ข่าว

เสียงเอกฉันท์ 445 ตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน.ประชุมนัดแรก 24 ธ.ค.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาฯเสียงเอกฉันท์ 445 ตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน.ใช้เวลา 120 วัน นัดประชุมครั้งแรก 24 ธ.ค.​พบ "เพื่อไทย" ส่งมือกฎหมายสุดเขี้ยวร่วมวง "สมชัย" โผล่ในโควต้าพรรคเสรีรวมไทย

 

 

 

              รัฐสภา - 18 ธันวาคม 2563 - สภาฯ เสียงเอกฉันท์ 445 ตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน. ใช้เวลา 120 วัน นัดประชุมครั้งแรก 24 ธ.ค.​พบ "เพื่อไทย" ส่งมือกฎหมายสุดเขี้ยวร่วมวง "สมชัย" โผล่ในโควต้าพรรคเสรีรวมไทย  พปชร.​เสนอชื่อ "สนธิญาณ" ร่วมวง ก่อนลงมติ "บัญญัติ" ซัด3 ปัญหาของรธน. สร้าง3ปมล้มเหลว ห่วงพรรคการเมืองอ่อนแอ ส่งผลปชต.อ่อนแอ "ปิยบุตร" หนุน "พีระพันธ์ุ" นั่งปธ.แก้รธน.  

    

 

              ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาฯ ในวาระพิจารณาญัตติด่วน ให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อเนื่อง โดยผลการลงมติเป็นไปอย่างเอกฉันท์ เสียงเอกฉันท์ 445 เสียงเห็นชอบต่อการตั้งกมธ.ฯ โดยมีผู้งดออกเสียง 3 เสียง คือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ, นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ​ คนที่หนึ่ง และ นายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯ​คนที่สอง โดยมีจำนวน 49 คน  และใช้เวลาพิจารณารวม 120 วัน  
 

 

 

                    ทั้งนี้ก่อนการลงมตินายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้เสนอญัตติด่วน ให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อภิปรายปิดท้ายว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และวิกฤตที่จะเกิดในอนาคต รวมถึงแก้ไขเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องอาศัยความมั่นคงของหลักนิติธรรม และเสถียรภาพทางการเมือง

 

 

 

 

เสียงเอกฉันท์ 445 ตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน.ประชุมนัดแรก 24 ธ.ค.

 

                 เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ หากไม่แก้ไขต่อให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ​กลับมา หรือมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหลายคนไม่มีทางแก้ไขได้หากไม่ได้รับความเชื่อมั่น ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำให้เกิดการยอมรับจากประชาชน รัฐธรรมนูญ​พ.ศ. 2560 ผ่านการบังคับใช้ 2 ปี แต่พบปัญหา ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักผ่านการเขียนไว้ในนโยบายของรัฐบาลด้านเร่งด่วน ทั้งนี้ตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญอาจสร้างปัญหากับการเลือกตั้ง และบางมาตราไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะเขียนด้วยความอคติ 

 

 

                    "หากแก้ไม่ได้ หรือแก้ยาก จะเกิดสงครามการเมือง แก้โดยสันติไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดคือรัฐประหาร ที่อ้างว่าเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นเพื่อไม่เป็นข้ออ้าง เราต้องแก้ไขก่อน ทั้งนี้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามความต้องการประชาชน และเพื่อให้เกิดการยอมรับต้องให้ประชาชน จึงเสนอตั้งกมธ.วิสามัญฯศึกษาแนวทางแก้อย่างไร และแก้ไขเมื่อใด ซึ่งแนวทางโดยส.ส.ร.เป็นข้อเสนอ ระยะเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมประมาณการณ์หากเห็นพ้องต้องกัน 2 ปีจะเห็นหน้าเห็นหลัง ดังนั้นจึงไม่ใช่การเสนอที่เร็วเกินไป ผมหวังว่าการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าที่ลุล่วง โดยไม่นำมาเป็นเกมทางการเมือง" นายสุทิน กล่าว 

 

 

                    ขณะที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายปิดส่วนของญัตติพรรคร่วมรัฐบาล ว่า ปัญหา 3 ประเด็น คือ 1.ความล้มเหลวของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม 2.พรรคการเมืองอ่อนแอ และ 3.ขาดเนื้อหาพัฒนาประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งปัญหาของรัฐธรรมนูญทำให้เกิดความล่าช้าของการประกาศผลเลือกตั้ง  , ปัญหาการคำนวณส.ส.พึงมี,สมาชิกภาพของส.ส.ที่ไม่แน่นอน ในระยะเวลา 1 นับหากมีการเลือกตั้งใหม่, มีพรรคการเมืองจำนวนมาก ทั้งในรัฐสภาและในรัฐบาล, จัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ส่งผลต่อการทำงานตามนโยบาย, ร่างกฎหมายงบประมาณ รวมถึงเกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำมากที่สุด

 

 

                    ซึ่งทำให้เกิดความล้มเหลว 3 ประการ คือ 1.ระบบเลือกตั้งที่ยุ่งเหยิง, 2.ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เสื่อมศรัทธนา และทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ  และ 3.ทำลายความศรัทธาของพรรคการเมืองเพราะให้ความสำคัญกับผู้สมัคร ส.ส.มากเกินไปซึ่งตนมองว่าเป็นลางร้ายของประชาธิปไตยไทย "เงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ขัดหลักการการแก้ไขโดยใช้เสียงข้างมาก เพราะต้องใช้เสียงสนับุสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน ถึงร้อยละ 20 และ ใช้เสียของส.ว.จำนวน 84 เสียงจากเดิมที่เนื้อหาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับจะใช้หลักการเสียงข้างมากเกินครึ่ง, 2 ใน3 หรือ 3 ใน4 ของสมาชิกสภาฯ เท่านั้น 

 

 

                   ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายด้วยว่าตนยินดี หากนายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานกมธ.ฯ เพราะจากการทำงานร่วมกันในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาฯ นั้นเป็นไปด้วยดี และเชื่อว่าจะทำให้การศึกษาแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้า ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาที่ต้องใช้เสียง ส.ว.  84 เสียง ดังนั้นขอให้สภาฯ เร่งกดดันให้ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสร้างกระแสสนับสนุนจากประชาชน เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญ ที่ตนมองว่าเป็นระเบิดเวลา มีปัญหาจนนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารหรือลุกฮือของประชาชน   

 

 

                    ผู้สื่อข่าวรายงานถึงรายชื่อ กมธ.วิสามัญฯ ที่เสนอโดยพรรคการเมืองต่างๆ และน่าจับตา อาทิ นายพีระพันธ์ุ ซึ่งคาดว่าถูกวางตัวเป็นประธานกมธ., นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งเคยปฏิเสธการเข้าร่วม, นายปกรณ์​ นิลประพันธ์ เลขาาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอดีต กรธ. , นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) , นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมาในโควต้าของพรรคเสรีรวมไทย, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ, ส่วนพรรคเพื่อไทย นั้นเสนอชื่อบุคคลสำคัญ อาทิ นายชัยเกษม นิติศิริ, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายโภคิน พลกุล, นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา, นายวัฒนา เมืองสุข, นายยงยุทธ ติยะไพรัช  เป็นต้น 

 

 

                    ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ นายปิยบุตร, นายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และมีสัดส่วนบุคคลภายนอก ได้แก นายเอกพันธ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษาและสันติภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล, นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมเสนอชื่อ นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน แนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ตามมติของกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมเวทีเสวนาแก้รัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายคั้านนั้น ไม่พบการเสนอชื่อดังกล่าว  

 

 

                    ส่วนการเสนอชื่อกมธ.ฯ ในสัดส่วนของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าถูกปิดเป็นความลับทั้งจากส.ส.ของพรรคและเจ้าหน้าที่สำนักการประชุมสภาฯ ซึ่งต่างจากปกติที่จะแถลงรายละเอียดและแจ้งให้ทราบก่อนการเสนอชื่อ อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวแจ้งว่า การเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวที่ปรับเปลี่ยนเพราาะต้องการชิงไหว ชิงพริบต่อการผลักดันแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้กมธ.ฯ จะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 24 ธันวาคม.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ