ข่าว

ประวิตร เผยเทงบ 1.8 แสนล้านบูรณาการน้ำปี63

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ประวิตร" เผยเพิ่มงบบูรณาการน้ำปี 63 รวมกว่า 1.8 แสนล้าน กำชับ 5 มาตราการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง "สนทช." ยืนยันรับมือฝนทิ้งช่วงเดือนตุลาฯได้


วันที่ 14 ส.ค. 2562- พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อพิจารณาการจัดทํางบประมาณรายจ่ายเดือนบูรณาการ​ ประจำปี 2563 


หลังการประชุม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับแผนบริหารจัดการน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ 4,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้คือ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เสี่ยงเกิดวิกฤติภัยแล้งหน้า ดังนั้นเพื่อให้มีน้ำสำรองเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร พลเอก ประวิตร จึงได้กำชับ 5 มาตรการหลัก ให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือประชาชน ประกอบด้วย มาตรการปฏิบัติการฝนหลวง / การสำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำและสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักร / ปรับแผนการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก ลดการระบายน้ำแบบขั้นบันได / ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาทดแทน ตลอดจนการขุดเจาะบ่อบาดาล การขุดลอกเพิ่มความจุแหล่งน้ำธรรมชาติ และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำหรือมีปริมาณฝนตกน้อยกว่า ร้อยละ 60 มิลลิเมตรต่อเดือน


เลขาธิการ สทนช. ยังระบุว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศไทยมีปริมาณฝนตกตั้งแต่ 1 พฤษภาคม -​ 11 สิงหาคม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มีค่ามากกว่าร้อยละ 1 ขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 3 สำหรับการคาดการณ์ปริมาณ​ฝนใน ระยะ 3 เดือนต่อจากนี้ คือ เดือนสิงหาคม ปริมาณฝนจะใกล้เคียงกับค่าปกติ ยกเว้น ภาคกลางและภาคตะวันออก  / เดือนกันยายน บริเวณใกล้เคียงค่าปกติยกเว้นภาคใต้ / เดือนตุลาคม ปริมาณฝนในทุกภาคต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ซึ่งได้มีการเตรียมรับมือในสถานการณ์​ฝนทิ้งช่วงแล้ว 

ขณะที่การเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนวิภาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น มีน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1,560 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำปัจจุบันทั้งประเทศมีประมาณ 40,062 ล้านลูกบาศก์เมตร (49%)​ โดยภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคตะวันออก มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่มีน้ำใช้การน้อยกว่า ร้อยละ 30 ถึง 26 แห่ง // ด้านสถานการณ์น้ำเขื่อนหลักเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การ 1, 457 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำวันละ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากไม่มีน้ำมาเติมจะระบายได้อีก 54 วัน


ส่วนการพิจารณาการปรับปรุงแผนการพัฒนาการบริหารจัดการปี 2563 ได้ปรับปรุงของบฯ เพิ่มเติม รวมเป็นอีก 1.8แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและเพิ่มแหล่งน้ำ ลดภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง สนทช. จะได้นำแผนงานที่ผ่านมติที่ประชุมไปจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์ โดยนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาและเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้เห็นชอบต่อไป


สำหรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ขณะนี้คลี่คลายแล้ว จากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ และเน้นย้ำให้จัดหาน้ำสำรองเพิ่มเติมด้วย ขณะเดียวกันนอกจากปัญหาภัยแล้ง ยังต้องติดตามสถานการณ์อ่างเก็บน้ำมรสวบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเร่งพร่องน้ำ เพื่อความปลอดภัย และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดหากมีฝนตกปริมาณมาก พร้อมให้แจ้งเตือนประชาชนด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ