ข่าว

จาตุรนต์ ชี้ 40 ปีหลัง 6 ตุลาประชาธิปไตยไทยยังไม่พัฒนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จาตุรนต์ย้อนเหตุการณ์ 9 ตุลา 19 ถึงวันนี้ 40 ปีสังคมไทยยังไม่พัฒนาสู่ประชาธิปไตย ความรุนแรงไม่ได้ถูกจัดการวันเดียวแต่ถูกคลี่ให้ยาวนานต่อเนื่อง

 

7 ตุลาคม 2562  จากกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์จลาจลและปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง  

 

 

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า  6 ตุลา : เหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์กับผลกระทบต่อทั้งประเทศ

เกิดอะไรขึ้นที่ธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเรื่องที่ยังเป็นที่จดจำ ศึกษาหาความจริงและสรุปบทเรียนกันไปอีกนานในสังคมไทย

 

ผมเองก็ไปร่วมงานรำลึก 6 ตุลา มาหลายต่อหลายครั้งและเห็นว่าในงานรำลึกแต่ละครั้งมักมีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอยู่เสมอ

 

นอกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์และสนามหลวงแล้ว “6 ตุลา” มีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งประเทศและมีผลต่อเนื่องมายาวนาน

 

เหตุการณ์ในวันนั้นคือการที่ผู้มีอำนาจในขณะนั้นหรืออาจต้องเรียกว่ารัฐไทยได้เลือกใช้กำลังความรุนแรงเข้าจัดการกับผู้ที่เห็นต่างอย่างเหี้ยมโหดทารุณ เกิดการเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนในตอนเช้าตรู่และกลางวัน แล้วค่ำวันเดียวกันนั้นก็เกิดการรัฐประหารที่วางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ทำให้ประเทศกลับสู่ยุคเผด็จการเต็มรูปแบบอีกครั้งนานถึง 3 ปีก่อนที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบพิกลพิการที่ประชาชนไม่สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้อีกเกือบ 10 ปี

 

การเข่นฆ่าครั้งนั้นผลักไสให้นักศึกษาประชาชนจำนวนนับพันต้องออกไปอยู่ป่าเขา ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธด้วยข้อสรุปว่า“เลือดต้องล้างด้วยเลือด”และ“อำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน” นำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของคนไทยด้วยกันครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กว่าจะได้ข้อสรุปว่าการต่อสู้ในแนวทางนั้นไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยและไม่ใช่ทางออกของประเทศ

 

 

การรัฐประหารครั้งนั้นได้ปิดกั้นโอกาสในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนลงไป การจัดตั้งและการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและประโยชน์ของประชาชนอาชีพต่างๆโดยเฉพาะกรรมกรผู้ใช้แรงงานและชาวนาต้องยุติลงหรือไม่ก็อยู่ในสภาพอ่อนแอมากตลอดมา

 

สิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งก่อนและหลัง “6 ตุลา” มีส่วนอย่างสำคัญทำให้อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยไม่ได้รับการปลูกฝังและพัฒนาให้เข้มแข็งในสังคมไทย ขณะที่ผู้มีอำนาจก็สรุปบทเรียนและพัฒนาการใช้การรัฐประหารบวกกับการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ซับซ้อนมีหลักประกันว่าอำนาจในการบริหารประเทศจะอยู่ในมือของพวกตนเท่านั้น ไม่เป็นของประชาชน

 

มีบางคนมองโลกในแง่ดีว่าผู้มีอำนาจของไทยในเวลาต่อมาเรียนรู้ที่จะไม่ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับผู้เห็นต่างเหมือนเมื่อ 6 ตุลา แต่การเรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิธีการของผู้อำนาจดูจะมีอยู่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ต่อมาก็ยังเกิดการรัฐประหารและตามมาด้วยการเข่นฆ่าประชาชนอีก

 

ส่วนในช่วง 10 กว่าปีมานี้ แม้ไม่มีการปราบประชาชนควบกับการรัฐประหารในวันเดียวกันอย่างจะจะเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่สังคมไทยก็เหมือนกับเผชิญอยู่กับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลา 2519 เพียงแต่เหตุการณ์ที่เข้มข้นและเกิดในวันเดียวกันเหล่านั้นถูกคลี่ออกไปในช่วงเวลาที่ยาวกว่า ทำให้เกิดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลุกให้คนเกลียดชังกัน การเข่นฆ่าประชาชนไปจำนวนมากโดยไม่มีใครถูกลงโทษ การรัฐประหารที่นำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการและการเขียนรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้ประชาชนมีอำนาจหรือมีสิทธิ์มีเสียง

 

พูดในมิตินี้แล้ว สังคมไทยก็ยังไม่ได้พัฒนาดีขึ้นกว่าเมื่อ 40 กว่าปีก่อนเท่าใดนัก ทั้งนี้ก็เพราะสังคมไทยยังไม่พัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่รู้จักใช้กลไกวิธีการแบบประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดและการเมืองอย่างที่เขาทำกันในนานาอารยประเทศ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ชัดแล้ว จาตุรนต์ จ่อเป็น ที่ปรึกษาพรรคร่วมฝ่ายค้าน
-อัยการสั่งไม่ฟ้องวัฒนา-จาตุรนต์-ชูศักดิ์แถลง 4 ปีคสช.ล้มเหลว
-"จาตุรนต์" สบประมาท ตั้งรัฐบาลทุลักทุเล
-'ฝ่ายค้าน'จัดทีมอภิปรายฯ'จาตุรนต์-อดิศร-เฉลิม'กุนซือติวเข้ม

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ