ข่าว

ศาลรธน.รับคำร้องปม"ธนาธร-ปิยบุตร"ล้มล้างการปกครอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2562

 

 

          ศาลรธน.รับคำร้องปม “ธนาธร-ปิยบุตร-อนค.” ล้มล้างการปกครอง พร้อมตีความคุณสมบัติ “บิ๊กตู่” สั่งชี้แจงภายใน 15 วัน  “สมคิด” เผยหารือนายกฯ ตั้งครม.เศรษฐกิจ สร้างความมั่นใจนักลงทุน ด้าน รมต. วิป 3 ฝ่ายกำหนดอภิปรายนโยบายรัฐบาล 25-26 ก.ค. รวม 28 ชั่วโมง ขณะที่พรรคร่วมโวย พปชร.หยิบหน่วยงานเกรดเอดูแล


          เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมปรึกษาพิจารณา กรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ (ผู้ถูกร้องที่ 1) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ผู้ถูกร้องที่ 2) นายปิยบุตร แสงกนกกุล (ผู้ถูกร้องที่ 3) และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ (ผู้ถูกร้องที่ 4) เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่นั้น


          ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่าผู้ร้องได้ใช้สิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง แล้ว แต่อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการภายใน 35 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ กรณีดังกล่าวจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 วรรคสาม ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องทราบ ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้ง 4 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง


          นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้พิจารณากรณีประธานสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 360 (2) ประกอบมาตรา 98 (1) เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐนั้น


          รับวินิจฉัยปมคุณสมบัติ“บิ๊กตู่”
          ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 10 วรรคสาม และมาตรา 82 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้อง เพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

 

          ทั้งนี้สำหรับการพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 92 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขไว้ว่าจะต้อง “ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง” ซึ่งตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ก็ไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องที่จะทำให้เกิดความเสียหายแต่ประการใด ประกอบกับผู้ร้องไม่ได้มีคำขอในส่วนนี้ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

 

 

          ส่วนกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ จากกรณีการถือหุ้นสัมปทาน


          โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวน ตาม พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 18.00 น. และหากคู่กรณีประสงค์จะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นหนังสือ ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

 

 

          ขยายกรอบคำชี้แจงปชป.30วัน
          นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทนายความต่อสู้คดีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่าถือครองหุ้นในกิจการด้านสื่อมวลชน เปิดเผยความคืบหน้าการต่อสู้คดีคุณสมบัติส.ส.ถือหุ้นในกิจการด้านสื่อสารมวลชนว่า การเตรียมการในภาพรวมของทีมทนายความสู้คดีนี้เป็นไปด้วยดี ส่วนการส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญที่เดิมกฎหมายกำหนดกรอบเวลาไว้ให้ยื่นภายใน 15 วันซึ่งตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ก่อนที่จะถึงวันครบกำหนดดังกล่าว ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอขยายเวลาไปอีก 30 วัน เนื่องจากกำลังขอเอกสารบางส่วนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)


          “เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เราได้รับแจ้งว่าศาลอนุญาตขยายกรอบเวลาให้ตามที่ร้องขอ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าอาจจะส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก่อนครบ 30 วันก็ได้ เพราะเราจัดทำต้นร่างไว้แล้ว รวมถึงได้รับเอกสารต่างๆ จากกระทรวงพาณิชย์และ กสทช.ที่ทยอยส่งมาให้” นายราเมศกล่าว


          ยื่นห้ามจ้อสื่อนอกให้ร้ายชาติ
          ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เพื่อขอให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้บุคคลเลิกการกระทำอันมีลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีนายธนาธร และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้


          นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ทั้งสองคนได้ไปพูดบรรยายและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศในหลายๆครั้ง ส่อขัดหรือแย้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 กระทำการเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป และมาตรา 127 กระทำการเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะการระบุให้อเมริกาเข้ามาช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย และพูดหลายครั้งว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ คสช. การกระทำของนายธนาธรอาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองมิได้


          “การที่คุณธนาธรเป็น ส.ส. กินเงินเดือนของประชาชน ดังนั้นการจะทำการใดๆ การจะพูดคำใดๆ ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ประเทศเป็นที่ตั้งด้วย ไม่ใช่พูดเอามันหรือสิ่งที่ตัวเองยังไม่ได้ประสบผลสำเร็จซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” นายศรีสุวรรณกล่าว และว่าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบด้วยสามารถสั่งให้นายธนาธรกับพวกหยุดกระทำการดังกล่าวเสีย


          ไม่มีคสช.แล้วอย่าจมกับอดีต
          ที่กองทัพน้อยที่ 1 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการดูแลสถานการณ์ความมั่นคง ภายหลังจากไม่มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย(กกล.รส.)ที่หมดอำนาจแล้วว่าขอให้รอก่อน เพราะตอนนี้กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ หรือบทความ เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาในอดีต รวมถึงความเชื่อมโยงต่างๆ โดยพยายามเรียบเรียงอยู่และดำเนินการมาได้ 2 สัปดาห์แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงและสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงเรื่องโซเชียลและสื่อมวลชนด้วย จากนั้นจะมีการเผยแพร่ต่อไป


          เมื่อถามว่าในฐานะรอง ผอ.รมน. จะดูแลเรื่องการจัดระเบียบสังคมต่อไปอย่างไร เพราะกลัวว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า อย่าอยู่กับอดีต เพราะวันนี้ไม่มี คสช.แล้ว คนพยายามพูดโยง ถ้าตนจะให้สัมภาษณ์หรือพูดอะไรก็จะพูดกับสื่อมวลชนเป็นส่วนใหญ่ และไม่เคยแอบไปพูดที่ไหน รวมทั้งไม่ได้ใช้โซเชียล แต่กลับถูกโซเชียลทำให้เกิดผลกระทบ ซึ่งเป็นธรรมดาแต่ไม่ใช่ตนเพียงคนเดียว ตนรับได้เหมือนคำที่บอกว่า “คำพูดเป็นนายของตนเอง” เมื่อพูดออกมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบ ตนพูดอะไรออกไปก็ต้องรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันสิ่งที่ตนไม่ได้พูด พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนก็ต้องรู้ว่าตนไม่ได้พูด


          พล.อ.อภิรัชต์กล่าวด้วยว่า เรื่องคสช.หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราต้องอยู่กับปัจจุบันและทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ประเทศชาติ และต้องแบ่งแยกว่าตอนนี้กองทัพกลับมาอยู่ในระบบการทำงานของกองทัพ พร้อมย้ำกองทัพไม่ใช่ คสช. ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ และตอนนี้ตนไม่ใช่เลขาธิการ คสช. ทุกอย่างเป็นอดีต ดังนั้น การพูดจาอะไรก็ตามที่พูดแล้วพยายามอ้างอิงเรื่องเดิมๆ หรือเรื่องเก่าๆ ที่ผ่านมาแล้วทุกคนก็จะจมอยู่แต่อดีต ขอให้ร่วมกันก้าวข้ามและช่วยกันเดินหน้าไป


          ย้ำกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล
          “กองทัพเป็นเพียงองค์กรหรือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล อย่างไรก็ตามในแง่ของความผูกพันของสายการบังคับบัญชา กองทัพก็ต้องฟัง รมว.กลาโหม ถึงแม้ รมว.กลาโหม จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องยึดตามสายการบังคับบัญชา เราต้องเชื่อฟังอยู่แล้ว เรื่องเดิมๆ ผ่านไปหมดแล้ว ทุกอย่างเป็นอดีต ปัจจุบันเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการตั้งคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญดีใจที่หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้ส่งหนังสือแสดงความยินดี หลังจากที่ ครม.ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นข้อสังเกตว่า การตอบรับจากอารยประเทศ ที่เป็นต้นแบบของประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่ขอฝากไว้ว่าเรามีประชาธิปไตยแล้วแบบมีจารีตประเพณีวัฒนธรรมของประเทศเรา ทุกประเทศก็มีของเขาหมด ดังนั้นการออกแบบประชาธิปไตย เราก็ได้มีการออกแบบไว้แล้วและเชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ กฎหมายรัฐธรรมนูญสามารถเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย แต่สิ่งที่เปลี่ยนยากคือจิตใจของคน"


          เมื่อถามว่าจะมีการฟ้องร้องผู้ที่ปล่อยข่าวปลอมลงในเพจโซเชียลหรือไม่ พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า ไม่ฟ้อง และเมื่อถามอีกว่ากังวลใจสถานการณ์ทางการเมืองต่อจากนี้หรือไม่ พล.อ.อภิรัชต์ ย้ำว่า ไม่กังวล เมื่อถามถึงการปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะกระทบต่อการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบเพราะการปฏิบัติยังคงดำเนินการไปตามปกติ


          สหรัฐยินดีไทยกลับสู่ประชาธิปไตย
          ที่ทำเนียบรัฐบาล เช้าวันเดียวกัน นายเดวิด อาร์ สตีลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคนใหม่ เข้าพบ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลา 30 นาที


          จากนั้นนายสตีลเวลล์ให้สัมภาษณ์ว่า ดีใจที่ได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากเคยมาในปี 2516 ขณะมีอายุ 11 ปี ทั้งนี้ปี 2562 ถือเป็นปีสำคัญของประเทศไทย นอกจากเป็นประธานอาเซียนแล้วยังเป็นปีมหามงคล มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มั่นใจประเทศไทยจะทำหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ และยินดีที่ประเทศไทยได้กลับมามีการปกครองโดยพลเรือนกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง


          “รู้สึกดีใจที่เห็นภาพความร่วมมือไทยกับสหรัฐที่เดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยสหรัฐเห็นว่าความเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน ถือเป็นเป้าหมายแห่งแรกในการลงทุนของสหรัฐ และสหรัฐมีการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนรวมมูลค่ากว่าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐที่มีกว่า 200 ปี เรามีส่วนร่วมทั้งเรื่องความมั่นคง การพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จะช่วยให้ประเทศทั้งสองมีความเจริญรุ่งเรือง ส่งผลดีต่อภูมิภาคนี้ด้วย และได้มีการพัฒนาหุ้นส่วนในหลายๆ ด้าน” นายสตีลเวลล์กล่าว


          เมื่อถามว่า การที่เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ และเกาหลีเหนือจะเดินทางมาร่วมการประชุมที่ประเทศไทยในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีพัฒนาการอะไรขึ้นหรือไม่ นายสตีลเวลล์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่คงจะต้องหาโอกาส


          หารือนานาชาติไม่คิดทำลายชาติ
          ที่พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค กล่าวถึงภารกิจการเยือนสหรัฐและหลายประเทศในยุโรป ว่า หลายคนสงสัยการเดินทางไปต่างประเทศของตน จึงอยากแถลงถึงวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่ามี 4 ข้อ ว่า 1.มีการสร้างเครือข่ายกับ ส.ส.ในต่างประเทศ รวมถึงภาคประชาสังคมที่เชื่อมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เพื่อทำให้ทำงานสะดวกขึ้นในวันที่เราเป็นรัฐบาล 2.ชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทย 3.ศึกษาเรียนรู้เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอียูและสหรัฐ และ 4.ดูงานการพัฒนาเมือง เพื่อศึกษาว่ามีนวัตกรรมที่จะนำกลับมาใช้กับประเทศไทยอย่างไรบ้าง เพราะอนาคตใหม่มีแนวทางเตรียมลงเลือกตั้งท้องถิ่น จึงต้องศึกษาเมืองที่พัฒนาแล้ว


          “ข้อกล่าวหาว่าผมหลบหนีนั้น ขอเรียนว่า ตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่เมื่อปีที่แล้ว เรารู้ว่า การเมืองไทยกำลังต่อสู้กับโจทย์ใหญ่ว่า อำนาจเป็นของใคร ซึ่งอนาคตใหม่เชื่อว่า อำนาจเป็นของประชาชน การต่อสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตย จึงต้องชนกับเผด็จการ ที่แปลงร่างเป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ส่วนข้อกล่าวหาว่า ผมขายชาติ ก็ขอเรียนว่า นิยามคำว่าชาติของอนาคตใหม่คือประชาชน ชาติไม่ใช่รัฐบาล ชาติไม่ใช่ความมั่นคงของ คสช. ชาติไม่ใช่ความมั่นคงของคุณประยุทธ์ ข้อหารือกับนานาชาติ ในเจตนาของเราไม่ได้มีความคิดทำลายชาติเลย คนที่กล่าวหาเราคือคนรับใช้เผด็จการ คนรับใช้เผด็จการต่างหากที่ขายชาติ” นายธนาธรกล่าว

 

          แก้รธน.ไม่แตะสืบทอดอำนาจ
          นายธนาธร ยังกล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า พรรคอนาคตใหม่เตรียมบุคคลสำหรับอภิปรายตรวจสอบการแถลงนโยบายแล้ว แต่นโยบายของรัฐบาลยังไม่รู้จะมีเรื่องอะไรบ้างจึงขอดูนโยบายพรรคร่วม 19 พรรคร่างสุดท้ายก่อน หากวิจารณ์ไปก็ยังไม่รู้จะอยู่ในร่างนโยบายหรือไม่

 

 

          ส่วนนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่าก็ไม่มีการลงรายละเอียดว่าจะแก้ไขเรื่องใดบ้าง อนาคตใหม่เชื่อว่า รัฐบาลจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการกุมอำนาจของ คสช. ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มาองค์กรอิสระ ที่มาตุลาการ ที่มา ส.ว.และอำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นกลไกที่ใช้สืบทอดอำนาจ จะไม่ถูกแก้ไขแต่อาจมีแก้ไขเล็กน้อยบางมาตราแบบผักชีโรยหน้า แต่มาตราที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยจะไม่แก้ไขแน่ เพราะนี่คือหัวใจของพวกเขาในการสืบทอดอำนาจ หลังเลือกตั้งคสช.มลายหายไปแล้ว แต่ยังอยู่กับสังคมไทยในรูปของรัฐธรรมนูญ 2560 ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าไม่แก้ไข การเดินทางสู่ประชาธิปไตยไทยจะไม่เกิดขึ้น

 

          สมคิดถกนายกฯตั้งครม.เศรษฐกิจ
          ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้หารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงแนวคิดที่จะรื้อฟื้นการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือครม.เศรษฐกิจ ที่ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจโดยมีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อมาประชุมร่วมกันเป็นระยะๆ โดยหวังให้การทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน และประสานงานได้ดีขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลาใดมีวาระที่สำคัญเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้มากขึ้น 



          “การจัดตั้งครม.เศรษฐกิจ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนยังมีความไม่เชื่อมั่นจากรัฐบาลผสมที่มาจากหลายพรรคการเมือง ดังนั้นการมี ครม.เศรษฐกิจจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทางเดียวกัน เป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย” นายสมคิด กล่าว


          ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ตามที่มีพรรคการเมืองหาเสียงไว้ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ไม่ต้องกังวลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่ายต้องพูดคุยหารือถึงมาตรการที่เหมาะสมอยู่แล้วว่าจะขึ้นค่าแรงเท่าไร ขณะที่พรรคการเมืองพูดอะไรไว้ก็ต้องทำตามนั้น แต่ก็ได้พูดชัดว่าการขึ้นค่าแรงต้องขึ้นตามทักษะฝืมือ ดังนั้นทุกอย่างต้องมีพัฒนาการ และต้องเข้าสู่ที่ประชุมไตรภาคี  เรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และจากการพูดคุยกับประธานสภาอุตสาหกรรมได้ยืนยันไปว่าไม่ได้กังวลในการเป็นรัฐบาลผสมว่าจะทำงานลำบากขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะมีกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้การทำงานไปในทิศทางเดียวกัน 


          นายสมคิด ยังกล่าวถึงการแต่งตั้งนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นที่ปรึกษา หลังจากพลาดตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่า ต้องรอการประชุม ครม.ครั้งต่อไปภายหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(ประจำรองนายกฯสมคิด)นั้น ยังไม่ทราบว่าจะเป็นใคร เพราะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม 


          ต่อข้อถามรู้สึกกังวลหรือไม่ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายนโยบายรัฐบาลนอกประเด็น นายสมคิดชี้แจงว่า ไม่กังวล แต่อยากบอกว่าประชาชนฟังในเรื่องที่สร้างสรรค์ว่านโยบายของรัฐบาลมีอะไรบ้าง และมีอะไรต้องเพิ่มเติม จึงต้องมาร่วมกันทำงานเชื่อว่าทุกคนอยากให้บ้านเมืองไปได้และนโยบายมีอะไรขาดหรือต้องเพิ่มเติมตรงไหนหรือไม่


          ได้ฤกษ์เข้าทำเนียบ-ดันกัญชา
          ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล ก่อนให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายรัฐบาลว่า รัฐมนตรีทุกคนในสังกัดพรรคภูมิใจไทยได้รับร่างนโยบายและได้เตรียมความพร้อมในการชี้แจงต่อรัฐสภาแล้ว ทั้งนี้นโยบายกัญชาเสรีซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนของนโยบายรัฐบาลมีแผนงานที่กระทรวงสาธารณสุขแล้ว รอเพียงนโยบายที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องการแบ่งงาน คงต้องรอการแถลงนโยบายรัฐบาลให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งแล้วแต่ดุลพินิจของนายกฯ 


          “นโยบายกัญชา ถือเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งต้องเริ่มทำใน 1 ปี และจะมีการพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด เราหวังว่าในวันหนึ่งพืชชนิดนี้มีสารซีบีดีที่สกัดได้ ซึ่งเป็นสารที่ดีต่อร่างกายสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ อีกหน่อยอาจจะเห็นกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสร้างรายได้ให้แก่ประเทศและเกษตรกร ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน” นายอนุทินกล่าว 


          รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ในส่วนนโยบายที่ให้ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้นสามารถดำเนินการได้เมื่อไร ต้องเริ่มจากที่โรงพยาบาลผ่านเครือข่ายอสม. ซึ่งตอนนี้องคาพยพต่างๆ พร้อมแล้ว รอเพียงการขับเคลื่อนเท่านั้น ซึ่งตนได้ให้นโยบายที่ชัดเจนไปแล้วว่าให้เริ่มต้นโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานว่ากระทรวงมีความพร้อม มีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับสถาบันทางการเกษตรหลายแห่ง รวมถึงได้ลงนามเอ็มโอยูกับองค์การเภสัชฯ กรมการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็ทำในส่วนที่ทำได้ภายใต้กฎหมาย ตอนนี้ก็รอเอาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์


          “นโยบายมันชัดเจนแล้ว ยิ่งเป็นนโยบายที่นายกฯ ให้ความกรุณาจัดไว้อยู่ในวาระเร่งด่วน มันก็ชัดเจน ไม่ทำสิผิด ไม่ทำจะเจอกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือเปล่าก็ไม่รู้ เมื่อวานผมไปที่กระทรวงก็บอกไปว่ากรุณาอย่ามาพูดว่าทำไมทำไม่ได้ ต้องหาทางมาให้เสร็จ รัฐมนตรีไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ แล้วเห็นว่ากฎหมายเขียนว่าเสรี แต่กว่าจะทำได้ต้องกลับไปขอขั้นตอนเยอะแยะไปหมด เขียนเหมือนกับว่าคงอำนาจรัฐไว้อีกเยอะ พรรคภูมิใจไทยเข้ามาลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อปากท้องประชาชน เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์นี้ต้องคงไว้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องหาคนที่ทำได้มาทำ ซึ่งจะต้องเห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้” นายอนุทิน กล่าว


          เน้นเรื่องทำงานก่อนแก้รธน.
          นายอนุทิน กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่บรรจุในร่างนโยบายรัฐบาลว่า นโยบายแต่ละพรรคมีความตั้งใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดีกรีอาจต่างกัน อย่างน้อยก็อยู่ในนั้นแล้ว และคงมีการพูดคุยกัน ในส่วนพรรคภูมิใจไทย เน้นเรื่องการทำงานก่อน เพราะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องคุยวงใหญ่เราทำคนเดียวไม่ได้ นโยบายโดยรวมคือกรอบ นำไปขยายผลไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดค่อนข้างครอบคลุมทุกประเด็น ไม่มีพรรครัฐบาลพรรคไหนที่ติติง ทุกอย่างเรียบร้อย นายกฯ รับฟังความเห็นเล็กน้อย ถ้าแก้ได้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับไปแก้ 


          ต่อข้อถามก่อนหน้านี้นายกฯ เป็นหัวหน้าคสช. และท่านเป็นนักการเมืองเมื่อมาทำงานร่วมกันต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง นายอนุทิน กล่วาว่า “ต่างคนต่างร้องเพลงจงรัก โปรดอย่าถามว่าฉันเป็นใครเมื่อในอดีต รู้ไว้อย่างเดียวเดี๋ยวนี้รักเธอ รักตลอดไปหรือเปล่าไม่รู้”


          นายอนุทิน ยังกล่าวกรณีแคนดิเดตทีมโฆษกรัฐบาลในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทยว่า ถ้ามีอัตราให้มาก็จะพิจารณาและเสนอชื่อ ซึ่งในพรรคมีแคนดิเดตหลายคนก็ต้องดู ตำแหน่งพวกนี้ไม่ใช่ตำแหน่งตอบแทน การทำงานต้องดูความเหมาะสม  ทั้งเชาวน์ ไหวพริบ ภาษา ความเข้าใจภาคเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และหลายๆ เรื่อง


          ส่วนที่ฝ่ายค้านจ้องอภิปรายคุณสมบัติรัฐมนตรีที่มีคดีค้างเก่า นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเอกสารมีหลักฐาน ถ้าเรามีอะไรที่จะต้องชี้แจงก็ต้องชี้แจงด้วยหลักฐาน การกล่าวหาจะต้องกล่าวหาด้วยหลักฐาน โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกร้องเรียนว่าถือหุ้นสื่อ สามารถตรวจสอบไปที่กระทรวงพาณิชย์ก็จะทราบรายละเอียดทุกเรื่องอยู่แล้ว


          “สมศักดิ์”นำพระพุทธรูปเข้ายธ.
          เช่นเดียวกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ถือฤกษ์ 08.19 น. พร้อมด้วยครอบครัว เดินทางเข้าสักการะศาลพระพรหมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ และกระทรวงยุติธรรม ก่อนเข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวง


          นายสมศักดิ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมว่า ต้องยอมรับว่ากระทรวงยุติธรรมมีโครงข่ายที่สมบูรณ์แบบ หากเราใช้ทรัพยากรที่มีอย่างเต็มที่ มั่นใจว่าจะมีผลงานเชิงประจักษ์มากขึ้น แต่ในส่วนของกฎหมายและระเบียบกระทรวงอาจจะต้องมีการปรับปรุงบางส่วน เช่น ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต้องขังกว่า 3 แสนคน ส่วนใหญ่กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้เรือนนอนแออัดรองรับผู้ต้องขังในพื้นที่ 1.4 ตารางเมตร(ตร.ม.)ต่อคน ขณะที่ตามเกณฑ์สากลกำหนดไว้ 2.5 ตร.ม.ต่อคน ดังนั้นอาจต้องมีการสร้างเรือนจำหรือใช้วิธีบริหารจัดการอื่นๆ แต่ต้องรอให้มีการแถลงนโยบายก่อนจึงจะได้พูดคุยและมอบนโยบายให้ผู้บริหาร 


          ปัดปมธรรมกาย-ไม่โอนดีเอสไอ
          ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสโอนย้ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีกรณีดังกล่าว ทุกหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมจะอยู่ที่เดิมครบ ในส่วนของดีเอสไอยังคงเป็นการบริหารในรูปแบบเดิมคือ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบหรือกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม รวมถึงดีเอสไอ


          นายสมศักดิ์ ยังชี้แจงหลังถูกโซเชียลโจมตีเป็นศิษย์วัดพระธรรมกายว่า เป็นภาพสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ทำนโยบายเที่ยวทั่วไทยไปได้ทั้งเดือน โดยช่วงนั้นไปร่วมพิธีทอดผ้าป่าถวายที่ดินสร้างปทุมรัตน์ธรรมเจดีย์ ภายในพุทธอุทยานนานาชาติ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย  ซึ่งโครงการดังกล่าวก็ไม่ได้ทำที่วัดพระธรรมกายวัดเดียว เพราะยังมีวัดที่เกี่ยวข้องร่วมอีก 3-4 วัด เข้าใจว่าภาพที่ถูกนำมาเผยแพร่มีเจตนาเพื่อโจมตี แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือสนใจอะไรมาก ยืนยันว่าไม่ได้เป็นลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย แต่ถ้าถามว่าเคยพบพระธัมมชโยหรือไม่ ก็เคยเจอแค่ครั้งเดียวเท่านั้น


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมรับฟังบทบาทภารกิจของกรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ได้ออกมาพบปะกับบรรดานักการเมืองที่เดินทางมาแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่กันอย่างคับคั่ง จากนั้นได้ไปรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และ ส.ส.ในกลุ่มสามมิตร


          “สุริยะ”ทะลวงปล่อยกู้เอสเอ็มอี
          ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เข้าทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นวันแรก โดยสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง และให้สัมภาษณ์ว่า ขอเวลา 100 วันในการทำงานหลังจากนี้ให้เกิดรูปธรรม โดยสิ่งที่ตั้งใจเดินหน้ามีทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน 


          “ในเร็วๆ นี้จะตรวจเยี่ยมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือเอสเอ็มอี ดีเวลล็อปเม้นท์แบงก์ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านสินเชื่อ ไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และจะเข้าไปปรับรายละเอียดการปล่อยกู้ของกองทุนเอสเอ็มอีต่างๆ ที่มีอยู่ให้การปล่อยกู้คล่องตัวแบบทะลวงท่อ และวันที่ 19 กรกฎาคม มีกำหนดพบ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ก็จะหารือถึงมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีด้วย” นายสุริยะกล่าว


          รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า แม้จะเข้าทำงานในกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นครั้งที่ 4 แล้ว แต่ก็ว่างเว้นงานด้านอุตสาหกรรมมาประมาณ 10 ปี จึงขอเวลาทำงานก่อน ซึ่งก่อนเข้าทำงาน ได้หารือกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมถึงนโยบายการทำงานและยุทธศาสตร์ของกระทรวงแล้ว


          เผยส่งร่างนโยบายรัฐบาลให้สภา
          ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การแถลงนโยบายรัฐบาลสามารถอภิปรายคุณสมบัติของรัฐมนตรีได้ว่า ประธานสภาบอกแล้วว่าได้ ซึ่งถ้าทำเป็นพูดเป็นก็ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่ลุกขึ้นแล้วพูดเลย แต่จะต้องพูดเรื่องนโยบายรัฐบาลก่อน ส่วนร่างนโยบายรัฐบาลนั้นจะดำเนินการส่งให้ประธานสภาในวันนี้


          วิปรัฐจัดเวลา13ชม.ให้ฝ่ายค้าน
          ที่รัฐสภา เกียกกาย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยความคืบหน้าของการหารือร่วมกับตัวแทนวิปฝ่ายค้านและ ส.ว. เพื่อรับฟังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 25-26 กรกฎาคม นี้ว่า กำหนดเวลาอภิปรายให้ทั้งสิ้น 28 ชั่วโมง โดยจะเริ่มพิจารณาตั้งแต่เวลา 09.00-24.00 น.ของทั้ง 2 วัน ขณะที่การจัดสรรเวลาให้แต่ละฝ่ายอภิปรายนั้นคือ ให้ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวม 13 ชั่วโมง 30 นาที, ฝ่ายรัฐบาล รวมถึง คณะรัฐมนตรี, ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 5 ชั่วโมง  และ กลุ่มของ ส.ว. จำนวน 5 ชั่วโมง ทั้งนี้ไม่รวมเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหมจะแถลงนโยบาย  

          ทั้งนี้ในการหารือได้ร้องขอไปยังตัวแทนวิปฝ่ายค้านด้วยว่าขอให้อภิปรายในกรอบของนโยบายรัฐบาล ส่วนการอภิปรายคุณสมบัติข<

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ