ข่าว

"ชาติไทยพัฒนา"ยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชทพ."ยื่นญัติเสนอแก้รธน.-ยึดฟังความเห็นปชช.รอบด้านก่อนเคาะประเด็นแก้ไข บอกเรื่องนี้รอได้ แต่สมัยประชุมหน้า ต้องเริ่มพิจารณาได้แล้ว พบ 2 รมต.​ของชทพ.​งดลงชื่อเส

 

 

11 กันยายน 2562 นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา แถลงภายหลังยื่นญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ 

 

 

โดยกล่าวว่า หลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กว่า 2 ปี พบหลายประเด็นที่เป็นปัญหา และขาดการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นถึงเวลาที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาหารือ อย่างไรก็ตามในแนวทางที่พรรคชาติไทยพัฒนา เคยดำเนินการต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​สมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ หลังจากประกาศเป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว คือ การรับฟังความเห็นของประชาชน ดังนั้นข้อเสนอของพรรค ที่ให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการรับฟังความเห็นจากประชาชน

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีเงื่อนไขเยอะ และซับซ้อน ไม่ควรตั้งธงว่าจะแก้ไขเรื่องอะไรบ้าง เพราะอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์และเรื่องของฝ่ายการเมือง ดังนั้นสิ่งที่ควรทำ คือ การรับฟังความเห็นจากประชาชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงส.ว.ว่ามีประเด็นใดที่ควรแก้ไขบ้าง กับการรัฐธรรมนูญ ปี 2539 ที่ร่วมศึกษา แม้จะเสนอให้ปลดล็อคเพียงมาตราเดียว คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยังถือว่ายากมาก  

 

ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีขั้นตอนระบุไว้หลายชั้น และกำกับด้วยการให้ส.ว. ร่วมยอมรับด้วย จึงถือว่ายากกว่าเดิมมาก ส่วนที่หลายพรรคการเมืองเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกลไกที่เคยใช้ ตอนปี 2540 และเป็นเรื่องดี แต่ในขั้นตอนนี้ควรเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย

 

 

นายนิกร กล่าวด้วยว่าการพิจารณาญัตติดังกล่าวเชื่อว่าจะทำไม่ทันในสมัยประชุมสภาฯ​สามัญ​ครั้งที่หนึ่ง ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 18 กันยายน ดังนั้นในการเปิดประชุมสภาฯ สมัยหน้า วันที่ 1 พฤศจิกายน ต้องเริ่มดำเนินการ ส่วนท่าทีของฝ่ายบริหารต่อการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ที่ผ่านมามีการประกาศไว้ในนโยบายรัฐบาลเร่งด่วนแล้ว ส่วนจะประกาศท่าทีอย่างอื่นหรือไม่ขึ้นอยู่ฝ่ายพิจารณา ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติต้องทำคู่ขนาน อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นที่ต้องตั้งกมธ. ร่วมกันของรัฐสภา เพื่อดึงส.ว. เข้ามามีส่วนร่วม 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเสนอให้สภาฯ พิจารณาเรื่องดังกล่าวเพราะไม่เห็นด้วยกับที่บางพรรคการเมืองเดินสายจัดเวทีใช่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ไม่เป็นเช่นนั้น โดยตนเห็นว่าการรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นส่ิงที่ต้องทำ แต่เมื่อมีสภาฯ แล้ว ทุกพรรคอยู่ในสภาฯ​ควร ใช้กลไกของสภาฯ ขับเคลื่อน"

 

ผู้สื่อข่าวรายงวานว่าสำหรับ ส.ส.ที่รวมลงชื่อยื่นญัตติดังกล่าว มีจำนวน  จำนวน 8 คน ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาเพียงพรรคเดียว  ขณะที่ 2 ส.ส.​ซึ่งเป็นรัฐมนตรี คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ร่วมลงชื่อ เพราะถือว่าเป็นฝ่ายบริหาร.
 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ