ข่าว

เพจกรธ. อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. ส.ส.ที่เป็นรมต.​โหวตงบฯได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"FBกรธ." อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. ปี51 ส.ส.ที่เป็นรมต.​โหวตร่างกม.งบฯ ได้ "ปกรณ์" ยันเป็นหลักการแบ่งแยกอำนาจ หากจะผิด เพราะมีพฤติกรรมแปรงบฯ เพื่อสร้างประโยชน์ตนเอง

 

 

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โพสต์ข้อความต่อประเด็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี จะใช้สิทธิลงมติในเนื้อหาได้หรือไม่ โดยมีสาระโดยนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 14/2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 125 ตอนที่ 127ก วันที่ 4 ธันวาคม 2551 โดยเฉพาะหน้า 13 และ 14 ว่าดำเนินการได้ และแนบลิงก์ให้ตรวจสอบ และระบุข้อความด้วยว่า ดังนั้นก่อนตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ สมควรที่ผู้ตั้งคำถามจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ครบถ้วนก่อน เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันของประชาชนในสังคม อ่านเพิ่มเติม

 

         

   เพจกรธ. อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. ส.ส.ที่เป็นรมต.​โหวตงบฯได้

 

          ทั้งนี้นายปกรณ์​ นิลประพันธ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมต่อประเด็นดังกล่าว ว่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 144  ว่าด้วยการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณซึ่งเขียนเหมือนกับรัฐธรรมนูญ​ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 มีเนื้อหาที่กำหนดว่าห้ามส.ส. ส.ว. หรือกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่มีผลให้ส.ส., ส.ว. หรือ กมธ. มีส่วนในการได้ใช้งบประมาณรายจ่าย ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปีดังกล่าวมีคนร้องต่อกรณีที่ ส.ส.ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สามารถลงมติได้หรือไม่ ซึ่งผลวินิจฉัยระบุว่าการประชุมสภาฯ ส.ส.​ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะเดียวกันจะออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่​มีส่วนได้เสียไม่ได้ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเขียนบทบัญญัติเหมือนกันจึงมีประเด็นที่พิจารณาได้ว่า ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีสามารถลงมติได้ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นคนละบทบาทของตำแหน่งรัฐมนตรี 

 

         "หากดูตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ส.ส. ที่เป็นรัฐมนตรี สามารถใช้สถานะของ ส.ส. หรือฝ่ายนิติบัญญัติโหวตได้ ขณะที่การเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เป็นบทบาทของฝ่ายบริหาร ถือเป็นการเสนอโดยฐานะคณะฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดบทตรวจสอบ ส.ส.ที่แปรงบประมาณเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง เช่น งบสร้างศาลาของส.ส. จึงกำหนดมาตรการตรวจสอบที่ให้ ส.ส.เข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้" นายปกกรณ์ กล่าว       

 

 

          นายปกรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับส.ส.ซึ่งเป็นรัฐมนตรี และได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ สามารถทำได้ แต่ต้องระวังว่าอย่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการแปรญัตติเพื่อเอางบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์กับตนเอง ดังนั้นกรณีการลงมติของ ส.ส. ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ สามารถทำได้ เพราะถือเป็นการใช้สถานะที่เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ