนเสริมในการผลักดันสะท้อนปัญหาต่อฝ่ายบริหารให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่

 

 

กมธ.เกษตรฯวุฒิ ลุยพื้นที่ติดตาม บางระกำโมเดล

 


          ซึ่งจากการลงพื้นที่ บ้านแม่ระหัน ตำบลบ้านกร่าง จ.พิษณุโลก เพื่อดูสภาพพื้นที่และการบริหารจัดการน้ำ โครงการบางระกำโมเดล ที่ได้ริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัย พล.อ.ฉัตรชัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งปี 60-62 ได้จับเข่าคุยกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มผลิต กลุ่มปัจจัยการผลิต กลุ่มสหกรณ์ และกลุ่มปฏิรูป และได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าภาพรวมของปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยโดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล 42%เขื่อนสิริกิติ์ 52% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 28% และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน  มีปริมาณน้ำประมาณ 48% เท่านั้น เนื่องจากฝนไม่ตกตามฤดูกาลและปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัย ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการในด้านการบริหารจัดการน้ำและการช่วยเหลือ ไว้รองรับภัยแล้งในปี 2563 และอาจจะใกล้เคียงกับการเกิดวิกฤตภัยแล้งในปี 2558 



          ขณะที่การลงพื้นที่ดูนาแปลงใหญ่ จ.พิษณุโลกมีการดำเนินการทั้งหมด 331แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วม 1,720 ราย พื้นที่ 41,382 ไร่ ลดต้นทุนการผลิตได้ 848 บาทต่อไร่ สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร 2,000.-บาทต่อไร่ หลังมีการริเริ่มดำเนินการในขั้นต้นไว้แล้ว อยากให้หน่วยงานหาแนวทางดำเนินการต่อไปในขั้นกลางและขั้นปลาย โดยชุมชนจะต้องเข้ามาบริการจัดการด้วยตัวเอง ผู้จัดการต้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และต้องมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องเปิดให้เกษตรกรกู้เพิ่มเติม รวมทั้งต้องบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะในปี 63 ที่กำลังรองบประมาณที่จะมาถึง เพื่อให้งานทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้

 

 

 

กมธ.เกษตรฯวุฒิ ลุยพื้นที่ติดตาม บางระกำโมเดล


          ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย  ยังฝากกำชับส่วนราชการว่า รัฐบาลมีนโยบายออกมามากมาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบรายละเอียด จึงขอให้เร่งประชาสัมพันธ์งานต่างๆให้เข้าถึงประชาชนและเกษตรกรได้รับรู้ด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ