ข่าว

เวทีเสวนาเห็นพ้อง แก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวทีเสวนาหนุนแก้รธน.ปชช.ต้องร่วมกัน"สุชาติ"แนะดึงเสียงร่วมรณรงค์ต่อเนื่องคล้ายฮ่องกง "ช่อ อนค."ระบุการต่อสู้เรียกร้องอำนาจสูงสุดคืนทำโดยปชช.


8 กันยายน 2562  ที่ห้องประชุม 3 พุทธวิชชาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (มรภ.พระนคร) หลักสี่   "น.ส.อุบลกาญจน์ อมรสิน" องค์กรตรวจสอบการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ร่วมกับ กลุ่มพลังประชาธิปไตยไร้พรมแดน  

 

 

จัดงานเสวนาหัวข้อ "ตอบโจทย์ประเทศไทย ทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ"มีตัวแทนพรรคการเมือง , อดีตรัฐมนตรี และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เป็นวิทยากร ร่วมเสวนา


โดย "นายจตุพร พรหมพันธุ์" ประธาน นปช.กล่าวเริ่มต้นการเสวนาซึ่งย้อนถึงอดีตที่เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมที่เคยใช้ในปี 2534 แก้ปัญหา ที่เคยมีกับลักษณะคล้ายในปัจจุบันคือนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง , ประธานวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ รสช.  เป็นประธานรัฐสภา กระทั่งได้รัฐธรรมนูญฯ มาในปี 2540 ที่แก้ปัญหาเชิงอุดมคติ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่ได้ร่างมาจากปากกระบอกปืน แล้วทำให้เกิด กกต.ที่ดูแลเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทย , ศาลรัฐธรรมนูญ , ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ , คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

 

รวมทั้งอีกหลายองค์กรขึ้นมา แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อยู่ได้เพียง 9 ปี แล้วเกิดการยึดอำนาจในปี 2549 จนมาแก้ รัฐธรรมนูญฯ อีกปี 2550 เพราะเกิดปรากฏการณ์พรรคไทยรักไทยเคยเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด 376 เสียงจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจะต้องสียงกว่า 200 เสียง และถ้าจะอภิปรายรัฐมนตรีก็ต้องใช้เสียง 1 ใน 4 คือ 125

 

ขณะที่ฝ่ายค้านรวมกันได้เพียง 123  เสียง จึงอภิปรายไม่ได้ตรวจสอบทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี กระทั่งมาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เป็นปี  2550 ลดพรรคการเมืองลดความเข้มแข็งลงจากปัญหานั้นรัฐบาลจากการเลือกตั้งกลายเป็นอ่อนแอ แต่มีเผด็จการที่แฝงตัวอยู่ในองค์กรอิสระซึ่งมีการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ก็กลายเป็นอนุภาพของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 รุนแรงมาก

 

ขณะที่เคยมีความพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยภาคประชาชนเสนอ 50,000 รายชื่อจนเป็นวาระเร่งด่วนที่สุดลำดับที่ 1 ในการประชุมสภาติดต่อกันถึง 3 ปีแต่ก็ไม่มีการพิจารณาโดยเลื่อนวาระตลอด จนตนในฐานะ ส.ส.ขณะนั้นต้องลุกขึ้นอภิปรายว่าที่บอกไว้ในรัฐธรรมนูญประชาชนมีสิทธิ มีเสียง เข้าชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไปหลอกเขาทำไม

 

ถ้าคิดว่าจะไม่เอาความเห็นนี้ก็ให้ยกมือคว่ำเสีย ไม่ใช่มาหลอกให้ประชาชนมีความคาดหวัง 3 ปีหลอกติดต่อกันเลยสุดท้ายแก้ไขอะไรไม่ได้เพราะท้ายที่สุดก็มีการเลือกตั้งแล้วนำไปสู่การยึดอำนาจอีกรอบ โดยเนติบริกรที่เขียนรัฐธรรมนูญ เขาก็ปรับแก้รัฐธรรมนูญฯ มาตลอดตั้งแต่ฉบับปี 2540 จนถึงปี 2560 ซึ่งการเขียนบทบัญญัติไว้ในปี 2560 นั้นแม้จะเขียนให้แก้ได้แต่ก็กำหนดเงื่อนไขไว้ให้ทำได้ยากมาก โดยจะต้องให้มีเสียงของ ส.ว.ประมาณ 83-84 เสียงด้วย แต่ในปัจจุบันก็เห็นแล้วในการออกเสียง ส.ว.ถ้าจะมาเขาก็มาทั้ง 250 หรือถ้าจะไม่มาก็ไม่มาทั้ง 250 เสียง

 

 

ดังนั้นการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้จะใช้พรรคการเมืองนำไม่ได้ วุฒิสภาคงจะไม่ให้ความร่วมมือเด็ดขาด และถ้าแม้เราไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไป เดี๋ยวก็ได้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมา จึงเหมือน Mission Impossible แต่เราต้องทำให้ได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องทำให้ประชาชนส่งเสียงเดียวกันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ปากท้องลำบากอย่างไร ซึ่งยุคนี้ลำบากที่สุด มังคุดขาย 7 กิโล 100 บาท ปัญหาเกษตรกรต้องเจอกับภัยแล้ง-น้ำท่วม และก็ต้องเจอกับ พล.อ.ประยุทธ์ อีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญ ที่ต้องทำคือการทำความเข้าใจกับประชาชน เปิดกว้างให้กับภาคประชาชน ไม่ใช่เห็นแต่ความสำคัญของพรรคการเมือง
 

ที่ผ่านมาฝ่ายเผด็จการ เขาได้ชัยชนะได้ ไม่ใช่เพียงที่หลายคนพูดว่าเพราะปากกระบอกปืน แต่เพราะเขาออกแบบมา เขามีวินัย ฝ่ายประชาธิปไตยมาแบบถางป่ามาเจอกันถือมีดพร้ามาคนละเล่มต่างคนต่างถางเราสู้ความเป็นระบบความต่อเนื่องไม่ได้ ดังนั้นเมื่อวันนี้เราต้องการได้รับชัยชนะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากการปลอดแอกเผด็จการ เราก็ต้องให้ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยเราต้องออกแบบและลดอัตตากันอย่างตนเคยบอกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแถวหน้าเป็นผู้นำ จะอยู่แถวไหนก็ได้แต่ขอให้แก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ โดยการรวบรวมรายชื่อ 50,000 ชื่อจึงยังไม่พอแต่เราต้องทำให้คนไทยพูดออกมาเสียงเดียวกันหมดว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 ถ้าไม่แก้ประเทศไทย จะเดือดร้อนมากกว่าที่ประสบในปัจจุบัน


ขณะที่ "นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช" อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปี 51 และอดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 ก็เพราะร่างโดยคณะรัฐประหารที่คงไว้ซึ่งเผด็จการ ไม่ทำให้เป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งปัจจุบันประเทศก็ยังคงอยู่ในระบอบกึ่งเผด็จการ โดยเผด็จการเพื่อชนชั้นอนุรักษ์นิยม


2.ในรัฐธรรมนูญฯ ปัจจุบันยังสร้างองค์กรมามากมายโดยเป็นคนชั้นสูงที่เป็นคนส่วนน้อย ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ตอบสนองกลุ่มอนุรักษ์นิยมมากกว่า ที่ต้องการให้ประเทศอยู่แบบเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็เหมือนว่าชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น โดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลายฉบับก็ควบคุมสังคมไม่ให้พัฒนาไม่ให้เปลี่ยนแปลง มีการตั้งองค์กรต่างๆจำนวนมากเพื่อควบคุมตัวแทนประชาชน โดยนัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 ยังไม่มีองค์กรตัวแทนประชาชนแท้จริง ซึ่งมีเพียงสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ส่วน ส.ว.ก็มาจากการแต่งตั้ง

 

ดังนั้นจึงต้องแก้ไขให้สามารถร่างนัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ได้เลย ให้ มีลักษณะเปิดกว้างไม่ใช่เข้มงวด และควรร่างโดยตัวแทนประชาชน กับนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ที่ไม่ติดกรอบอนุรักษ์นิยม ซึ่งผลร้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ก็คือ ทำให้เกิดการต่อเนื่องการปกครองของคณะรัฐประหาร ทำลายความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

จึงทำให้ทั้งการลงทุนทั้งในและต่างประเทศลดลงมาตลอด เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโตประชาชนยากจนลง และรัฐบาลอนุรักษ์นิยมยังจัดงบประมาณเพื่อเป้าหมายตนเองเช่นการมุ่งเน้นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การใช้จ่ายเพื่อโฆษณาตนเอง จนขณะนี้ภาครัฐเป็นหนี้กว่า 7 ล้านล้านบาท และความเข้มงวดของ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังทำให้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สร้างประโยชน์ส่วนใหญ่ให้กับคนชนชั้นอนุรักษ์นิยม ทำให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ของชาติเสียประโยชน์ เป็นทั้งทาสความคิดและทาสทุน

ดังนั้นเราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของประชาชน ขณะที่เงื่อนไขของการนำไปสู่การดำเนินก็คือสภาวะที่มีข้าวยากหมากแพง ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนทั่วประเทศ , รัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขต , คอรัปชั่นมากมาย , ทำร้ายประชาชน ที่การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องทำให้ประชาชนตื่นตัวเรียกร้องอย่างต่อเนื่องเหมือนฮ่องกงก็จะตื่นตัวกันมาก เช่น เจอกันที่ศาลากลางจังหวัดทุกวันอาทิตย์ ทุกสัปดาห์ เพราะทำไมจะต้องแก้ไขโดยประชาชน กับระบบตัวแทนพรรคการเมือง โดยรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะแก้ก็ควรเปิดกว้างกรอบคิด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ขณะที่จำนวนมาตราในรัฐธรรมนูญควรมีไม่มาก และไม่ควรมีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับมากนัก โดยเน้น 3 อำนาจหลักที่ควรมี คือ สภา , รัฐบาล , ศาล ส่วนองค์กรอิสระต่างๆ ควรมีให้น้อยมากๆ และอำนาจก็ควรลดลงเหมือนประเทศอื่น โดยจุดเริ่มต้นการมีองค์กรอิสระมากมายก็เริ่มจากการร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 


"นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล" รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อเศรษฐกิจว่า จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นคือ ส.ว. 250 คนที่ทำให้อำนาจของพรรคการเมืองหมดลงไป ซึ่งจากนี้ต่อให้รัฐบาลจะบริหารประเทศดีหรือไม่ก็ตาม อำนาจของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คนที่จะได้เข้ามานายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปก็คือคนเดิมพรรคเดิม ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจก็คือการยึดโยงของรัฐบาลกับประชาชนนั้นไม่มีซึ่งหมายความว่าเขาไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนเลย เพราะไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็ยังจะได้อยู่ในอำนาจ ถ้ารัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชนการใช้งบต่างๆ รัฐบาลไม่ตกมาอยู่ในมือของประชาชนทั้งในเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งปัจจุบันก็ยังเห็นว่างบยังไปตกอยู่กับการซื้อยุทธโธปกรณ์ต่างๆ ทำไมไม่ต้องอยู่ในมือของพี่น้องประชาชนในเรื่องของสวัสดิการ ในเรื่องของการกระจายอำนาจ
 

 

ขณะที่รัฐธรรมนูญใหม่ยังทำให้สิทธิและเสียงของประชาชนในการจัดตั้งและถอดถอนรัฐบาลหมดลงไป
เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่จะมีพลังในการขับเคลื่อนประเทศถูกลอดทอนกำลังลงไป ต่างจากรูปแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่ทำให้พรรคกานเมืองมีทั้ง ส.ส.ระบบเขต ที่สามารถสะท้อนปัญหาเชิงจุลภาคของพี่น้องประชาชนขึ้นมาสู่พรรคการเมืองและสภา กับมี ส.ส.ระบบรายชื่อที่ สามารถมองภาพในมหภาค ภาพกว้างในการบริหารประเทศ แต่ปัจจุบันทำให้พรรคขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยไม่เหลือ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว คนอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง , นายนพดล ปัทมะ , นายภูมิธรรม เวชชยชัย ทั้งหมดไม่ได้เข้าสภา

 

ขณะที่พรรคเล็กกลับเกิดขึ้นได้จำนวนมาก ซึ่งพรรคเล็กมีได้หากเป็นตัวแทนกลุ่มคน กลุ่มอาชีพ เช่น พรรคเกษตรกร พรรคแรงงาน แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น แต่เกิดจากที่อยากได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1-2 เสียงซึ่งต่อไปเราก็อาจจะได้เห็นเป็นพรรคขนาดเล็กชื่อ พรรคชัยภูมิ พรรคเพชรบุรี พรรคสมุทรปราการ ซึ่งการมีพรรคเล็กจำนวนมากขนาดนี้ทำให้การบริหารประเทศเดินไม่ได้


โดยอุปสรรคชิ้นโตที่สำคัญอีกอย่าง ที่รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 ระบุไว้อีกก็คือการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งลักษณะการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติของไทยแตกต่างจากทั่วโลกโดยเขาจะกำหนดเป็นแนวทางการบริหารว่าอีก 10 ปีลักษณะจะเป็นอย่างไร แต่ไทยออกเป็นกฎหมายคือแปลว่าต้องทำ ถ้าไม่ทำมีโทษ ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำกัน ประเทศอื่นที่เขาพัฒนาแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นแค่มุมมอง

 

โดยปกติเมื่อเลือกตั้งพรรคต่างๆก็จะแสดงนโยบายต่อประชาชนเพื่อประชาชนเลือกตั้งเข้ามาก็จะต้องนำนโยบายนั้นไปบริหารประเทศ อำนาจบริหารประเทศจึงต้องอยู่ที่ประชาชน ที่จะเรียกว่าควรบริหารประเทศไปทางไหน ส่วนผู้นำ ผู้บริหารประเทศควรจะใช้กฎหมายเพียงเป็นน้ำมันล่อลื่นขับเคลื่อนเพื่อให้ดำเนินนโยบายต่อไปได้ แต่ยุทธศาสตร์ชาติครั้งนี้มองกลับกันนำกฎหมายมาครอบการบริหารของรัฐบาล มุมมองกลับตาลปัตรกัน

 

ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติควรเป็นลักษณะมุมมองวิสัยทัศน์-แนวทาง แต่ไม่ใช่กำหนดทิศทางการทำงานของรัฐบาล ไม่ควรเป็นเรื่องที่ตัดสินใจแทนเราว่าอีก 20 ปี จะเป็นอะไรเหมือนที่ทำในปัจจุบัน ดังนั้นที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญจึงเป็นเหมือนเรื่องผิดที่-ผิดทาง เป็นพันธนาการผูกมัดประเทศไว้ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดระยะเวลายาวนานนี้ ยังทำให้สูญเสียโอกาสไปจากที่พรรคการเมืองไม่กล้านำเสนอนโยบายที่ควรทำเพราะมียุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบข้อจำกัด


"น.ส.พรรณิการ์ วานิช" โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้กล่าวถึงอุปสรรคที่พรรคการเมืองเจอในปัจจุบัน คือพรรคการเมืองต่างๆ มีเวลาหาเสียงเพียง 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง และมีความกลัวที่จะถูกจับกุม ข่มขู่คุกคามหรือกลั่นแกล้งไม่ให้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก , การข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่นักการเมืองฝ่ายค้านสามารถถูกจับกุมและถูกจำคุกได้ตลอดเวลา โดยเสรีภาพในการสื่อสารถูกควบคุมปิดกั้นตรวจสอบทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มี 22 คดี โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่โดนไปแล้ว 6 คดี , นายปิยะบุตร แสงกนกกุลเลขาธิการพรรค อนค. 3 คดี

 

ส่วนตนเองมี 2 คดี ประเทศของเรามีการทำรัฐประหารบ่อยครั้งมาก โดยในช่วงหลัง 8 ปีที่ผ่านมา มีการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นงบทหารกลับมาแซงหน้า งบบัตรทองถามว่าบังเอิญหรือไม่ คำตอบง่ายๆ ก็คือกฎหมายเขียนโดยใครย่อมรับใช้คนๆนั้น รัฐบาลอำนาจอยู่ที่ใครก็รับใช้คนนั้น เมื่อรัฐบาลไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนการบริหารประเทศ ที่เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณก็ถูกนำไปรับใช้คนๆ นั้น ไม่ได้รับใช้ประชาชน ดังนั้นอำนาจต้องยึดโยงกับประชาชน กับผลความเจริญทางเศรษฐกิจ สวัสดิการปากท้องจึงจะตกถึงประชาชน  แล้วประชาชน 70 ล้านคนจะเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดได้อย่างไรง่ายที่สุดก็คือผ่านพรรคการเมือง และการมีเลือกตั้ง การมีรัฐบาลที่ยึดโยงกับประชาชนและตรวจสอบได้โดยประชาชน
 

 

"น.ส.พรรณิการ์" ระบุว่า การจะทำให้รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดกลับมายึดโยงกับประชาชน เพื่อให้เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนดีขึ้นและเพื่อให้นโยบายของรัฐตอบสนองต่อประชาชนเพื่อให้รัฐบาลที่เก่ง มีอำนาจในการบริหารจัดการประเทศได้จริง ไม่ต้องถูกครอบงำโดยกลไกที่ไม่ได้มาจากประชาชนทั้งยุทธศาสตร์ชาติหรือรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดก คสช. ดังนั้นต่อไปจะทำได้อย่างไรสิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาชนต้องเห็นว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอำนาจสูงสุดคืนมาเป็นของประชาชน ต้องทำโดยประชาชน เพราะพรรคการเมืองมีอุปสรรคในการทำงาน

 

ดังนั้นจะอาศัยพรรคการเมืองแต่เพียงลำพังทำไม่ได้ซึ่งพรรคการเมืองก็ยังจะยืนอยู่เคียงข้างประชาชน โดยสิ่งแรกที่จะต้องสู้เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญคืนมา ก็คือสิทธิในการเรียกร้องของประชาชน โดย 10 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ภายใต้ทัศนคติที่ว่า มีม็อบป่วนเมือง มีม็อบต้องมีคนตาย มีม็อบของขายไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ โดยการออกมาเดินขบวนอย่างสันติ เป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย ในต่างประเทศ อย่างฝรั่งเศส อเมริกาก็มีเดินขบวนก็อยู่กันได้

 

เราต้องทำตรงนี้ให้ได้ช่วยกันเรียกร้องสิทธิในการอยู่บนท้องถนนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนเป็นสิทธิที่ทุกคนทำได้อ และไม่ต้องตาย ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องทะเลาะกัน ใครอยากให้รัฐธรรมนูญเป็นแบบไหนออกมารณรงค์ซึ่งไม่ใช่เฉพาะบนท้องถนน หรือจัดเวทีตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ทุกคนมามีสิทธิพูดว่าอยากได้กฎหมายสูงสุดของประเทศในรูปแบบไหน

 

สำคัญที่สุดคือเราทุกคนมีอำนาจที่จะกำหนดว่าจะให้กฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นแบบไหน และการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ในการร่างรัฐธรรมนูญ โดย สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามข้อเรียกร้องจากเวทีที่ประชาชนแสดงความคิดเห็น ทั่วประเทศมารวบรวมเขียนเป็นรัฐธรรมนูญ และให้ผ่านประชามติที่เป็นธรรม โปร่งใส แล้วจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย นี่คือไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างสันติ อย่างไม่ต้องทะเลาะกันแล้วเราก็จะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพมีประสิทธิภาพมาบริหารประเทศและแก้ไขปัญหา

 

ซึ่งรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับของประเทศไทยที่ผ่านมาเขียนโดยนักกฎหมายหรือไม่ก็เนติบริกรแล้วที่ผ่านมาใช้การได้ดีหรือไม่ ทำให้ประเทศชาติและปากท้องของพวกท่านดีขึ้นหรือไม่ รัฐธรรมนูญที่เขียนโดยนักกฎหมายแต่ไม่ได้เขียนจากความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน ไม่มีประชาชนในหัวใจไม่มีความหมายเลย โดยรัฐธรรมนูญที่เคยมีถึง 20 ฉบับนั้นมีเพียงรัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 ฉบับเดียวท่านั้นที่ยังพอจะยึดโยงกับประชาชนแต่ก็ใช้ได้เพียง 9 ปี

 

เราต้องทำขึ้นมาอีกครั้งอย่าคิดว่านักกฎหมายคือผู้บงการในการเขียนรัฐธรรมนูญ ประชาชนคือผู้ที่ต้องแสดงออก อยากให้กฎหมายสูงสุดของประเทศระบุเรื่องอะไรไว้เช่น เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องการศึกษา เรื่องเบี้ยคนชรา โดยนักกฎหมายจะมีหน้าที่เป็นเพียงแค่คนปรุงเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องให้ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญเขียนมาเป็นกฎหมาย ซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่นักกฎหมาย

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ