ข่าว

"บิ๊กตู่" ย่องเงียบถก "สมคิด" รับมือฝ่ายค้านซักฟอก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2562

 

 

          “บิ๊กตู่” ย่องเงียบถก ”สมคิด” รับมือฝ่ายค้านซักฟอก  สั่งทุกฝ่ายเตรียมข้อมูล ยันไม่ร่วมสัมมนา ​​“พลังประชารัฐ” ที่วังน้ำเขียว  ด้าน “ชวน” เปิดช่องให้อภิปรายคุณสมบัติ รมต.  “เพื่อไทย” เผย 50 ส.ส.อาสาถล่ม ขณะที่ “ธนกร-นฤมล” เต็งชิงโฆษกรัฐบาล 

 

          เหลือเพียงไม่กี่วันสำหรับการแถลงนโยบายรัฐบาลของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.​กลาโหม โดยการแถลงนโยบายดังกล่าวนั้น ล่าสุดมีรายงานว่า นายกฯได้เตรียมข้อมูลเพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25-27 กรกฎาคม​นี้ พร้อมเตรียมตั้งรับฝ่ายค้านในการถูกซักฟอกในประเด็นต่างๆ แล้ว


          “บิ๊กตู่”สั่งเตรียมข้อมูลแถลงนโยบาย
          เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม​ ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าปฏิบัติภารกิจภายในทำเนียบรัฐบาลแล้วในเวลา 08.45 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีวาระงานหรือกำหนดการอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาเตรียมการแบ่งงานให้แก่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเตรียมข้อมูลเพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25-27 กรกฎาคม​นี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะเป็นผู้แถลงเปิดด้วยตนเอง คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และมีคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ ชุดใหม่ทั้ง 35 คน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงกัน อย่างไรก็ตาม​ สำ​หรับกำหนดการเข้ารับตำแหน่ง รมว.​กลาโหม​ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น คาดว่าจะมีขึ้นภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณต้นเดือนสิงหาคม


          ทั้งนี้ ในส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะมีเซอร์ไพรส์ในการประชุมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ​ที่ อ.วังน้ำเขียวนั้น แหล่งข่าวใกล้ชิดนายกรัฐมนตรียืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีกำหนดที่จะเดินทางไปแต่อย่างใด แต่มีแนวโน้มสูงที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะไปเป็นตัวแทน​ โดยในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์จะนัดพบกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ก่อนวันแถลงนโยบายที่กรุงเทพมหานครแทน

 

          เมื่อถามถึงกรณีที่นายจุรินทร์ระบุสิ่งแรกที่ต้องทำในการแก้รัฐธรรมนูญคือหมวดที่ว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่าจะต้องเริ่มต้นแก้ไขที่มาตรา 272 การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้ยินเพียงข่าวจากสื่อมวลชนว่าหลายพรรคการเมืองจะดำเนินการแก้ไข แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เรื่องนี้รอฟังความเห็นจากสภาผู้แทนราษฎรก็แล้วกันว่ามีความเห็นอย่างไรบ้าง

 

          “บิ๊กตู่-สมคิด” ถกรับมือแถลงนโยบาย
          วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเวลา 14.30 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคาดว่าเป็นการหารือเกี่ยวกับการแถลงนโยบายด้านต่างๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญและเตรียมการในช่วงนี้ อีกทั้งฝ่ายค้านได้ประกาศจะชำแหละร่างนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ และการหารือครั้งนี้อาจรวมทั้งตำแหน่งทางการเมืองสำคัญที่ยังไม่ได้มีการพิจารณา อาทิ ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างๆ เป็นต้น โดยทั้งสองคนใช้เวลาหารือประมาณ 40 นาที จากนั้นนายสมคิดได้ลงมาขึ้นรถและกลับออกไปทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางกลับออกไปเช่นกันในเวลา 15.11 น.

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางกลับบ้านพักในครั้งนี้ ถือว่าเร็วกว่าปกติ เนื่องจากทุกวัน พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับออกจากทำเนียบเวลาประมาณ 16.00-16.30 น. ทั้งนี้ ทางคณะทำงานระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีภารกิจใดๆ แต่ครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการเดินทางกลับเร็วกว่าปกติ อีกทั้งยังกลับออกไปพร้อมกับรถขบวนของนายสมคิดด้วย

 




          งดประชุมครม.ก่อนแถลงนโยบาย
          ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ คณะทำงานนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ว่าจะมีการประชุม ครม.ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุมก่อนแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภานั้น ขอแจ้งว่าจะไม่มีการประชุม ครม.ในวันดังกล่าว โดยการประชุม ครม.ใหม่จะเกิดขึ้นหลังการแถลงนโยบาย ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่มีการพบปะกับผู้ใดในช่วงนี้ โดยขอเวลาเตรียมการปฏิบัติงานในอนาคตก่อน


          “วิษณุ” เผยพิมพ์ร่างนโยบายแล้ว
          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 25 กรกฎาคม ว่า เมื่อจัดพิมพ์ร่างนโยบายแล้วเสร็จ ต้องส่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดูก่อนวันแถลงอย่างน้อย 3 วัน ขณะนี้จัดพิมพ์เสร็จแล้ว คาดว่าจะส่งให้สมาชิกได้ภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนที่เคยบอกว่านโยบายเร่งด่วนนั้น ไม่จำเป็นต้องระบุกรอบเวลา แต่เป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่าจะต้องทำ เช่น รัฐบาลบางชุดกำหนดว่าจะทำนโยบายเร่งด่วนภายใน 1 ปี นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ 11-12 ข้อ โดยเห็นว่าปัญหาปากท้องและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อน ส่วนด้านอื่นๆ ก็ค่อยทำให้ในระยะเวลา 1 ปีนี้ หากเห็นว่าล่าช้า สภาผู้แทนราษฎรก็สามารถตั้งคำถามหรืออภิปรายได้อยู่แล้ว แต่ในร่างนโยบายจะไม่มีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะดำเนินการเมื่อใด


          “เมื่อมารวมกัน 19 พรรคการเมืองเป็นรัฐบาลผสม การจัดทำนโยบายจะต้องใช้หลักการดังนี้ตามลำดับ 1.หน้าที่ของรัฐ 2.แนวนโยบายของรัฐ 3.ยุทธศาสตร์ชาติ 4.พิจารณาจากนโยบายของแต่ละพรรคร่วม เพื่อให้สามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้ ไม่สามารถนำนโยบายพรรคใดพรรคหนึ่งมาทำได้ แต่ต้องไม่ทิ้งนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียง ส่วนเงื่อนไขเวลานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนที่ครั้งหนึ่งพรรคพลังธรรมมีนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดทันที แต่เมื่อมาร่วมรัฐบาลซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ก็มีการปรับเรื่องเวลา” นายวิษณุ กล่าว


          ชี้ ‘แก้รธน.’ต้องดูเวลาเหมาะสม
          เมื่อถามถึงกรณีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องทำใน 1 ปีนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นที่เข้าใจกันว่านโยบายเร่งด่วนเป็นสิ่งที่จะทำใน 1 ปี หรืออาจจะสั้นกว่านั้น อยู่ที่ว่าจะเขียนนโยบายอย่างไร แต่ของรัฐบาลนี้แบ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนกับนโยบายทั่วไป ที่ไม่ได้ระบุระยะเวลาสำหรับนโยบายข้อใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ คำว่าเร่งด่วนคือต้องรีบทำอยู่แล้ว แต่ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ อาจเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อน นโยบายไหนที่เป็นเรื่องเร่งด่วนแล้วรัฐบาลเชื่องช้า สภาสามารถตั้งกระทู้ถามได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายของแต่ละพรรคเมื่อรวมกันแล้วต้องยึดหลักหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติขึ้นก่อน จากนั้นนำนโยบายของพรรคมาผสมให้เข้ากันได้ จะยึดของพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้ และต้องไม่ทิ้งประเด็นที่แต่ละพรรคให้ไว้
 

 

 

 


          นายวิษณุ กล่าวถึงการแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรีว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้แบ่งงานให้แก่รองนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ มีเพียงการมอบหมายให้รองนายกฯ รักษาการแทนในกรณีที่ไม่อยู่เท่านั้น คาดว่าจะแบ่งได้ภายหลังแถลงนโยบายรัฐบาลแล้ว เพราะการแบ่งงานนั้นถือเป็นการบริหารราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งที่สามารถทำได้ภายหลังแถลงนโยบายแล้วเท่านั้น


          อ้างอำนาจ กอ.รมน.เรียกคนได้อยู่แล้ว
          นายวิษณุ กล่าวถึงการโอนอำนาจหัวหน้าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่า โดยปกติ กอ.รมน.มีอำนาจของตัวเองตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่การเรียกคนมาปรับทัศนคติ เป็นเพียงการเชิญคนมารับฟังข้อมูลบางอย่าง อาจในฐานะพยานซึ่งรัฐบาลในอดีตไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ใช้หรืออยู่กับกฎหมาย กอ.รมน.มาโดยตลอด ส่วนที่ 7 พรรคฝ่ายค้านมองว่าอาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนนั้น ขอชี้แจงว่า เมื่อ คสช.ไม่อยู่แล้ว อำนาจในการรักษาความสงบจึงเป็นของ กอ.รมน.ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หากเห็นว่าอำนาจดังกล่าวขัดสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ ก็สามารถแก้ไขเพื่อยกเลิกได้


          “ชวน”ยันถกนโยบายรัฐบาล 3 วัน
          เวลา 12.45 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้เปิดอภิปรายนโยบายรัฐบาลเป็นเวลา 3 วัน ภายหลังนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ออกมาระบุอภิปราย 2 วัน ก็เพียงพอแล้ว ว่า ได้ออกระเบียบวาระการประชุมเป็น 2 วัน คือ ระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคม ซึ่งการกำหนดแบบนี้เป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าอภิปรายไม่เสร็จสามารถอภิปรายต่อได้ในวันที่ 27 กรกฎาคม แต่จะไม่เกิน 3 วัน ทั้งนี้ ยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดจากคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) โดยวิปทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือว่าฝ่ายใดจะอภิปรายได้เวลาเท่าไร ซึ่งแต่ละฝ่ายจะบริหารเวลากันเอง ที่ผ่านมาก็ควบคุมเวลาได้ดี อภิปรายคนละ 2 นาที หรือ 5 นาที โดยไม่ต้องเตือนกัน เมื่อก่อนต่อรองกันมาก ดังนั้น เมื่อจบก็ขอให้จบ ไม่เช่นนั้นทุกคนจะรู้สึกว่าสภาเหมือนเด็กเล่น ส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็มีสิทธิอภิปรายเหมือน ส.ส. แต่ส่วนใหญ่ ส.ว.จะไม่ได้ใช้สิทธิมากเท่า ส.ส.


          เปิดช่องอภิปรายคุณสมบัติ รมต.ได้
          เมื่อถามว่าฝ่ายค้านระบุว่าการอภิปรายนโยบายครั้งนี้จะมีการพูดถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีด้วย สามารถทำได้หรือไม่ นายชวนชี้แจงว่า ระเบียบข้อบังคับการประชุมรัฐสภาจะกำหนดไว้ว่าการอภิปรายในเรื่องของความเป็นไปได้ของนโยบายหรือการที่นโยบายจะประสบความสำเร็จ ซึ่งเขาก็มีสิทธิอภิปรายความสามารถของบุคคลนั้นๆ ได้ ส่วนที่ถามถึงความกังวลที่ฝ่ายค้านอาจจะใช้เวทีอภิปรายนโยบายรัฐบาลเป็นเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจย่อยๆ นั้น เขาก็ทำมาโดยตลอด


          ส่วนที่จะมีความหนักใจในการควบคุมการประชุม นายชวนระบุว่า เรื่องนี้มีระเบียบอยู่แล้วว่าจะอภิปรายได้เพียงใด การอภิปรายความสามารถของบุคคล เขาสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องย้ำคือ การบริหารเวลา ถ้าบริหารได้จริงสภาจะไม่เสียเวลามากนัก แต่จะทำให้คนอภิปรายได้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเราพยายามเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสิทธิอภิปรายได้อภิปรายได้มากขึ้น ดังนั้น จึงอยู่ที่การแบ่งเวลา เพราะหากคนหนึ่งไปเอาเวลาเพื่อนมาอภิปราย เพื่อนก็อภิปรายไม่ได้ การที่ให้โอกาสหลายคนพูดโดยการคุมเวลาคนละไม่เกินกี่นาทีจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย สมาชิกที่อยากอภิปรายก็จะได้อภิปราย ขณะเดียวกันประเด็นที่พูดไม่ควรเยิ่นเย้อ ไม่ซ้ำซ้อนเกินไป ซึ่งเท่าที่เห็นสมาชิกมีความพยายามทำอยู่


          “เพื่อไทย” จี้ขยายเวลาอภิปราย
          ที่พรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค ร่วมแถลงภายหลังการประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ และวิปฝ่ายค้าน เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการจัดสรรเวลาอภิปรายนโยบายรัฐบาล โดยนายสุทินระบุว่า ได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากรัฐบาลว่าจะให้เวลาอภิปรายเพียง 2 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา จึงขอให้รัฐบาลตอบสนองความต้องการประชาชนที่ต้องการติดตามการแก้ปัญหาว่านโยบายจะตอบโจทย์ชีวิตพวกเขาอย่างไร ดังนั้น อย่าขี้เหนียวเวลา เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา สังคมไม่สามารถตรวจสอบหรือให้ข้อเสนอแนะนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญได้บังคับให้นโยบายต่างๆ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงงบประมาณต้องทำตามกฎหมายการเงินการคลัง ต้องระบุที่มาของงบประมาณในการดำเนินโครงการได้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการซักถามให้มากกว่าเดิม จึงอยากให้ขยายเวลาอภิปรายเป็น 3 วัน เช่นเดิม


          นายสุทินกล่าวว่า ส่วนการจัดทีมอภิปราย แต่ละทีมจะมีหัวหน้าชุดในการอภิปราย และมีวิทยากรพี่เลี้ยงที่ประกอบด้วยผู้บริหารพรรค อดีตรัฐมนตรี และนักวิชาการ เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ นายอดิศร เพียงเกษ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทยมาติวเข้มโดยจะเริ่มนัดแรกตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม และเชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล แต่หากรัฐบาลไม่รับฟังและไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ ก็จะกลายเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะนำไปสู่การล้มรัฐบาล


          เผยอาสาแล้ว 50 คนคลุม 6 ประเด็น
          ด้านนายอนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับกรอบการอภิปรายของฝ่ายค้าน ขณะนี้มี ส.ส.เสนอตัวขออภิปรายแล้วประมาณ 50 คน ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ด้านเศรษฐกิจ จะเป็นการอภิปรายปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ระบบคมนาคมขนส่ง รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง การส่งออก รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนของรัฐบาล 2.ด้านการเมือง เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย หลักธรรมาภิบาล ระบบคุณธรรมจริยธรรม ปัญหาการทุจริต การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการอภิปรายคุณสมบัติของรัฐมนตรี 3.ด้านความมั่นคง เป็นการอภิปรายเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน และการควบคุมสิทธิเสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์ 4.ปัญหาสังคม เป็นการอภิปรายปัญหาสาธารณสุข เด็ก สตรี คนชรา ยาเสพติด รวมถึงความไม่พร้อมของประเทศไทยในการเปิดเสรีกัญชา ที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 5.ด้านการศึกษา และ 6.การกระจายอำนาจ โดยมี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้อภิปรายเปิดประเด็น และสรุปปิดในช่วงท้าย


          แบ่ง 4 กลุ่มรมต.“บิ๊กตู่-ป้อม-ป๊อก”ไม่รอด
          นายอนุสรณ์กล่าวว่า ส่วนการอภิปรายในประเด็นคุณสมบัติรัฐมนตรี ได้จัดกลุ่มไว้ 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม 3 ป. ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 2.กลุ่มรัฐมนตรีที่มีคดีค้างเก่า ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์, นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ 3.กลุ่มผู้ต้องหาคดีกบฏ ประกอบด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ 4.กลุ่มถือหุ้นสื่อ ประกอบด้วย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน, นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


          ศักดิ์สยาม-รมช.เข้ากระทรวงคมนาคม
          เมื่อเวลา 09.09 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เดินทางเข้ากระทรวงคมนาคมเป็นวันแรก เมื่อเดินทางมาถึงได้ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อาคาร 1 โดยทั้ง 3 รัฐมนตรีมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายผู้มารอต้อนรับ นำโดย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในกระทรวงคมนาคม รอต้อนรับอย่างอบอุ่น ก่อนที่ทั้ง 3 รัฐมนตรีจะเดินมายังบริเวณอาคารสโมสร ทำพิธีสักการะ “พระพุทธคมนาคมบพิธ” พระพุทธรูปประจำกระทรวงคมนาคม


          จากนั้นสักการะ “พระภูมิชัยมงคล” ประจำกระทรวงคมนาคม หรือคนกระทรวงคมนาคมเรียกกันว่า “พ่อปู่” และสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ที่อาคาร 2 ชั้น 4 รวมทั้งสักการะกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยนายศักดิ์สยามกล่าวสั้นๆ ว่า “วันนี้อากาศดี…ตอนแรกคิดว่าจะมีมรสุมซะแล้ว”


          “เทวัญ” เข้าทำเนียบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์​
          เมื่อเวลา​ 07.30​ น.​ ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า​ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (ชพน.)​ พร้อมด้วยผู้บริหาร และ ส.ส.พรรคชาติพัฒนาอาทิ นายดล เหตระกูล เลขาธิการพรรค นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา ผู้อำนวยการพรรค น.ส.เยาวภา บุรพลชัย โฆษกพรรค​ นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา ได้เดินทางเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นวันแรก โดยได้สักการะศาลพระพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนลงมาสักการะศาลพระภูมิเจ้าที่และศาลตายาย


          นายเทวัญให้สัมภาษณ์ว่า​ การเข้าทำงานที่ทำเนียบในวันนี้​ถือฤกษ์สะดวก​ ถือว่ามาทำงานเพื่อประเทศ​ จึงได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์​ที่ทำเนียบ ถือเป็นธรรมเนียม​ปฏิบัติ​ ส่วนเรื่องการแบ่งงานนั้น​ ยังไม่ได้พูดคุยหารือแต่อย่างใด​ แล้วแต่นายกรัฐมนตรี​จะมอบหมาย​ และไม่ว่าจะได้ดูแลงานส่วนใด​ ตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด​ อย่างไรก็ตามในที่ประชุม ครม.​นัดแรก​ พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำให้การทำงานของรัฐบาลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะวันนี้รัฐบาลมีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค​ จึงต้องทำงานในรูปแบบเดียวกันตามนโยบายรัฐบาล​ ซึ่งนายกฯ ต้องการให้ ครม.ทุกคนทำงานให้ดีที่สุดอย่างเต็มที่​ และด้วยความซื่อสัตย์​ ซึ่งนายกฯ เน้นในจุดนี้​ มั่นใจว่า​ถึงแม้รัฐมนตรีจะมาจากหลายพรรคการเมือง​ ก็จะทำงานร่วมกันเต็มที่​ ไม่น่ามีปัญหาอะไร


          ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมจะอภิปรายการทำงานของ ครม.นั้น​ เชื่อว่าในปัจจุบั​นทุกคนจะพยายามทำงานอย่างเต็มที่ตามที่นายกฯ มอบหมายและย้ำให้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์​สุจริต​ ส่วนการจะซักฟอกก็เป็นไปตามกติกาปกติในระบบรัฐสภา​ เมื่อถามว่า​ ส่วนตัวเตรียมพร้อมอย่างไร​ นายเทวัญกล่าวว่า​ คงไม่ต้องเตรียมพร้อมอะไร​ เพราะยังไม่ได้เริ่มงาน​ เลยไม่ทราบว่าจะต้องเตรียมพร้อมขนาดไหน​ ตอนนี้เตรียมพร้อมอย่างเดียวคือจะทำงานให้เต็มที่​


          สองรมช.มหาดไทยเข้าทำงาน
          เมื่อเวลา 08.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย เดินทางเข้ากระทรวงเป็นวันแรกก่อนเข้าปฏิบัติงาน โดยได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง ประกอบด้วย ศาลพระชัยมงคล ศาลพระกาฬไชยศรี พระอนุสาวรีย์กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการระดับสูง ต้อนรับ


          จากนั้นเวลา 09.00 น. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ได้เดินทางเข้ากระทรวง สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง ประกอบด้วย ศาลพระชัยมงคล ศาลพระกาฬไชยศรี พระอนุสาวรีย์กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการระดับสูง รอต้อนรับอย่างอบอุ่นเช่นกัน


          “นิพนธ์” ลั่นไม่ใช่คนใหม่ที่ มท.
          นายนิพนธ์กล่าวถึงแนวทางการทำงานว่า คงต้องรอให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มอบหมายงานก่อน ว่าจะได้รับผิดชอบหน่วยงานใด ส่วนจะขอรับผิดชอบกรมปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่นั้น ท่านมอบหมายให้ทำหน้าที่อะไร ก็ทำได้ทั้งนั้น เพราะตลอดระยะเวลาที่เป็น ส.ส.มากว่า 22 ปี ไปทำงานท้องถิ่น 6 ปีนั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ เพราะเคยมีส่วนเป็นฝ่ายอำนวยการของอดีต รมว.มหาดไทย ถึง 2 คน คือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ กับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน และยังเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทยมา ดังนั้น จึงไม่ใช่คนใหม่ของกระทรวงมหาดไทย


          ‘มท.1’ควง2รมช.ล่องเรือตรวจสร้างเขื่อน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมา พล.อ.อนุพงษ์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ และนายทรงศักดิ์ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร และการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลอง โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายสรุปความคืบหน้าการก่อสร้าง


          จากนั้นได้ลงเรือจากท่าเรือวัดเทวสุนทรไปยังท่าเรือวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปถึงความก้าวหน้าการสร้างเขื่อนระยะที่ 1 รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการก่อสร้างบ้านมั่นคง และแนวทางการจัดการที่อยู่อาศัยของประชาชนบริเวณริมคลอง


          พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งตามแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ที่ทางสำนักการระบายน้ำ กทม. และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 36 ถือว่าเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ เป้าหมายนอกจากการพัฒนาลำคลองเปรมประชากรแล้ว ยังจัดระเบียบบ้านริมคลองให้เป็นที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคง สำหรับโครงการบ้านมั่นคงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการจัดที่อยู่อาศัย อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจกับบ้านเรือนประชาชนรุกล้ำ ขณะที่ปัญหาขยะขอย้ำว่าเป็นสิ่งที่ต้องดูแลต่อเนื่อง รวมถึงวางระบบป้องกันน้ำเสีย ที่จะต้องดำเนินการหลังการฟื้นฟูคลองให้ใสสะอาด


          “จุติ” ถือฤกษ์สะดวกเข้าพม.
          วันเดียวกัน นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เดินทางมาร่วมพิธีประกาศรางวัลเกียรติคุณสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประจำปี 2562 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดพม. เป็นประธานในพิธี


          เมื่อถามถึงกำหนดการเข้ากระทรวงนั้น นายจุติกล่าวว่า จะเดินทางเข้ากระทรวงวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ โดยถือฤกษ์สะดวก ซึ่งจะเข้าไปรับฟังก่อนว่ามีปัญหาและแผนการอะไร สิ่งที่ต้องทำด้วยกันมีอะไรบ้าง ต้องไปด้วยกันทั้งภาคการเมือง รัฐและภาคประชาชน ตนเองมาจากภาคประชาชนก็จะรู้ว่าเขาต้องการอะไร ก็จะได้ตั้งพิกัดให้กระทรวงเดินไปตามทาง


          อนุทินฟิตชูปลดล็อกกัญชาหวังอสม.แบ่งเบา
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข กล่าวหลังการประชุมร่วมกับนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และคณะผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข ถึงทิศทางการทำงานต่อจากนี้ว่า ดีใจที่ข้าราชการในกระทรวงต้อนรับอย่างอบอุ่น จากนี้ตนและข้าราชการในกระทรวงต้องทำงานอย่างเต็มที่ สำหรับเรื่องนโยบาย ได้คุยกันเบื้องต้น เข้าใจกันเป็นอย่างดี แต่ในรายละเอียดเชิงลึกต้องรอให้แถลงนโยบายเสร็จก่อน จึงหารือแผนปฏิบัติการ สำหรับการทำงานต้องบูรณาการส่งเสริมกัน สิ่งที่เป็นประโยชน์ ต้องผลักดัน สำหรับนโยบายกัญชาได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ ส่วนเรื่องนโยบายทางการแพทย์ อะไรที่เป็นอุปสรรคกับเรื่องกัญชาจะขจัดให้หมดไป พร้อมประสาน ป.ป.ส.แก้กฎหมาย และได้มีการพูดคุยกับเลขาธิการ อย. ให้เสนอคณะกรรมการยาเสพติด พิจารณาปลดล็อกกัญชงให้สามารถปลูกได้


          ส่วนเรื่องของการสันทนาการ เป็นเรื่องภายในบ้าน ไม่มีใครสามารถเข้าไปควบคุมได้แต่สำหรับข้อห่วงใยของราชวิทยาลัยกุมารและจิตเวชที่กังวลการใช้กัญชานั้น ต้องมีการควบคุมให้เหมือนยา ควรใช้กับใครอย่างไร ไม่อยากให้มองเฉพาะตัวกัญชา แต่ควรมองเรื่องสารสำคัญที่ได้ สารสกัดทีเอชซีควรใช้ในวงจำกัด ส่วนสารซีบีดีก็ควรนำไปใช้ให้เหมาะสม ส่วนการให้ อสม.นำร่องปลูกกัญชา 6 ต้น อยากให้มองเป็นเรื่องสมุนไพรใช้รักษาโรคในบ้าน เช่น การช่วยเจริญอาหาร ไม่ต้องมีการซื้อขาย หรือพกออกนอกบ้าน โดยต้องพัฒนาการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุขดีขึ้น ปัญหาคนไข้เยอะ เมื่อได้ อสม.มาช่วย ก็จะแบ่งเบาภาระหมอ พยาบาล ไปได้มาก ในส่วนของกัญชา เรามุ่งเน้นในเรื่องทางการแพทย์ หวังให้เป็นยา อยู่ในบัญชียาหลัก ผู้ป่วยเข้าถึงได้ ภายใต้การแนะนำของแพทย์ จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและของรัฐ


          ‘จุรินทร์’จ่อมอบ 4 นโยบายเร่งด่วนขรก.
          เวลา 09.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.พาณิชย์ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เดินทางเข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการในกระทรวงพาณิชย์วันแรก โดยข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์มารอต้อนรับ และพา 2 รัฐมนตรีใหม่ของกระทรวงพาณิชย์สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง หลังจากนั้นจะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป


          ต่อมา นายจุรินทร์ ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมร่วมกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ว่างานเร่งด่วนที่จะมอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์มี 4 เรื่องสำคัญ คือ การประกันรายได้ให้เกษตรกรซึ่งบรรจุอยู่ในวาระเร่งด่วน เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นจะนำนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรในส่วนของสินค้าข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาลคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรต่อไป


          นอกจากนี้จะเข้ามาดูแลเรื่องภาคการส่งออก ซึ่งขณะนี้ยังไม่อยากพูดว่าเป็นห่วงสถานการณ์ส่งออกหรือไม่ เพราะขอทำงานร่วมกับภาคเอกชนก่อน พร้อมทั้งเข้ามาควบคุมราคาสินค้าและบริการเพื่อดูแลค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์มีกฎหมายที่จะดูแลในส่วนนี้อยู่แล้วขณะที่งานเร่งด่วนเรื่องสุดท้ายคือ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ยังค้างคาจะเริ่มต้นผลักดัน เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)


          ยังวุ่นไม่มีรมต.เกษตรฯนั่งห้องด้านใน
          ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ยังมีความวุ่นวายเรื่องห้องทำงาน รมช.เกษตรฯ โดยทีมรัฐมนตรีเกษตรฯ 4 คน จาก 4 พรรคการเมือง พร้อมทีมงานจากพรรคและทีมงานจากพื้นที่กว่า 100 คน เข้ามาดูห้องทำงาน ปรากฏว่ามีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับได้หมด ซึ่งยังต้องมีทีมงานในส่วนกรมต่างๆ มานั่งหน้าห้องคอยป้อนข้อมูลให้แก่รัฐมนตรีแต่ละคนด้วย โดยมีการสั่งปรับปรุงห้องทำงานของอดีตทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ให้แก่ทีมงานของ รมว.เกษตรฯ ซึ่งมีอยู่ 5-6 ห้อง บริเวณชั้น 2 ตึก 2 ในส่วนห้องของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ได้จัดใหม่โซนปีกขวาของกระทรวง ยุบรวมห้อง 135-136 เพื่อรับทีมงานจาก จ.อุทัยธานี ได้มากขึ้น


          ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ จากที่จะใช้ห้องทำงานทางตึก 2 ที่อยู่หลังตึก 1 ได้เปลี่ยนใจเดินดูห้องต่างๆ ด้วยตนเอง และจะใช้ห้อง 136-138 บริเวณชั้น 3 ตึก 1 ซึ่งเดิมทำเป็นวอร์รูมติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยเจ้าหน้าที่เร่งถอดจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ โต๊ะประชุม อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีติดตามสถานการณ์พืชผลเกษตร เพื่อปรับปรุงตกแต่งใหม่เป็นห้องทำงานของ ร.อ.ธรรมนัส และทีมงานจาก จ.พะเยา จะใช้ห้องส่วนต่อขยายตึก 3 ซึ่งนายนิกร จำนง ที่ปรึกษานายธีระ วงษ์สมุทร อดีต รมว.เกษตรฯ เคยใช้ห้องนี้ โดยการปรับแต่งทุกห้องจะเสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์


          ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า ยังไม่รู้ปัญหาเรื่องห้องทำงานจะจบหรือไม่ เพราะรัฐมนตรีแต่ละคนมาจากคนละพรรค การที่จะอยู่โซนเดียวกันคงไม่ได้ อีกทั้งไม่มีใครยอมนั่งห้องด้านในหรือด้านหลังของรัฐมนตรีต่างพรรค เพราะจะทำให้ถูกบดบังรัศมี บารมีลดลง ตามหลักฮวงจุ้ยที่ไม่ว่ารัฐมนตรีสมัยรัฐบาลใดจะถือกันมากในเรื่องทิศทางห้องทำงาน ถ้าส่งพลังงานที่ดีด้านการทำงานก็จะมีความโดดเด่น เพราะกลัวจะเป็นรัฐมนตรีโลกลืม


          “พุทธิพงษ์”เข้าสักการะท้าวมหาพรหม
          ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงดิจิทัลเ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ