ข่าว

บิ๊กตู่ ได้ไปต่อศาลรธน.ชี้หน.คสช.ไม่ใช่จนท.อื่นของรัฐ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลรธน.วินิจฉัย ตำแหน่งหัวหน้าคสช.ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เหตุเข้ายึดอำนาจ ปกครองประเทศด้วยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุด ไม่อยู่ใต้กำกับดูแลของร

 

ศาลรัฐธรรมนูญ 18 กันยายน 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ( 4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98(15) หรือไม่ จากเหตุดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่   

 

โดยมีนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ และ พล.ต.วิรัช โรจนวาช  คณะทำงานนายกรัฐมนตรี  เป็นตัวแทนฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เข้ารับฟังการวินิจฉัยของศาล

 

นายวรวิทย์  กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า คดีนี้ส.ส.จำนวน 110 คน เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯโดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้องมีคุณสมบัติต้องห้าม เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

 

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค57  ต่อมามี พระบรมราชโองการโปรดเกล้า แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน  เห็นได้ว่าการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยเห็นได้จากการออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ หัวหน้า คสช. ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐใด


ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย  ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มา หรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง  โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และประชาชน

 

ดังนั้นตำแหน่ง หัวหน้าคสช.จึงไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98(15)  ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98 (15) อาศัยเหตุผลดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่า  ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)  ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98(15) 

 

ส่วนกรณีที่นางอุบลกาญจน์ อมรสิน  ประธานองค์กรตรวจสอบการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ยื่นคัดค้าน 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ไม่ให้วินิจฉัยคดีนี้ ศาลมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง เนื่องจากไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรง 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ