ข่าว

"พปชร. - ปชป." ไม่มีทางได้คะแนน "ทษช."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการรัฐศาสตร์ประเมินกระแสสวิงโหวต "ทษช." สู่ "พรรคเครือข่าย - อนค." ให้จับตา "ภท." เก็บตกคะแนน เป็นไปได้ "โหวตโน" จัดเลือกตั้งใหม่

 

               รัฐสภา 8 มีนาคม 2562  นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินถึงผลทางการเมืองหลังจาก พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถูกวินิจฉัยให้ยุบพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ต่อผลการตัดสินใจออกเสียงเลือกตั้ง อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ ของประชาชนในพื้นที่ (สวิงโหวต) ว่า

 

 

 

               มีความเป็นไปได้ใน 2 แนวทาง คือ 1. คะแนนเสียงที่ประชาชนเตรียมเลือกผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ กระจายไปให้กับพรรคที่มีแนวทางไม่อยู่ข้างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างชัดเจน เช่น พรรคตระกูลเพื่อ , พรรคเสรีรวมไทย และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่เลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย และเมื่อมองบุคลิกของพรรคไทยรักษาชาติที่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มีสิทธิ์ได้รับคะแนนส่วนของอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ ขณะที่ พรรคเพื่อชาติ ที่มีบุคลิกเป็นพรรคของคนเสื้อแดงเข้มข้น จึงอาจไม่ตอบสนองความคิดของประชาชนที่เป็นคนรุ่นใหม่

               นางสิริพรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่พบปรากฏการณ์ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน คสช. เช่น พรรคภูมิใจไทย ที่ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ประกาศจุดยืนไม่ร่วมงานกับทหาร หรือพรรคพลังประชารัฐนั้น เป็นกลยุทธ์สร้างโอกาสและตัวเลือกให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อยู่ในฐานของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีจุดยืนไม่รวมขั้วกับรัฐบาลทหารและพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่ากระแสสวิงโหวตจะไม่เปลี่ยนกลับเป็นคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐแน่นอน

 

 

 

               นางสิริพรรณ กล่าวด้วยว่า 2. กรณีของพื้นที่เลือกตั้งที่ฐานคะแนนของอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ เข้มแข็ง เช่น จ.แพร่ ที่เป็นของ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส. แพร่ หรือ พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และไม่มีพรรคเครือข่าย เช่น พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร ส.ส. อาจพบกรณีหรือพฤติกรรมของนักการเมืองในพื้นที่บอกให้ออกไปเลือกตั้ง แต่กาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน (โหวตโน) เพื่อให้คะแนนโหวตโน สูงกว่าคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส. และตามกติกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ จากนั้นพรรคเพื่อไทยอาจส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงแข่งขันได้ ทั้งนี้ การรณรงค์ให้โหวตโน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ระบุให้เป็นความผิด ห้ามกระทำ แต่ในเชิงพฤติกรรมของนักการเมืองย่อมมีความเป็นไปได้โดยไม่ต้องมีกระบวนการทำอย่างเปิดเผย

               "การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม มีประเด็นที่น่าจับตาและขอเรียกร้องให้ กกต. พิจารณาเรื่องนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เขต อย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่เกิน 3 ทุ่ม กกต. ควรประกาศผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการให้สาธารณะรับรู้ เพราะบทบาทของ กกต. ต่อความเป็นกลางในการทำหน้าที่ถูกจับตา" นางสิริพรรณ กล่าว

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ