ข่าว

มหกรรม รธน.ประชาชน เรียกร้องเขียนรธน.ใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครช.-สมัชชาคนจน ร่วมเขียนข้อความ "ปชช.ขอเขียน รธน." แถลงการณ์ รธน.ใหม่ต้องให้สิทธิเข้าถึงทรัพยากร-สวัสดิการพื้นฐาน แก้กระบวนการครอบงำสถาบัน-ที่มานายกฯ-ระบบสว.

 

 

          เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 - ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในการจัดงานมหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน ระหว่างวันที่ 14-15 ธ.ค.นี้ โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ซึ่งมีทั้งสมัชชาคนจน และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 2 มีการจัดกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงช่วงเย็น มีทั้งการเสวนาและการแสดงดนตรี การจัดภาพนิทรรศการ และกิจกรรม "ประชาชนขอเขียนรัฐธรรมนูญ" ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเขียนข้อความ ที่ต้องการแก้ไขและบรรจุในรัฐธรรมนูญใหม่

 

มหกรรม รธน.ประชาชน เรียกร้องเขียนรธน.ใหม่

 

          ขณะที่เวทีการเสวนาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็เห็นว่าในการเขียนและแก้รัฐธรรมนูญต้องทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มาประชาชนและเพื่อประชาชน หลังจากที่ผ่านมาประชาชนประสบปัญหาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการที่เป็นผลไม้พิษ  

 

         จากนั้นในเวลา 16.30 น. ได้มีการตั้งแถวเป็นขบวน ถือธงสัญลักษณ์สีเขียวและสีเหลือง และป้ายผ้าเขียนข้อความ เดินเป็นขบวนจากบริเวณหอประชุม ภายใน ม.ธรรมศาสตร์ ไปยังลานปรีดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ (บริเวณริมน้ำ) เพื่ออ่านแถลงการณ์ "ประชาชนขอเขียนรัฐธรรมนูญ" โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) พร้อมตัวแทนภาควิชาการ นักศึกษา ประชาสังคม และพรรคการเมือง ร่วมกิจกรรมดังกล่าว

 

มหกรรม รธน.ประชาชน เรียกร้องเขียนรธน.ใหม่

 

          โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ระบุว่า "รัฐธรรมนูญ" คือ กติกาสูงสุดที่บังคับใช้กับประชาชนในรัฐ กำหนดว่าบุคคลอยู่ตรงไหนได้อำนาจและประโยชน์ไปมากน้อยเพียงใด ด้วยวิธีการอย่างไร และด้วยกลไกใด พร้อมกับรับรองว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพเพียงใด มีหน้าที่อะไร รัฐธรรมนูญจึงจำเป็นจะต้องมาจากการเห็นพ้องต้องการของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของประเทศไทยโดยเฉพาะฉบับปัจจุบันไม่ได้มาจากความเห็นพ้องต้องการของประชาชน หากแต่เริ่มต้นจากคณะบุคคลก่อรัฐประหาร ปล้นอำนาจของประชาชน ตามด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญก่อนหน้า จากนั้นก็ตั้งพรรคพวกของตนเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ภายใต้บงการของตน ไม่มีตัวแทนของประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด และแม้จะเปิดโอกาสให้มีประชาชนมีส่วนร่วมบ้างดังเช่นการทำประชามติ แต่กระบวนการนี้ก็ไม่สามารถนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่ามติของประชาชนได้ เพราะเป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว พร้อมกับปิดกั้น ข่มขู่คุกคาม และฟ้องร้องดำเนินคดีผู้นำเสนอข้อมูลอีกด้าน และยังมีการแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญหลายครั้งหลังจากผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว ทำให้ไม่สามารถกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ

 

          ด้วยความที่ไม่เห็นหัวประชาชนตั้งแต่ต้น เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน หากแต่สะท้อนเจตจำนงของคณะบุคคลที่ต้องการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในประเทศใหม่เป็นการสถาปนาอำนาจชนชั้นนำในนามความมั่นคงของรัฐท่ามกลางการลดคุณค่าและความหมายของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนถูกเปลี่ยนสถานะจากองค์ประธานแห่งสิทธิ เป็นผู้รอรับการอุปถัมภ์ ไม่อยู่ในสถานะที่จะเรียกร้องทวงถามสิ่งพึงมีพึง ได้แต่เฝ้ารอการสงเคราะห์จากรัฐ สิทธิของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า เช่น สิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สิทธิการมีส่วนร่วมในสิ่งแวดล้อม สิทธิในการแสดงความเห็นต่อโครงการต่างๆ และสิทธิในการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหายไปขณะที่สิทธิบางด้านถูกเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐแต่ก็ไม่มีหลักประกันว่ารัฐจะทำตามหน้าที่นั้นหรือไม่อย่างไร

 

มหกรรม รธน.ประชาชน เรียกร้องเขียนรธน.ใหม่

 

          นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้สร้างเงื่อนไขให้ตัวแทนของประชาชน เช่นนักการเมืองและพรรคการเมืองอ่อนแอและอยู่ในอาณัติขององค์กรที่ไม่ได้มาหรือยึดโยงกับประชาชน เช่นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม และสูตรคำนวณเก้าอี้ ส.ส. ซึ่งส่งผลให้ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้ และนำไปสู่รัฐบาลที่อ่อนแอไร้เสถียรภาพเพราะต้องอยู่กับการต่อรองระหว่างพรรคต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

 

          ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอย่างกว้างขวาง ในการกำกับควบคุมพรรคการเมืองและ ส.ส. รวมทั้งให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการให้สิทธิในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. ไม่นับรวมการกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ส่งผลให้นโยบายพรรคการเมืองแทบไร้ความหมาย การมีบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจหัวหน้าคณะรัฐประหารอยู่เหนือกฎหมายจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่รวมทั้งการเขียนให้ คำสั่ง ประกาศ และการกระทำของ คสช.และหัวหน้า คสช. มีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการออกกฎหมายมายกเลิก เป็นต้น

 

มหกรรม รธน.ประชาชน เรียกร้องเขียนรธน.ใหม่

 

          นอกจากถูกเขียนขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจชนชั้นปกครองและลดอำนาจประชาชนดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างกว้างขวาง ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 265 ในบทเฉพาะกาล ละเมิดสิทธิประชาชนและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2559 ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขต พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ , คำสั่งหัวหน้า คสช.4/2559 ยกเว้นการใช้กฎกระทรวง ให้ใช้ผังเมืองรวมสำหรับการ ประกอบกิจการบางประเภท คำสั่งหัวหน้า คสช. 9/2559 ยกเว้นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 ข้อ 12 ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

 

          ขณะที่ในช่วงการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ได้อาศัยรัฐธรรมนูญสร้างความได้เปรียบให้ตนเอง เช่นใช้คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามผู้สมัครจากพรรคการเมืองหาเสียงขณะที่ตนเองหาเสียงได้ภายใต้การเป็นรัฐบาล และเมื่ออนุญาตให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเฝ้าสังเกตการณ์เวทีปราศรัยและการหาเสียงของผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม ประการสำคัญ กกต. ซึ่งรัฐบาล คสช.มีส่วนในการแต่งตั้ง ได้จัดการเลือกตั้งในลักษณะที่เอื้อประโยชน์พรรคร่างทรง คสช. ในหลายลักษณะ นับตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ , การมีเจตนาจะไม่ให้มีชื่อและโลโกพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง , การประกาศผลคะแนนล่าช้า , ไม่ประกาศผลคะแนนรายหน่วย ไปจนกระทั่งการไม่มีคำอธิบายที่รับฟังได้ว่าเหตุใดยอดรวมบัตรเลือกตั้งจึงไม่เท่ากับยอดรวมผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน

 

มหกรรม รธน.ประชาชน เรียกร้องเขียนรธน.ใหม่

 

          ภายหลังการเลือกตั้ง การที่รัฐธรรมนูญเขียนให้นายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ส่งผลให้พรรคร่างทรงคสช. สามารถส่งเทียบเชิญหัวหน้าคสช. มาเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และการเขียนให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. สามารถลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็ส่งผลให้หัวหน้าคสช. สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในที่สุดจึงเป็นการอาศัยรัฐธรรมนูญบิดเบือนการเลือกตั้งตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ      

 

           ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีปัญหา แต่ความตระหนักรู้ยังคงจำกัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำต้องอยู่กับการแก้ปัญหาปากท้องเป็นหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบกับการเดินตามแนวคิดของรัฐธรรมนูญที่มองประชาชนเป็นผู้รอการอุปถัมภ์ และนโยบาย "รัฐสมคบคิดทุนใหญ่แล้วเจียดกำไรไปให้ทานคนจน" เช่นโครงการประชารัฐ , โครงการไทยนิยมยั่งยืน , บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการชิมช็อปใช้ที่อาจช่วยยืดเวลาการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจออกไปได้อีกระยะ แต่สุดท้ายก็จะปะทุออกมาเพราะว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด รวมถึงการถือครองที่ดินเพราะปัญหาความยากจนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการจนเงินจนรายได้ แต่เป็นเรื่องของการจนสิทธิ จนโอกาส และจนอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น        

 

มหกรรม รธน.ประชาชน เรียกร้องเขียนรธน.ใหม่

 

          ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา "คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญเค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช." จึงเรียกร้องให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่สะท้อนเจตนารมณ์และตอบสนองปัญหา และความต้องการของประชาชน ดังนี้

 

          1.สวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้า ทั้งด้านสุขภาพ , การศึกษา , รายได้ รวมถึงการคมนาคมโดยไม่มีเงื่อนไขด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เพศสภาวะและอุดมการณ์ทางการเมือง 2.สิทธิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเลรวมถึงการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย 3.การคุ้มครองการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีปราศจากมลพิษ และสิทธิในการจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชน

 

          4.สิทธิการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุม ไม่ใช่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน 5.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม 6.สิทธิการปกครองที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม สภาพเศรษฐกิจและลักษณะภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น และ 7.การปรับปรุงแก้ไขกลไก และกระบวนการครอบงำสถาบันตัวแทนประชาชน เช่น ระบบการเลือกตั้ง ส.ว. , แผนยุทธศาสตร์ชาติ และคุณสมบัติและการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีง

 

          ทั้งนี้ ครช. จะสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตื่นตัวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับสังคม พร้อมกับผลักดันให้มีการตรา พ.ร.บ.การรับฟังและดำเนินการตามมติมหาซนที่มีต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร โดยอาศัยมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า " ร่างพ.ร.บ.ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อนและจะเสนอได้ก็แต่โดย...(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน" ซึ่งจะนำไปสู่การรับฟังเสียงและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นมติมหาชนที่ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต่อไปเพราะในระบอบประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนด้วยความเชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังได้อ่านแถลงการณ์ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วในเวลา 17.00 น. ทั้งหมดจึงแยกย้ายขบวนจากบริเวณลานปรีดีฯ ถือเป็นการจบกิจกรรมมหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ