ข่าว

ปธ.ศาลฎีกา ชี้ไทยวุ่นวาย เพราะคนไม่ยอมรับกติกา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปธ.ศาลฎีกาเปิดงานสัมมนาบ.ย.ส. ลั่นงานตุลาการทำให้ใครพอใจพร้อมกันไม่ได้ มีแพ้-ชนะแต่ต้องเป็นธรรม ย้ำอดทนไม่ตอบโต้คนวิจารณ์ เตือนต้องยอมรับกติกาไม่เช่นนั้นวุ่นวาย

 

               วันที่ 26 เม.ย.62 ที่ห้องบอลลูม 1 ชั้น 9 อาคารไทยซีซีทาวเวอร์ (Thai CC Tower) เมื่อเวลา 09.00 น. นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง มองกัญชาให้รอบด้าน ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ร่วมกับ ผู้เข้ารับอบรมหลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 23 เป็นผู้จัด

 

 

 

               โดย นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ได้กล่าวเปิดงานว่า การสัมมนาสาธารณะเรื่องของกัญชาให้รอบด้านในวันนี้ สืบเนื่องมาจากการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่แก้ในหลักการและออกข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ในการวิจัยและการแพทย์ไทย นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยจุดหนึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อตอบรับกฎหมายใหม่ฉบับนี้

               ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับใหม่ ทำความเข้าใจหลักการและเหตุผลในการปรับแก้กฎหมาย ผลกระทบและเตรียมความพร้อมในทางปฏิบัติของทุกภาคส่วนเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ร่วมเสวนาและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน

               อย่างไรก็ตาม การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดยผู้ที่รับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงรุ่นที่ 23 มีศาลยุติธรรมเป็นเจ้าของหลักสูตร ซึ่งเดิมทีเดียวตนเข้าใจว่าผู้ร่วมสัมมนาในวันนี้มีเฉพาะผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรเท่านั้นตนก็มีอะไรในใจหลายอย่างที่จะมาพูดกับผู้เข้ารับการอบรม เพราะว่าตั้งแต่เปิดการอบรมในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ตนก็ยังไม่มีโอกาสมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่เมื่อทราบว่าวันนี้มีผู้สนใจอย่างนักวิชาการมามากมาย ความในใจที่อยากจะพูดก็คงพูดไม่ได้เพราะเป็นที่สาธารณะ ยิ่งทราบจากผู้จัดว่ามีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศก็ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น เหตุผลเพราะว่าถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าผู้พิพากษา หรือตุลาการ จะมีวัฒนธรรมที่จะไม่พึงพูดในที่สาธารณะ เราจะไม่ออกความเห็นในเรื่องต่างๆนาๆ แม้ว่าสังคมบางส่วนจะวิพากษ์วิจารณ์เราก็ตาม ศาลยุติธรรมเราจะให้เหตุให้ผลในคำพิพากษาวินิจฉัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษรครบถ้วนหมดแล้ว เราจะไม่มาพูดในที่สาธารณชน แต่ตนก็อยากจะพูดอะไรบางอย่าง แม้ว่าจะมีการถ่ายทอดสดก็ตาม แต่จะพูดด้วยความระมัดระวัง

               หัวข้อมองกัญชาให้รอบด้านนั้นประเทศไทย เราให้ความสำคัญกับกัญชา เนื่องจากมีความรู้ความเข้าใจ ความเชื่อว่ากัญชาจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรค รักษาชีวิตให้อยู่นาน ทุกท่านย่อมทราบว่ามนุษย์เราเกิดมาก็ต้องตาย แค่เรามองกัญชาเป็นยาที่มีประโยชน์กับชีวิตที่จะทำให้ตายช้า ขณะที่มนุษย์เรามีสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องอยู่ 2 อย่าง ก็คือ หมอ กับ ศาล ที่ตนต้องพูดแบบนี้ เนื่องจากในยุคปัจจุบันคนเราเวลาคลอดก็หนีไม่พ้นมือหมอที่โรงพยาบาล สิ่งที่ 2 ที่ทุกคนต้องหลีกเลี่ยงไม่พ้นก็คือศาล จะเห็นว่าทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้หรืออยู่ข้างนอกเมื่อถึงแก่ความตายแล้ว มีสมบัติที่ต้องจัดการมรดกซึ่งจะต้องมีคำสั่งศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก บางคนอาจจะใช้บริการศาลก่อนที่จะตาย

 

 

 

               สำหรับ ศาล เมื่อคนที่เขารู้สึกว่าเขาได้รับความเสียหายโดยการกระทำของใคร ก็จะมาศาลในลักษณะที่เป็นโจทก์ การตัดสินคดีของศาลทุกคดีก็จะต้องมีฝ่ายชนะและฝ่ายใดแพ้ฝ่ายหนึ่ง ทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่าขอความเป็นธรรม อยากได้รับความเป็นธรรมจากศาล ซึ่งความเป็นธรรมของผู้พูดไม่ว่าในฐานะโจทก์หรือจำเลยก็คือเขาจะต้องชนะคดี ศาลไม่สามารถให้ทั้งโจทก์และจำเลยชนะคดีได้พร้อมๆ กัน เมื่อผู้ชนะคดีก็พึงพอใจ ผู้ที่แพ้คดีไม่พึงพอใจก็เป็นเรื่องธรรมดา เราไม่สามารถทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายชนะทั้งคู่ ไม่ว่าศาลที่ไหนในโลกนี้ ซึ่งตนมีโอกาสไปเยือนประเทศต่างๆ ตามคำเชิญของประธานศาลฎีกาแต่ละประเทศ โดยประเทศที่ปกครองในระบอบสังคมนิยม จะเรียกผู้นำศาลว่า ประธานศาลประชาชนสูงสุด ส่วนที่ปกครองโดยทุนนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม ก็มีศาลเป็นผู้ตัดสินคดี เป็นแบบนี้ทั่วโลก มีฝ่ายแพ้-ฝ่ายชนะเหมือนกัน

               ตนอยากเรียนให้ทุกคนที่มาร่วมสัมมนาทราบว่า เมื่อศาลได้มีคำวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง ฝ่ายที่ชนะคดีก็จะมีความพึงพอใจว่าได้รับความเป็นธรรม ฝ่ายที่แพ้คดีก็จะบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และคนเดียวกันเวลาที่มาใช้บริการศาลถ้าชนะคดีก็จะยิ้มออกไปจากศาล แต่ถ้าคนๆนั้นเมื่อมาใช้บริการศาลในคดีอื่นหากแพ้ก็จะเดินออกไปและพูดออกมาดังๆ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ศาลเราก็จะถูกต่อว่าหรือสังคมก็จะกังขาอย่างนี้ตลอด แต่เราไม่มีทางทำเป็นอย่างอื่นได้ เราจะให้ชนะคดีทั้งสองฝ่ายก็เป็นไปไม่ได้

               ศาลเราไม่มีส่วนได้เสียกับใคร ศาลเป็นองค์กรที่ตั้งรับ เราไม่ได้ทำงานในเชิงรุก เราจะทำงานต่อเมื่อมีผู้นำคดีมาฟ้องต่อศาล เราถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ให้ความเป็นธรรม ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่แพ้คดี ทุกครั้งที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ศาล ก็จะมีคำถามตามมาว่า ศาลไม่ทำอะไรหรือมีปฏิกิริยาบ้างหรืออย่างไร หรือว่าไม่รู้ร้อนรู้หนาว สังคมจะเข้าใจผิดเราหรือไม่ ในฐานะที่ตนเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งและในฐานะผู้นำองค์กร ตนก็บอกว่าเราไปโต้ตอบเขาไม่ได้ เขาจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรเราก็ต้องอดทน เราจะพูดอย่างไรคนที่เขาแพ้คดี เขาก็ไม่มีทางเห็นด้วยกับเรา ไม่มีประโยชน์ที่จะไปพูดโต้ตอบ ก็จะกลายเป็นคู่กรณี ซึ่งศาลไม่เคยเป็นคู่กรณีกับใคร เรามีหน้าที่ชี้ขาดให้คู่กรณีที่นำคดีขึ้นมาสู่ศาล เราเป็นผู้ใหญ่ คนที่วิพากษ์วิจารณ์เราเป็นเด็กกว่าเรา คำว่าเป็นเด็กไม่ได้หมายความว่าอายุน้อยกว่าเรา การวัดว่าใครเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้วัดที่อายุ ไม่ได้วัดที่ตำแหน่งหน้าที่ แต่วัดที่ความอดทน ไม่ต้องไปทะเลาะกับเขา

               นายชีพ กล่าวอีกว่า เมื่อใดที่คนมาขึ้นศาล เราก็จะให้ความเป็นธรรมเหมือนกันทุกๆคน ถ้าเราเข้าใจกัน ชีวิตก็ง่าย ทุกๆฝ่ายต่างมีบทบาทหน้าที่ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้เพราะคนไทยเราไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศได้กำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรต่างๆไว้ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ทำอะไร นิติบัญญัติมีหน้าที่ทำอะไร ศาลมีหน้าที่ทำอะไร องค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ทำอะไร ทุกอย่างเขียนไว้ในกฎหมาย แต่คนไทย สังคมไทยเราไม่ยอมรับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ก็ดี ตามที่กฎหมายต่างๆบัญญัติไว้ก็ดี เมื่อเขาได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ถ้าคนไทยเราส่วนหนึ่งไม่ยอมรับแล้วสังคมจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าเราไม่ยอมรับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มันก็ต้องใช้กฎหมายเถื่อน ความป่าเถื่อน ใช้ความพึงพอใจส่วนตัว และสังคมก็จะไม่สงบสุข ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวที่เป็นอย่างนั้น ถ้าติดตามข่าวทั่วโลก ในปัจจุบันแม้ประเทศที่อ้างว่าตัวเองเป็นประเทศที่ศรีวิไลหรือเจริญแล้วเมื่อไม่พอใจรัฐก็ออกมาก่อความวุ่นวายมากมาย ไม่ใช่มีเฉพาะประเทศไทย

               ผมเลยอยากจะฝากตรงนี้ ถ้าเราไม่ยอมรับกติกา ไม่ว่ากติกาใดๆทั้งสิ้น มันก็วุ่นวาย ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับกติกาก็ต้องแก้กติกาก่อน ซึ่งไม่ว่าจะแก้กติกาอย่างไร เมื่อวินิจฉัยหรือตัดสินออกมาแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะพึงพอใจได้ ทุกฝ่ายที่ไหนในโลกนี้ก็เป็นอย่างนี้

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ