ข่าว

จับรุมยำ จ่านิว ไม่ได้ บิ๊กตู่ ให้ท้ายคนตี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวทียุติความรุนแรง เสนอ รัฐ เร่งเปิดเผยความจริง - จับคนร้ายลงโทษ แนะ ขีดเส้นเคลียร์คดีจ่านิว เตือน รัฐบาลประยุทธ์ มีอันเป็นไป

 

               สมาคมนักข่าวฯ 6 กรกฎาคม 2562  คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนา เรื่อง ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยมีน้กการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อเสนอทางออกต่อการยุติการใช้ความรุนแรงกับนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งรายล่าสุด คือ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งถูกบุคคลรุมทำร้าย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา

 

 

 

               นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์​โอชา นายกฯ ฐานะนักปกครองต้องปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง ต่อการรณรงค์ยุติความรุนแรงกับประชาชน เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับฝ่ายใด ส่วนกรณีที่เกิดกับนายสิรวิชญ์ ตนมองว่า นายกฯ ทำเหมือนขอไปที เพราะไม่มีความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงกลัวจะจับคนร้ายได้ เพราะกังวลจะสืบสวนถึงรายละเอียดบุคคลที่เกี่ยวข้องและต้องอธิบาย ดังนั้น เพื่อให้เห็นการดำเนินคดีเป็นรูปธรรม นายกฯ ต้องสั่งการว่าต้องทำให้เสร็จภายในกี่วัน หากเกินกรอบเวลาจะสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงปลดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ทันที

               “รัฐมีหน้าที่ให้ความปลอดภัยประชาชน คนที่เป็นหัวแถวของรัฐไม่ควรนั่งตำแหน่ง นายกฯ​ ต่อไป ที่ผ่านมา ผมมองว่ามากไปต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พบชนวนรัฐบาลเผด็จการที่มีอันเป็นไปก่อนมาจากเรื่องบังเอิญที่คนรับไม่ได้ เช่น เหตุการณ์ทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ผู้นำล่าสัตว์ป่า หรือ เหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งผู้นำเสียสัตย์เพื่อชาติ เป็นต้น กรณีของจ่านิว หากจับใครไม่ได้ เหตุการณ์อาจจะพลิก เพราะ พล.อ. อาจจะไปกับจ่าก็ได้ ดังนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ อยากอยู่นานต้องจับคนร้ายให้ได้ ไม่ใช่ให้ท้ายคนที่ตี”

 

 

 

               นายโคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล ให้ข้อเสนอแนะต่อการยุติความรุนแรงในสังคม คือ กระจายอำนาจ , ลดความรุนแรงและสร้างความเกลียดชังผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กรณีที่เกิดขึ้นกับนายสิรวิชญ์ ตนสนับสนุนให้รัฐบาลและตำรวจเร่งรัดหาคนร้ายตัวจริงมาดำเนินคดีด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อการส่งสำนวนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงต้องไม่ล่าช้าที่อาจถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าคนร้ายที่ทำร้ายนายสิรวิชญ์นั้นมีคนใหญ่อยู่เบื้องหลัง

               “ผมเห็นใจรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แม้จะเป็นเรือเหล็ก แต่ระวังจะอับปาง เพราะมีคำพังเพยของยุโรปเคยเตือนไว้ว่า ศัตรูใดไม่ร้ายเท่ากับศัตรูภายใน พร้อมยกตัวอย่างการเกิดสนิมจากเนื้อในเหล็ก อย่างไรก็ตาม ผมคาดหวังว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่ดูแลประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่สร้างประเด็นที่ทำให้ฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมืองเพิ่มความเกลียดชัง ทั้งนี้ ผมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลจะอยู่ได้ อย่างน้อยต้องยอมรับความเห็นต่างทางการเมืองอย่างเปิดกว้าง โดยไม่ทำตัวเป็นตาแป๊ะที่คอยชี้นิ้วสั่ง”​

               นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การใช้ความรุนแรง และการคุกคามต่อคนที่เห็นต่าง ผ่านการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเคารพและอดทนกับบุคคลที่เห็นต่างของคนในสังคมลดลงมากขึ้น ซึ่งผลลัพท์ที่เกิดขึ้น คือ การเพิ่มความเกลียดชังของคนในสังคม ขณะที่หน่วยงานภาครัฐไม่มีแนวทางป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากการไม่ยอมรับความเห็นต่าง อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญบัญญัติเนื้อหาว่าด้วยการสร้างหลักประกันด้านการแสดงความคิดเห็นของตนเอง หากไม่ละเมิดสิทธิ์ของบุคคลอื่น แต่ยังพบนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เห็นต่างจากรัฐและตรวจสอบรัฐถูกทำร้าย

 

 

 

               “รัฐบาลต้องเริ่มกระบวนการที่ยุติการสร้างความเกลียดชัง หรือก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง เพราะกระบวนการดังกล่าวยากเกินกว่าปัจเจกบุคคลจะดำเนินการ ทั้งนี้ การยุติสร้างคำพูดจากความเกลียดชังทำได้ โดยการเปิดเผยข้อเท็จจริงในแต่ละเหตุการณ์ของความรุนแรง ทั้งแรงจูงใจ ใครคือคนกระทำผิด และคนทำผิดต้องถูกลงโทษ”

               นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงที่วัดปทุมวนาราม กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดกับประชาชน รัฐต้องรับผิดชอบ จากเหตุการณ์ของนายสิรวิชญ์ ผ่านมา 1 สัปดาห์ กระบวนการสืบสวนของตำรวจขาดการแถลงรายละเอียด ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และมีนักเคลื่อนไหวรวมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองระบุร่วมกันว่ากรณีของนายสิรวิชญ์ คือ รัฐ หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามทำเรื่องให้นักเคลื่อนไหวหวาดกลัว ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการทำกิจกรรมของนักศึกษา คือ การแสดงออกที่ต้องการเสนอแนะไปยังรัฐบาล ไม่ใช่การลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐ ส่วนกรณีของ น.ส.กมลเกด ที่ถูกสังหารจากเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านมา 9 ปี มีคนถามว่าจะให้อภัยหรือไม่ แต่ตนมองว่าก่อนจะให้อภัยบุคคลใด คนที่กระทำต่อ น.ส.กมลเกด นั้นควรขอโทษและยอมรับผิดก่อน โดยเฉพาะคนที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ทั้ง พล.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ฐานะโฆษก ศอฉ. และ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตกรรมการ ศอฉ.

 

 

 

               “การเรียกร้องโดยสันติวิธีของประชาชนถูกดำเนินคดี แม้ นายกฯ บอกว่าปกครองประเทศ 5 ปี มีความสงบ เหตุผลที่แท้จริง คือ การสร้างความกลัวกับประชาชน และเมื่อประชาชนไม่กลัว พบเหตุรุนแรงเกิดขึ้นกับประชาชน ขณะที่ นายกฯ กลับเงียบ ดังนั้น ขอเรียกร้องไปยังกระบวนการสืบสวน ตำรวจควรแจ้งความคืบหน้าด้วย”

               พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) กล่าวว่า กรณีที่เกิดกับนายสิรวิชญ์ถือเป็นอาชญากรรมที่สังคมเชื่อว่ามีสาเหตุจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างไรก็ตาม วิธีการสืบสวนของตำรวจต้องสืบค้นและตรวจค้น ทั้งนี้ มีข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจออกภาพสเก็ตช์คนร้ายเพื่อให้มีความคืบหน้า แต่รายละเอียดที่สำคัญยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม คือ การติดตามสืบยานพาหนะของคนร้าย รวมถึงติดตามตัวคนร้ายที่มีลักษณะของการรับจ้างมากกว่า ทั้งนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถช่วยให้การสืบและติดตามคดีทำได้ง่ายและรวดเร็ว

               “ผมขอตั้งคำถามไปยังกระบวนการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แม้กระบวนการตีหัวจะป้องกันไม่ได้ ส่วนที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผมมองว่ามีค่าเป็นศูนย์ เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมาไม่มีผลงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรม และหากส่งเรื่องจริงอาจทำให้ตำรวจปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งนี้ การทำงานของเจ้าหน้าที่ล่าสุดคดีดังกล่าวใช้เวลา 1 สัปดาห์ ผมมองว่าขณะนี้ควรมีข้อสรุปและมีหลักฐานเพียงพอต่อการออกหมายจับได้แล้ว”

 

 

 

               นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคม นิด้า และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวโดยเชื่อว่า ความขัดแย้งในสังคมจะขยายความรุนแรงมากขึ้น และเกิดเหตุการณ์ที่สังคมไม่ต้องการ ทั้งนี้ แนวทางที่จะยุติความรุนแรงได้ควรเริ่มจากรัฐแสดงจุดยืนต่อการไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ผ่านการเร่งคดีที่เกิดขึ้นกับนายสิรวิชญ์​เพื่อเป็นสัญลักษณ์เบื้องต้นต่อการแก้ไขปัญหา

               “มาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งทำ คือ ผู้นำทางบริหาร , นิติบัญญัติ และตุลาการ ต้องตระหนักและเห็นภาพให้ชัดว่าความรุนแรงถูกพัฒนาจนกลายเป็นรากเหง้า จากนั้นออกแถลงการณ์ 3 ฝ่ายกับประชาชนเพื่อสร้างทศวรรษต่อการยุติความรุนแรงทุกด้าน รวมถึงไม่สนับสนุนความรุนแรง เพื่อส่งสัญญาณไปยังเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนต่อการฟื้นวัฒนธรรมสมานฉันท์ จากนั้นพรรคการเมืองทุกฝ่ายจับมือร่วมกันคัดค้านการใช้ความรุนแรงเพื่อส่งสารถึงกลุ่มของตนเองให้ยุติการใช้วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังทุกช่องทาง ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวหากขยายผลไปสู่ประชาชนและภาคประชาสังคมรวมถึงทุกฝ่าย จะสร้างความตระหนักร่วมกัน ความรุนแรงจะถูกยับยั้งได้”

 

 

 

จับรุมยำ จ่านิว ไม่ได้ บิ๊กตู่ ให้ท้ายคนตี

 

 

 

จับรุมยำ จ่านิว ไม่ได้ บิ๊กตู่ ให้ท้ายคนตี

 

 

 

จับรุมยำ จ่านิว ไม่ได้ บิ๊กตู่ ให้ท้ายคนตี

 

 

 

จับรุมยำ จ่านิว ไม่ได้ บิ๊กตู่ ให้ท้ายคนตี

 

 

 

จับรุมยำ จ่านิว ไม่ได้ บิ๊กตู่ ให้ท้ายคนตี

 

 

 

จับรุมยำ จ่านิว ไม่ได้ บิ๊กตู่ ให้ท้ายคนตี

 

 

 

จับรุมยำ จ่านิว ไม่ได้ บิ๊กตู่ ให้ท้ายคนตี

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ