ข่าว

เสวนา เฟคนิวส์ เสนอดึงทุกพรรคร่วมต้านข่าวปลอม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สุภิญญา" แนะศูนย์ต้านข่าวปลอม ก.ดีอี ต้องชัดเจน มีตัวแทนทุกพรรคการเมืองร่วม "ไพบูลย์" ยืนยัน นิยาม เฟคนิวส์ ของรัฐกับปชช.ไม่เคยตรงกัน


 

          17 พ.ย.62 - ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ฝ่ายสิทธิเสรีภาพสมาคมนักข่าวฯ สื่อ จัดราชดำเนินเสวนาหัวข้อ "จุดกึ่งกลางการจัดการปัญหา Fakenews" น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) , นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ,น.ส.สุภิญญากลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช.

 

          โดย น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะผู้ที่เคยทำงานบริหารจัดการเกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติและข่าวสารต่างๆ ซึ่งเมื่อเกิดข่าวสารที่มีผลกระทบต่อประชาชน ตนจึงได้มีโอกาสมาทำงานในหลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารซึ่งได้มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ชี้แจงกับประชาชน ตั้งแต่ระบบเตือนภัยหรือการให้ข้อมูลข่าวสารผ่าน SMS ขณะที่ปัจจุบันนี้เราอยู่ในสังคมของโลกโซเชียลมีเดียเป็นโลกเสมือนจริง โดยมีแหล่งข่าวที่มาจากทุกที่และให้ข่าวได้เลย ต่างจากในอดีตจะมีแหล่งข่าวจากหน่วยงานที่เป็นผู้ให้ข่าวสาร หรือจากโฆษกและผ่านกระบวนการกลั่นกรอง ขณะที่ในกระบวนการตรวจสอบเผยแพร่ข่าวสารของสื่อวิทยุโทรทัศน์ก็จะมี กสทช. ส่วนเรื่องของ Social Media ไม่มีใครตรวจสอบ และไม่สามารถตรวจสอบได้ง่าย เพราะข่าวสารนั้นมาจากที่ใดในโลกก็ได้ ทำให้เกิดปัญหาไม่รู้ข้อมูลใดเป็นเท็จหรือเป็นจริง หรือถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์

 

          โดยคำว่า "ข่าวปลอม หรือ Fake news" ในความหมายของหน่วยงานราชการที่เรามองอยู่ ก็คือ ข่าวใดก็ตามแม้เป็นเรื่องจริงแต่ถูกนำมาเสนอผิดเวลาไม่ตรงกับเวลาที่เป็นจริง เช่น นำภาพข่าวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากน้ำท่วมจังหวัดหนึ่ง มาใช้กับข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งที่มีความรุนแรงต่างกัน จนทำให้เกิดความตระหนกตกใจ หรือเป็นข่าวที่ทำขึ้นมาโดยมีเนื้อหาที่คลาดเคลื่อน ให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือทำให้ประชาชนเกิดความสับสนกระทบต่อสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องชี้แจงต่อสาธารณะแต่คลาดเคลื่อนไป ซึ่งเมื่อเกิดข่าวเช่นนี้ เราต้องทำความเข้าใจชี้แจงหรือนำข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มาสื่อสารต่อสาธารณะ


          น.อ.สมศักดิ์ กล่าวถึงศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake news Center) ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดำเนินการว่า การที่จะพิจารณาว่าข่าวลักษณะไหนเป็นข่าวไม่พึงประสงค์ เราก็เทียบเคียงการพิจารณาของแพลตฟอร์ม (ฐานบริการ หรือระบบปฏิบัติการ) ต่างๆ ซึ่งมีเกณฑ์ของแต่ละแพลทฟอร์มอยู่ตามกฎหมายสาธารณะหรือกฎหมายของสื่อสังคมโลกในการรายงานระงับข่าว

 

          โดยจากการวิเคราะห์พบว่า ขณะนี้ข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นเรื่องยาเสพติด 76% , ภัยพิบัติธรรมชาติ 36% , เรื่องเศรษฐกิจ หุ้น 13.6% เรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ 21.2% , ที่สร้างผลกระทบให้เกิดความแตกแยก เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศกว่า 10% และการให้ข้อมูลที่ไม่ตรง คาดเคลื่อนกับสิ่งที่เป็นจริง 16% ซึ่งเหลือส่วนที่จะชี้แจงว่าเป็นข่าวปลอมมีแค่ 10 กว่าข่าว โดยขั้นตอนการตรวจสอบ จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก็เสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด โดยมีบันทึกการตรวจสอบทุกขั้นตอนเพื่อให้สังคมมั่นใจ ก่อนจะคุยกับเจ้าของแพลตฟอร์มเพื่อให้นำข่าวเหล่านี้ออกจากระบบ ทั้งนี้มีคณะกรรมการประสานงานซึ่งหน่วยงานหลัก 80-90% นั้นถือเป็นหน่วยงานอิสระ เช่น สมาคมนักข่าวฯ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ สื่อสร้างสรรค์ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือนักวิชาการในมหาวิทยาลัย มาร่วมตรวจสอบว่าอะไรคือข่าวปลอม

 

          อย่างไรก็ดีปัจจุบันพบว่าภัยที่เกิดขึ้นจาก Social Media เช่น กลุ่มแชร์หลอกลวง มีมากกว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอดีต ขณะที่ผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมากที่สุดที่มีคาดเคลื่อน คือช่วงวัยเกษียณ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเคยมีตำแหน่งหน้าที่การงาน เมื่อมีการแชร์ข้อมูล บุคคลที่ได้รับคิดว่าน่าเชื่อถือจึงกระจายต่อเลย ปัญหาก็เกิดว่าคนที่รับข่าวสารนั้น ต้นทุนความเท่าทันในโซเชียลมีความรับรู้แตกต่างกัน ผลกระทบจึงเกิดขึ้นซึ่งคนโพสต์จะมีความผิดแม้จะบอกว่ารับจากคนนี้ ดังนั้น จึ่งต้องสร้างความเข้าใจให้กับบุคคลที่ใช้โซเชียลเพราะจากการลงพื้นที่ต่างๆ พบว่ามีมากถึง 80-90% ไม่เข้าใจการใช้โซเชียล หรือการใช้มือถือดำรงชีวิตในโลกเสมือนจริง


          ด้าน นายไพบูลย์ ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจะดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ว่า เรื่องจริงหรือเท็จไม่ใช่แค่ข้อมูลจริงหรือไม่ แต่เกี่ยวกับความคิดและอคติด้วย ซึ่งคำว่า Fake news กำหนด หลักเกณฑ์ยากมากไม่มีทางที่รัฐจะกำหนดให้เป็นที่พอใจโดยความหมายของรัฐกับเอกชนมักจะต่างกัน อย่างไรก็ดีการตั้งศูนย์ฯนี้ขึ้นมาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สบายใจเพราะเป็นแนวคิดที่ทุกๆ ประเทศมีกัน แต่จะมีประสิทธิภาพมากเพียงใดก็ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริง ขณะที่เป็นห่วงว่าหากศูนย์นี้จะสแกนได้แค่ไหน ซึ่งปัจจุบันในสื่อโซเชียลคนไทยก็มีปริมาณผู้ใช้ Facebook ถึง 54 ล้านคนก็ลองคิดดูว่าใน 1 นาทีจะมีการส่งข้อมูลมากเท่าใด และยังมี Line , Youtube อีก ยังไม่นับรวม Google ที่เป็นช่องทางในการ search หาทุกอย่างในโลกได้ อย่างไรก็ดีตนมองว่าส่วนของ Fake news แม้จะไม่ดี แต่เราสามารถนำเรื่องนั้นมาวิเคราะห์ได้ว่าการศึกษาของรัฐ ทำให้ประชาชนเข้าใจอย่างไร เราก็นำเสียงสะท้อนประชาชนมาใช้ประโยชน์เพราะเป็นเสียงจริงจากประชาชน

 

          ขณะที่ น.ส.อภิญญา กล่าวว่า หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ศูนย์ฯ นี้ อาจจะต้องปรับแนวคิดโดยดึงภาคส่วนต่างๆเข้ามา ถ้าไม่ทำเรื่องการเมืองเลยก็ให้ประกาศออกมาชัดเจนว่าจะไม่แตะเรื่องการเมือง พรรคอนาคตใหม่จะได้ไม่เรียกร้องว่าทำไมข่าวลือของพรรค ถึงไม่ออกมาตรวจสอบบ้าง แต่ถ้ายังจะต้องเกาะเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอยู่บ้างตรวจสอบว่า ผบ.ทบ. พูดอย่างนั้นหรือไม่ หรือนายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดอย่างนั้นจริงๆ หากจะทำก็ควรจะทำให้ครบทุกข่าว คือหากมีข่าวที่คิดว่าจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงของพรรคฝ่ายค้าน ศูนย์ฯ นี้ ก็จะต้องใจกว้างด้วย ที่จะตรวจสอบว่าข่าวลือนั้นจริงหรือไม่ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าทำไม่ได้เพราะศูนย์นี้เป็นของรัฐจะไปโปรโมทให้ฝ่ายค้านไม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรที่จะแตะกับประเด็นบุคคลที่เกี่ยวข้องการเมือง เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าศูนย์ฯ จะคอยแก้ปัญหาให้กับประชาชนในเรื่องของผู้บริโภค ภัยพิบัติ และเรื่องทางการเงิน

 

          อย่างไรก็ตาม หากอยากจะทำให้ส่วนนี้ได้รับการยอมรับจากฝ่ายการเมืองก็ควรต้องเชิญคนจากทุกพรรคมาร่วมเป็นกองบรรณาธิการ หรือเชื่อมกับสำนักข่าวต่างๆ ดังนั้นการทำงานก็อาจจะใช้วัฒนธรรมลักษณะเหมือนกองบรรณาธิการนักข่าว ที่การทำงานของศูนย์ก็จะต้องยืนหยัดในหลักการความกล้าหาญทางจริยธรรม และร่วมสมัย ให้ได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่ม พร้อมกับดันสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วม

 

          "การจะแก้ปัญหาออนไลน์ได้จะต้องใช้อำนาจทางวัฒนธรรม สังคมการมีส่วนร่วมให้มาทำหน้าที่ของตัวเอง มากกว่าการใช้อำนาจรัฐบังคับอย่างเดียว อย่างไต้หวัน ที่ใช้การตรวจสอบแบบกองบรรณาธิการนักข่าวที่มีทั้งสื่อหลัก , เอ็นจีโอ , ภาคส่วนต่างๆ มาร่วม โดยรัฐอาจจะไม่ต้องออกหน้าทั้งหมด นอกจากการตั้งศูนย์ฯ นี้แล้ว ก็ควรจะสร้างวัฒนธรรมการขอโทษ สร้างวัฒนธรรมการเคารพซึ่งกันและกัน ขณะที่ฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ และผู้นำทางความคิดต่างๆ ว่าไม่ว่าเราจะคิดต่างกันอย่างไร เราก็ควรจะต้องบอกแฟนคลับหรือกองเชียร์ ของเราว่าถ้าไม่จริงก็อย่าแชร์" น.ส.อภิญญา กล่าว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ