ข่าว

เลิกเกรงใจ ต้านคอรัปชั่น ชวน แนะเพิ่มธรรมภิบาลข้อ 7

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชวน" แนะเพิ่มธรรมภิบาลข้อ 7 แก้คอรัปชั่น ต้องไม่เกรงใจ ยกตัวอย่างคดีคลาสสิค ขรก.ชั้นผู้ใหญ่ติดคุก-ถูกไล่ออกเพราะเกรงใจนาย

 

 


               สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์-6 ธ.ค.2562-"ชวน" แนะเพิ่มธรรมภิบาลข้อ 7 แก้คอรัปชั่น ต้องไม่เกรงใจ ยกตัวอย่างคดีคลาสสิค ขรก.ชั้นผู้ใหญ่ติดคุก-ถูกไล่ออกเพราะเกรงใจนาย ย้ำสยามเมืองยิ้มมีดี แต่คนไทยฝึกวินัยน้อย ค่านิยมต้านโกงไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้องเร่งสร้างจากเยาวชน พร้อมจี้ปปช.ตรวจเอกชนทิ้งงานก่อสร้าง เสียหายอื้อ

 

             

           เวลา 10.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "มหันตภัย คอรัปชั่นยุค 4.0" ว่า ในช่วงหลังเราละเลยต่อค่านิยม ซึ่งเห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง ในอดีตหลังการเลือกตั้งสื่อจะตรวจสอบว่าใครที่ชนะการเลือกตั้งด้วยการโกง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครสนใจตรวจสอบ มองข้ามที่มา มองเพียงว่าชนะแล้วก็ถือว่าจบ ใครบ้างที่ลงทุน 30-50 ล้านเพื่อทุจริตเลือกตั้งแล้วไม่เข้ามาหาประโยชน์ มาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น


 

 

 

 

เลิกเกรงใจ ต้านคอรัปชั่น ชวน แนะเพิ่มธรรมภิบาลข้อ 7

 

 

              เราจึงจำเป็นต้องสร้างค่านิยมต่อต้านการทุจริต วันที่ 9 ธ.ค.ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอรัปชั่นสากล เป็นวาระสำคัญของชาติที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึก กำหนดกฎหมาย หลักเกณฑ์ด้านความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาล แต่สำหรับประเทศไทยแม้จะใช้หลักธรรมาภิบาลแต่การทุจริตยังมีอยู่ตลอดมา เพราะไม่มีการปฏิบัติ หรือผู้ปฏิบัติจำใจต้องปฏิบัติที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล

 

 

 

              ยกตัวอย่างคดีที่เป็นอมตะคลาสสิค ปลัดกระทรวงการคลังถูกไล่ออก เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( กพ.) ถูกประนามว่าประพฤติชั่วร้ายแรง จากการเข้าไปแก้ไขระเบียบเพื่อแต่งตั้งคนที่ฝ่ายการเมืองต้องการ หรือรุ่นน้องนักกฎหมายยศตำรวจเอก และพันตำรวจเอกที่ต้องติดคุก ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยติดคุก 18 ปี อธิบดีกรมการปกครองถูกไล่ออก จากการเปลี่ยนข้อสอบและคำตอบให้กับเด็กนักการเมืองที่สอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ แม้พื้นฐานของพวกเขาจะไม่ใช่คนโกง เป็นคนเก่ง เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลแต่ต้องติดคุก ถูกไล่ออก เพราะเกรงใจนาย ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีพระคุณ  

 

 

 

เลิกเกรงใจ ต้านคอรัปชั่น ชวน แนะเพิ่มธรรมภิบาลข้อ 7

   

 

              "ความเกรงใจคือที่มาการละเลยธรรมาภิบาลและความซื่อตรง แม้ความเกรงใจจะเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย ที่ชาติอื่นไม่ค่อยมี แต่เมื่อเอาความเกรงใจมาใช้กับเรื่องไม่สะอาดปัญหาจึงเกิดขึ้น ธรรมาภิบาลหรือหลักการบริหารจัดการที่ดี 6 ข้อ ที่ใช้กันทั่วโลก  ได้แก่ คุณธรรม, นิติธรรม ,ความโปร่งใส, ความมีส่วนร่วม ,ความรับผิดชอบ , และความคุ้มค่า แต่ในประเทศไทยต้องเพิ่มข้อ  7 คือต้องไม่เกรงใจ พิษภัยของการทุจริตไม่ใช่แค่ตัวเงินที่รั่วไหล แต่ถนนที่ควรใช้งานได้เป็น 10 ปี ก็ทรุดภายใน 2 ปี

 

 

              ถ้าเรานั่งรถข้ามจาก ฝั่งไทยไปมาเลเซีย จะพบว่าคุณภาพถนนของเราสู้เขาไม่ได้ เพราะเรามีการตัดเปอร์เซนต์ ตัดราคา  โครงการของหน่วยราชการถูกทิ้งงานอย่างน่าตกใจ โครงการขุดคลองเลียบแม่น้ำตรัง ผู้รับเหมาทิ้งงานทั้งที่ทำไปได้ 20% วิทยาลัยพยาบาลตรัง ทิ้งงานตั้งแต่ปี 59 รพ.ตรัง ก็ทิ้งงานความเสียหายรุนแรงมาก ขอฝากให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)ช่วยตรวจสอบด้วย "นายชวน กล่าว

 

 


           นายชวน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการยึดอำนาจเพราะข้ออ้างเรื่องทุจริตมีทั้งจริงและไม่จริง เช่นในยุคจอมพลถนอม กิติขจร ยึดอำนาจเพราะรัฐบาลรำคาญ  ส.ส. ซึ่งในยุคนั้นการขึ้นเงินเดือนส.ส.ก็ใช้เป็นงบลับ ในสมัยที่ตนเป็นรมว.กลาโหม พิจารณาใช้งบลับอย่างเหมาะสมที่สุด และเคยตั้งข้อสังเกตว่า ค่าอาหาร กินข้าวก็ใช้งบลับ ไม่ใช้เงินตัวเอง ตนจึงสั่งคืนทั้งหมด  

 

 

           ทั้งนี้มองว่า การแก้ปัญหาคอรัปชั่น ต้องสร้างคนดี คนดีอยู่ตรงไหนปัญหาก็มีน้อย กระแสสังคมและค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงก็กลืนเขาไม่ได้ เราจึงต้องเร่งสร้างคุณสมบัติที่ดีให้กับเยาวชน เอกลักษณ์คนไทยสยามเมืองยิ้ม เพราะเราสั่งสมวัฒนธรรมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  แต่เราฝึกวินัยน้อยเกินไป ทั้งเรื่องความเป็นระเบียบวินัย การเข้าคิว หรือการทิ้งขยะเป็นที่ เช่นเดียวกับค่านิยมต่อต้านทุจริตที่อย่าไปคิดว่าเกิดขึ้นได้เอง ต้องช่วยกันสร้างให้เผยแพร่ในหมู่ประชาชนทั่วไป 

 


           นายชวน ยังได้ยกพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานในปี 2552 และ 2553 ซึ่งมีใจความซ้ำกัน ถึงเรื่องความรับผิดชอบ โดยในปี 2552 มีการทำลายการประชุมระดับชาติที่พัทยา ผู้นำประเทศต้องหนีกระเจิดกระจิงเพราะคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งกรูกันเข้าไป ทั้งที่มีกำลังตำรวจและทหาร แต่ผู้มีหน้าที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่รับผิดชอบ หรือเป็นเพราะคนก่อเหตุและคนป้องกันมีนายคนเดียวกัน และในปี 2553ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุเผาบ้านเผาเมือง ในบ้านเมืองจึงต้องการให้ทุกคนรับผิดชอบและปฏิบัตหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด หากเรายึดหลักธรรมาภิบาลในภาคปฏิบัติ อาจทำให้การทุจริตเกิดขึ้นน้อยลง หรือมีการป้องกันการทุจริตที่ดีขึ้น

 

 

           จากนั้นนายชวนได้ มอบรางวัล Anti-Corruption Awards 2019 ให้แก่ น.ส.ปณิตา ยศปัญญา เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ในสาขาบุคคลต่อต้านคอรัปชั่น, และมอบรางวัลสาขาองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) ,ส่วนรางวัลสาขาสื่อมวลชนต่อต้านคอรัปชั่น มอบให้แก่ คอลัมน์หมายเลข 7 ,และนายวิชา มหาคุณ ได้รับรางวัล บุคคลเกียรติยศแห่งปี


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ