ข่าว

สภามึน​มติครม.แก้พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทนสมาชิกรัฐสภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภา มึน​มติครม. แก้ พ.ร.ฎ. ค่าตอบแทนสมาชิกรัฐสภา ไม่อนุมัติ เงินเดือนส.ส.-ส.ว.ย้อนหลัง  หวั่นคำอ้างจะขัดรธน. ม.100

 

 

              8 ต.ค.2562-สภา มึน​มติ ครม. แก้ พ.ร.ฎ. ค่าตอบแทนสมาชิกรัฐสภา ไม่อนุมัติ เงินเดือนส.ส.-ส.ว.ย้อนหลัง หวั่นคำอ้างจะขัดรธน. ม.100 ด้าน "อดีตที่ปรึกษา กรธ."​ชี้ ส.ส.ไม่ควรได้เงินเดือนย้อนหลัง เพราะยังไม่เริ่มทำงาน เปิดสาระ ร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน ส.ส. พบเนื้อหา ให้นับสมาชิกภาพตั้งแต่วันเลือกตั้ง-มีผลให้เงินเดือนย้อนหลัง

 

             ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ​เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)​ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)​ และกรรมาธิการ (กมธ.) พ.ศ.....ซึ่งมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการแก้ไขพ.ร.ฎ. เพื่อให้ค่าตอบแทนย้อนหลัง เกือบ 2 เดือน เพราะสมาชิกภาพเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.  โดยล่าสุด แหล่งข่าวจากสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การแก้ไขเนื้อหาเป็นไปตามที่เสนอ คือ ให้ส.ส.รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถให้เงินเดือนย้อนหลังกับ สมาชิกรัฐสภาได้ เพราะอ้างอิงตามความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งสร้างความแปลกใจกับฝ่ายสภาฯ​ที่ไปชี้แจง เพราะการออกมติ ครม. ลักษณะดังกล่าว อาจเป็นการกระทำที่ทำให พ.ร.ฎ.ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 คือ เร่ิมจากวันเลือกตั้ง คือ วันที่ 24 มีนาคม

 

 

 

            แหล่งข่าวจากสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยด้วยว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา100 ที่ให้นับสมาชิกภาพ ส.ส. นับแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งในระหว่างการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ ได้ถกเถียงถึงการบัญญัติเนื้อหา เดิมจะให้ระบุถ้อยคำเหมือนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550  ที่ระบุให้ การได้รับค่าตอบแทนให้นับตั้งแต่ช่วงระยะเวลาเข้ารับหน้าที่ แต่กรธ. เห็นว่าควรตัดอออก เพราะถือว่าเป็นการไปตัดสิทธิของส.ส. และกำหนดเจตนารมณ์ว่าสิทธิของส.ส. ควรได้รับตั้งแต่วันที่มีสถานะที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ วันเลือกตั้ง  ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าหากยึดตามที่สภาฯ เสนอคือการให้เงินเดือนย้อนหลัง ทั้งที่ ส.ส. ไม่ได้ทำงาน นั้น ไม่ว่าจะแปลความอย่างไร แต่สิทธิของส.ส. ที่เป็นไปตามพ.ร.ฎ.ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกรณีนี้ส.ส.ที่คิดว่า เสียประโยชน์สามารถฟ้องร้องสิทธิได้

 

            ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับมติ ครม.​ต่อเรื่องดังกล่าวในสาระสำคัญ ซึ่งเป็นผลสรุปมติครม. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สรุปเนื้อหาสำคัญ ว่า ให้ส.ส.รับค่าตอบแทนตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้ง และหากพ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ ให้ ส.ส.และ ส.ว. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มย้อนหลังไปนับวันที่สมาชิกภาพของส.ส. และ ส.ว. เร่ิมต้น ทำให้ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม และ ส.ว. ปฏิบัติหน้าที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนย้อนหลังอีก  227,120 บาท   ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อจะได้รับค่าตอบแทนนับแต่วันที่มีชื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

 

            ขณะที่นายเจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรธ. กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า ตนเห็นว่าสมาชิกรัฐสภา ควรได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตั้งแต่การปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่กล่าวคำปฏิญาณตน ไม่ใช่นับตั้งแต่วันที่เลือกตั้ง เนื่องจากว่ากว่าที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรองผลเลือกตั้งและส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต้องใช้เวลา ไม่ใช่หลังจากวันเลือกตั้งจึงสามารถประกาศผลได้ทันที อย่างไรก็ตามแม้รัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้ส.ส.มีสมาชิกภาพนับจากวันเลือกตั้ง แต่การได้รับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนนั้น ถือเป็นคนละส่วน

 

            "ความสำคัญของเรื่องนี้ คือ การเป็น ส.ส.ที่ครบถ้วน คือ การกล่าวคำปฏิญาณตนเพื่อให้เป็น ส.ส.โดยสมบูรณ์และปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคล้ายกับการเป็นพนักงานของบริษัทที่จะได้รับเงินเดือนต่อเมื่อมีสถานะเป็นพนักงาน หรือเป็นไปตามข้อตกลง แต่ส่วนของส.ส.ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะต้องดูความสำคัญโดยเฉพาะวันที่เริ่มทำงานได้ ไม่เช่นนั้นการให้เงินเดือนทั้งที่ไม่ได้ทำงาน  อาจมีคำถามว่า เป็นการจ่ายเงินเปล่าหรือไม่ ส่วนกรณีที่อาจมีผู้ยื่นตีความสามารถทำได้" นายเจษฎ์ กล่าว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ