ข่าว

งัดหลักฐาน ป.ป.ช. ตัดแต่งคำให้การพยานคดีบ้านเอื้ออาทร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัฒนา ซัด ป.ป.ช. ปกปิดหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ของตนในคดีบ้านเอื้ออาทร

 

               นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า ได้พบข้อพิรุธของ ป.ป.ช. ในการทำสำนวนฟ้องร้องคดีบ้านเอื้ออาทร โดย ป.ป.ช. ได้ตัดต่อคำให้การของพยานในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง ส่งผลให้คำให้การของพยานที่ ป.ป.ช. ยื่นต่อศาล มีเนื้อหาที่แตกต่างจากบันทึกคำให้การที่พยานเคยให้ถ้อยคำไว้ต่อ คตส. ทั้งยังเป็นการจงใจปกปิดหลักฐานที่แสดงความบริสุทธิ์ของตนเองในฐานะจำเลย อย่างน้อย 5 ประเด็น คือ

 

 

 

               1. ป.ป.ช. จงใจตัดทิ้งถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการเคหะแห่งชาติ คือ นายพิทยา เจริญวรรณ ที่ระบุว่า ประกาศ กคช. เกี่ยวกับ TOR หรือ หลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมดำเนินโครงการเอื้ออาทรของผู้ประกอบการ ที่ตนได้กำหนดไว้เป็นหลักเกณฑ์ ยังคงประกาศใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดว่า ป.ป.ช. ต้องการปกปิดไม่ให้ศาลรับทราบข้อเท็จจริงว่า TOR ในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรี พม. เป็นสิ่งที่ดี และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจในการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษได้ จึงยังมีการนำ TOR ที่กำหนดขึ้นในสมัยตนมาใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ ป.ป.ช. กลับจงใจตัดข้อความของพยานในประเด็นนี้ทิ้งไป ทั้งๆ ที่นายพิทยาได้พูดย้ำถึงสองครั้งว่า TOR ของตนยังไม่ได้ถูกยกเลิก ในบันทึกคำให้การต่อ คตส.

               2. ป.ป.ช. จงใจตัดทิ้งถ้อยคำที่เจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ คือ นายพรศักดิ์ บุณโยดม ยืนยันว่า การเคหะเป็นผู้ดำเนินการจัดการประชุม เพื่อให้ศาลเข้าใจว่า ตนในฐานะรัฐมนตรี พม. ในขณะนั้น ได้เรียกผู้ประกอบการมาพูดคุยส่วนตัวเรื่องผลประโยชน์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกล่าวหาของ คตส ที่อ้างว่า ตนเรียกรับผลประโยชน์ต่อหน้าที่ประชุม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วพยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติก็เป็นผู้ยืนยันว่า การประชุมทั้ง 3 ครั้ง เป็นการประชุมที่การเคหะแห่งชาติจัดขึ้น และมีเจ้าหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติเข้าร่วมประชุมด้วย จะเป็นไปได้อย่างไรที่ตนจะเรียกรับสินบนกลางที่ประชุม ไม่มีคนปกติที่ไหนจะเรียกรับสินบนอย่างเปิดเผยเช่นนี้ นอกจากนี้ ยังมีข้อพิรุธอีกด้วยว่า เอกสารบันทึกคำให้การของนายพรศักดิ์ไม่มีลายเซ็นกำกับ จำนวน 8 แผ่น จึงน่าสงสัยว่าอาจเป็นเอกสารที่สอดไส้เข้ามาภายหลังเพื่อเปลี่ยนแปลงคำให้การของพยาน เพราะคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว แต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตประธานอนุกรรมการ คตส. ก็ยังพยายามยื่นเอกสารหลักฐานใหม่อีก จำนวน 12 แผ่น เพื่อใช้เล่นงานตนเพิ่มอีก ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลใหม่ที่อยู่นอกคำฟ้อง ตามหลักแล้วจะยื่นเพิ่มเติมทีหลังไม่ได้ ซึ่งการยื่นข้อมูลใหม่นอกสำนวนฟ้องเช่นนี้คล้ายสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชี้ให้เห็นว่ามีความพยายามเล่นงานตนอย่างผิดปกติ

 

 

 

               3. ป.ป.ช. จงใจตัดทิ้งถ้อยคำของนายพิทยา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของการเคหะแห่งชาติ ที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งช่วยราชการอยู่หน้าห้องของตนไม่เคยแทรกแซงหรือสั่งการใดๆ ในเรื่องเกี่ยวกับโครงการบ้านเอื้ออาทร เพียงแค่ทำหน้าที่ประสานและติดตามการทำงานเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับข้อกล่าวหาของ คตส. และ ป.ป.ช. เพราะนายพิทยา ซึ่งเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน โดยที่หน้าห้องของนายวัฒนาไม่เคยไปแทรกแซงหรือสั่งการ แต่ ป.ป.ช. กลับตัดคำให้การเหล่านี้ออก ไม่บันทึกในถ้อยคำที่ยื่นต่อศาล

               4. ป.ป.ช. จงใจตัดทิ้งถ้อยคำของนายพิทยาที่ยืนยันว่า ไม่รู้จักและไม่เคยเห็น นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เข้ามาแทรกแซงหรือสั่งการใดๆ ในลักษณะที่เป็นตัวแทนของตน ในการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับโครงการบ้านเอื้ออาทรเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลเข้าใจว่าตนมีความเชื่อมโยงกับนายอภิชาติ และเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการผ่านนายอภิขาติและพวก

               5. ป.ป.ช. จงใจตัดทิ้งสาระสำคัญต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติให้การในลักษณะยืนยันความบริสุทธิ์ของโครงการเอื้ออาทรว่า การอนุมัติการเข้าร่วมโครงการและการอนุมัติจำนวนหน่วยก่อสร้างให้กับผู้ประกอบการ นั้น เป็นภารกิจภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเคหะฯ ที่เสนอผ่านคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองฯ ซึ่งตนเองแม้จะเป็นรัฐมนตรี ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดได้ เพราะกระบวนการต่างๆ ในการอนุมัติโครงการบ้านเอื้ออาทรมีขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน

 

 

 

               ทั้งนี้ นายวัฒนา มองว่า การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. นั้นส่อเจตนาไม่สุจริตและขาดความน่าเชื่อถือ คิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นเจตนาหาเรื่องทางการเมือง เพราะตนเป็นคู่ขัดแย้งของรัฐบาล โดย ป.ป.ช. จะอ้างไม่ได้ด้วยว่าทำไปเพราะหลงลืม และอย่าอ้างว่าไม่ได้มีเจตนาร้าย เพราะ ป.ป.ช. เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยตรง ย่อมตระหนักดีว่าการตัดต่อสำนวนในลักษณะนี้จะส่งผลอย่างไรต่อรูปคดี แสดงว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์และจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะหวังผลทางคดี แต่ความที่ตนก็เป็นนักกฎหมายเช่นกัน จึงต้องอ่านเอกสารหลักฐานอย่างละเอียด เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของตนเอง ถ้าเป็นคดีของคนอื่นซึ่งไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย โดนยัดไส้สำนวนเข้ามาแบบนี้จะทำอย่างไร ซึ่งก็ไม่ทราบว่า ป.ป.ช. เคยทำแบบนี้มากี่คดีแล้ว เพราะแบบนี้ใช่ไหม คดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ป.ป.ช. จึงมีผลการตัดสินที่ค้านสายตาประชาชน เช่น กรณีนาฬิกา 22 เรือน ที่เอาผิดใครไม่ได้ ทั้งๆ ที่คนทั้งสังคมเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นคดีของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล กลับโดนลงโทษอย่างหนัก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ สังคมจะยิ่งเสื่อมศรัทธาการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองและยอมทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหากเป็นใบสั่งของผู้มีอำนาจ

 

 

 

               "การบิดเบือนคดีในลักษณะนี้ จะโทษการใช้ดุลยพินิจของศาลไม่ได้ เพราะมันผิดตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรมแล้ว คือ ตั้งแต่การบิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำสำนวนคดี ทำให้ศาลท่านต้องวินิจฉัยไปตามสำนวนเหล่านั้น คดีของตนเป็นหนึ่งในหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่าการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. มีปัญหา และควรต้องแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งใครต่อใครได้อีก"

               นายวัฒนา ระบุว่า จะนำพยานหลักฐานดังกล่าวยื่นต่อศาลเพื่อร้องขอให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช. เพราะการตรวจสอบของ คตส. และ ป.ป.ช. ไม่ได้อยู่บนหลักนิติธรรม แต่เป็นการตรวจสอบเสมือนปฏิบัติกับศัตรูที่ต้องกำจัดให้พ้นทาง ไต่สวนโดยมุ่งหมายจะเอาผิดโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจถึงขนาดข่มขู่พยานและบังคับให้พยานให้การตามคำแนะนำของผู้สอบสวน ส่วนประธานอนุกรรมการไต่สวน คตส. ก็เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับตน ในขณะที่ ป.ป.ช. ก็ดำเนินการไต่สวนโดยอคติและเลือกปฏิบัติทำตัวเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับผู้มีอำนาจที่อยู่ตรงข้ามกับตน ที่สำคัญ เคยยื่นขอความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช. แต่กลับได้รับคำปฏิเสธจาก ป.ป.ช. ว่าไม่ได้มีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมนายวัฒนา ดังนั้น ตนจึงต้องร้องขอความเป็นธรรมจากศาลในครั้งนี้แทน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ