ข่าว

ยี้ มติขยายสัมปทานทางด่วน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เครือข่ายสหภาพฯ"ยี้ มติกมธ.เห็นด้วยขยายสัมปทานทางด่วน จ่อเดินหน้าตรวจสอบเอง หลังพบพิรุธหลายจุด พร้อมเปิดผลโหวต กมธ.ฯทางด่วน 21:12 หนุน ขยายสัญญาสัมปทาน

 

สหภาพการรถไฟ - 24 สิงหาคม 2562 เครือข่ายสถาบันธรรมาภิบาลไทย ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาภาคประชาชน เรื่อง เบื้องหลังค่าโง่ทางด่วน ใครทำให้ชาติเสียหาย เพื่อเป็นเวทีคู่ขนานการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว   

 

 

โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ฯ หลังจากที่เครือข่ายสหภาพฯ มองว่ากรณีการตรวจสอบของกมธ.วิสามัญฯ ชุดดังกล่าวนั้นทำโดยไม่สมเหตุผล โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

โดยนายประสงค์ สีสุกใส รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสหภาพฯ  ผิดหวังต่อมติของกมธ.วิสามัญตรวจสอบสัมปทานทางด่วน สภาผู้แทนราษฎร ที่ลงมติให้ต่อสัญญาสัมปทาน ทั้งที่การทำงานของกมธ.วิสามัญฯ ควรเป็นการหาข้อมูลเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อเป็นทางเลือกก่อนจะตัดสินใจ มากกว่ามีมติว่าสนับสนุนให้รัฐต่อสัญญาสัมปทานบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (บีอีเอ็ม) อีก 30 ปี


 ขณะที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  กล่าวว่า กับกรณีที่รัฐต้องเสียค่าโง่ และต้องจ่ายเงินจำนวน  4,318 ล้านบาท ให้เอกชนนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าในคดีที่มีประเด็นอื่นๆ อีก 17 คดี นั้นการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะแพ้คดีทั้งหมด อย่างไรก็ตามสิ่งที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ต้องขับเคลื่อนต่อไป คือ การตรวจสอบพร้อมแสวงหาข้อเท็จจริงต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยต้องพิสูจน์ให้ชัดเจน ทั้ง การเขียนสัญญาที่เป็นธรรมหรือไม่

 

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัญญานั้นมีใครเกี่ยวข้องหรือไม่ รวมถึงบุคคลที่สั่งการให้รัฐต้องต่อสัญญาให้กับบริษัทกรุงเทพทางด่วน จำกัด (บีอีเอ็ม) มีหรือไม่ นอกจากนั้นจะต่อสู้ในหลายๆ ช่องทางที่ประชาชนสามารถทำได้ คือ ผ่านกมธ.สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร, ส.ส., หารือกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเร่งด่วน เพื่อให้ข้อมูลการต่อหรือไม่ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน และค่าโง่โฮปเวลล์ ในสัปดาห์หน้า รวมถึงยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และใช้ช่องทางของกระบวนการยุติธรรม โดยให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมได้ด้วยตนเอง 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทีเสวนาดังกล่าว ภาคประชาชนที่ร่วมเวที ได้แสดงความเห็นต่อการสรุปรายงานของกมธ.วิสามัญฯ ของสภาฯ ที่มีลักษณะสนับสนุนการต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าว ทั้งที่ในสัญญาของการต่อสัญญาสัมปทานนั้นไม่มีความเป็นธรรม และเรียกร้องให้นำเรื่องดังกล่าวยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบรายละเอียดที่เกิดขึ้น ซึ่งภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีบุคคลที่ทุจริตอยู่เบื้องหลัง.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับมติของกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ต่อประเด็นการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน นั้นมติส่วนใหญ่ 21 เสียง เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน  ได้แก่ ส่วนของพรรคพลังประชารัฐ นายวีระกร, นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม., นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม., นายกษิติ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม., นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม., จากพรรคเพื่อไทย นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร,

 

นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา, นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม, นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม, จากพรรคภูมิใจไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี, นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ , น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ส.ส.ลพบุรี, นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน, จากพรรคประชาธิปัตย์ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา  และมีกมธ. ที่เป็นสัดส่วนจากบุคคลภายนอกที่เห็นด้วย ได้แก่ นายปรเมศวร์ กุมารบุญ นักวิชาการด้านกฎหมายเทคโนโลยีและวิศวกรไฟฟ้า , นายมานะ มหาสุวีระชัย และ นายยุทธนา โพธสุธน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ 12 เสียง ไม่เห็นด้วย ได้แก่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่, นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่, นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่, นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่,​ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ,นายกิตติกร โล่ห์สุนทร  ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย,นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กทม.​พรรคเพื่อไทย,

 

นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่,  นายพีระเพชร ศิริกุล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย และมีกมธ.ฯ ที่มาจากสัดส่วนบุคคลภายนอก คือ นายสุเมธ อังกิตติกุล นักวิชาการด้านนโยบายขนส่ง, นายคริส โปตระนันทน์ ฝ่ายกฎหมายและผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และ พล.ต.ต.มณเฑียร์ ประทีปะวณิชโดยมีประเด็นความเห็นที่สอดคล้องกันว่ามีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเกิดการผูกขาด รวมถึงปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุด

 

ขณะที่มี 5 คนงดออกเสียง ได้แก่ นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย, นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ กมธ.เสียงข้างมากที่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนนั้น มีข้อสังเกตประกอบเหตุผลโดยสาระสำคัญ คือ การเห็นด้วยให้ต่อสัญญาสัมปทาน แต่มีเงื่อนไขตามความเห็นที่หลากหลายและแยกเป็นรายบุคคล โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ นายสามารถ ระบุว่า หากกฎหมายเปิดช่องให้ขยายสัมปทานได้ เสนอขยายเวลา 15 ปี เพื่อชดเชยหนี้จำนวน 5.8หมื่นล้านบาทซึ่งบริษัทกรุงเทพทางด่วนฯ ลดให้จากจำนวนเต็ม 1.3แสนล้านบาท และไม่ควรนำการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่2 ,การแก้ปัญหาคอขวดบนทางด่วนมารวมกับข้อพิพาท

 

นอกจากนั้นขอให้รัฐบาลตั้งกรรมการสอบสวนหาผู้กระทำผิดในการทางพิเศษฯ  ที่ลงนามในสัญญาสัมปทานทางด่วนช่วง ปากเกร็ด-บางปะอิน ที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ และหาข้อเท็จจริงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540 ที่ให้กรมทางหลวงขยายดอนเมืองโทลล์เวย์จากอนุสรณ์สถานไปถึงรังสิต ทั้งที่มีผลกระทบต่อรายได้ของผู้รับสัมปทานทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน และขอให้รัฐบาลยกเลิกระบบอนุญาโตตุลาการ โดยให้ศาลปกครองพิจารณาข้อพิพาทแทน

 

นายชัยวุฒิ ระบุว่า เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัปทาน เพื่อยุติข้อพิพาท ขณะที่การต่อสัญญาสัปทานครั้งต่อๆ ไป ควรพิจารณาเป็นระยะ 10 ปี โดยพิจารณาคู่กับการปรับค่าผ่านทางเพื่อลดภาระประชาชน, นายยุทธพงศ์ ระบุว่า เห็นด้วยกับระยะเวลา 30 ปี เพื่อยุติข้อพิพาทกับเอกชน และเพื่อประโยชน์ที่เกิดกับประชาชน เป็นต้น

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ