ข่าว

"FFFE" ชวนจับตาดูการเลือกตั้ง 62

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"FFFE" ชวนจับตาดูการเลือกตั้ง 62 พร้อมชี้แจงความคืบหน้า 7 ข้อเรียกร้อง

 

         3 ก.พ.62-เมื่อเวลา 11.00 น.ได้มีการจัดงานแถลงข่าวกิจกรรมสังเกตการณ์การเลือกตั้งของเครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ หรือ FFFE  (เฟ) ที่ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งนำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง , ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และ นายณัชปกร นามเมือง ตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้ร่วมกันแถลงเพื่อสรุปความคืบหน้าเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องที่ผ่านมาที่ทางเครือข่ายได้ยื่นถึง กกต. พร้อมชี้แจงกิจกรรมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากวันนี้ถึงวันเข้าคูหา และกิจกรรมการสำรวจพฤติกรรมการเลือกตั้งโดยนักศึกษาและนักวิชาการ

         น.ส.ณัฏฐา ได้ชี้แจง สรุปข้อเรียกร้องจากเครือข่าย FFFE ที่ยื่นถึง กกต. ว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน FFFE ได้มีข้อเรียกร้อง ถึง กกต. จำนวน 2 ครั้ง รวมทั้งหมด 7 ประเด็นด้วยกัน คือ

          1. ข้อเรียกร้องเรื่องปลดล็อคการเมือง ที่ได้รับการตอบสนองแล้ว แต่ยังคงมีเงื่อนไขอยู่ เนื่องจากกติกาหลายข้อของกกต. สร้างความยุ่งยากต่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และอาจก่อปัญหาในการจัดการกติกาบางข้อที่มีความหยุมหยิม และอาจมีปัญหาในการตีความ ซึ่งจะได้มีการสื่อสารต่อไป ทั้งยังมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารติดตามนักการเมือง อันเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นอิสระระหว่างหาเสียง 

 

         2. ข้อเรียกร้องเรื่องการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และเสรีภาพสื่อ ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองแล้วบางส่วน โดยมีการยกเลิกคำสั่งบางอย่างที่ละเมิดสิทธิ เช่น คำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่ยังคงอำนาจการนำประชาชนเข้าค่ายทหาร และคงอำนาจในการควบคุมคุกคามสื่อเอาไว้ ซึ่งในส่วนนี้สามารถที่จะเข้าไปดูคำสั่งคสช.ที่ละเมิดสิทธิทั้งหมดได้ในแคมเปญ "ปลดอาวุธ คสช." บนเว็บไซต์ iLaw

            3. ข้อเรียกร้องเรื่องการพิจารณาตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับรัฐบาล คสช. ที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบและไม่เป็นธรรม ซึ่งทางเครือข่ายได้ยื่นเรื่องนี้ไปแล้ว ก่อนที่ทางพรรคพลังประชารัฐจะทาบทามหัวหน้าคสช. ไปเป็นแคนดิเดทนายกฯ จนปัจจุบันได้รับการทาบทามแล้ว รวมถึงเรื่องข่าวที่มีผู้สมัครส.ส.ไปร่วมถ่ายภาพในงานแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และล่าสุดมีข่าวว่ามี Call center โทรถามความเห็นจากประชาชนที่มีต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมฝากพรรคพลังประชารัฐกับประชาชนหากชอบบัตรดังกล่าว แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการตอบสนองใดๆในเรื่องนี้กลับมา

           4.ข้อเรียกร้องเรื่องการผลักดันให้รัฐบาล คสช. ลดบทบาทลงให้เท่ากับรัฐบาลรักษาการ ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองกลับมา จนปัจจุบันได้เกิดแฮชแท็ก #มึงมาไล่ดูสิ ที่ติดเทรนด์อันดับ 1 บนทวิตเตอร์เมื่อไม่นานมานี้ ก็ยังไม่มีการตอบรับใดๆ

           5. ข้อเรียกร้องเรื่องการให้รัฐบาลคสช. หยุดแทรกแซงการดำเนินงานของกกต. ที่มีการแทรกแซงที่เด่นชัดให้เห็น ทั้งเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ว และการเลื่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

            6. ข้อเรียกร้องเรื่องการผลักดันให้แก้กฎหมาย เพื่อให้การกำหนดหมายเลขผู้สมัครเป็นแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะอาจสร้างความสับสนได้ ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อความสับสนเพิ่มเติมจากการร่นหมายเลข หากมีผู้สมัครที่จับหมายเลขไปแล้วขาดคุณสมบัติ 

           7. ข้อเรียกร้องเรื่องการกำหนดให้มีสัญลักษณ์พรรคในบัตรเลือกตั้ง ที่ได้รับการตอบสนองตามข้อเรียกร้องแล้ว เหตุผลที่ยื่นข้อเรียกร้องนี้ไป เนื่องจาก การที่ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันในแต่ละเขตมีหมายเลขที่ต่างกัน อาจเป็นปัจจัยในการสร้างความสับสนและความเสี่ยงในการเกิดข้อผิดพลาดในการดำเนินการ สรุปคือ ได้รับการตอบสนองจริงๆ เพียงข้อเดียว ส่วนในข้อเรียกร้องอื่นๆ ก็ยังมีความสำคัญต่อสังคมทั้งสิ้น อยากขอให้ช่วยกันผลักดันต่อไป 

         นายณัชปกร กล่าวว่า iLaw ได้ร่วมสังเกตุการการณ์การเลือกตั้งกับ FFFE ผ่านการชวนประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยการติดแฮชแทก #จับตาเลือกตั้ง62 #FFFE เพื่อความปลอดภัยในการโพสต์ข้อมูลในระบบออนไลน์ โดยขอความร่วมมือรัฐอย่าดำเนินคดี เพราะ จะยิ่งทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งที่โปร่งใสนั้น พร่าเลือนไป

          ขณะที่ผศ.ดร.สามชาย ได้กล่าวว่า เราได้ออกแบบแบบฟอร์มสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความหวังให้สังคมไทย เนื่องจากเราถูกแช่แข็งมาหลายครั้ง รัฐประหารมาหลายครั้ง ทำให้ประชาธิปไตยถดถอย จึงเชิญชวนให้ประชาชนมามีส่วนร่วม ที่ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง แต่ยังรวมถึงการติดตามการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้งด้วย โดยทางเราได้ออกแบบระบบสำหรับทุกคนที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้สามารถให้ข้อมูลที่มีความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งได้ตลอด โดยคัดมา 152 เขต ซึ่งเป็นเขตที่มีการเคลื่อนไหว และมีการแข่งขันสูง ซึ่งจะช่วยตรวจสอบการเลือกตั้งได้ ในบรรยากาศที่ไม่ค่อยโปร่งใสเท่าไหร่นัก

          "ข้อมูลของผู้ให้ข้อมูลจะถูกปิดเป็นความลับ ซึ่งหากจะขอข้อมูลเพิ่มทางเราจะติดต่อกลับ รวมทั้งช่วงเวลาก่อน ระหว่างการลงคะแนน จนถึงปิดการลงคะแนนฯ สามารถเข้ามาให้ข้อมูลในระบบได้ตลอดเวลา และยังสามารถเพิ่มรูปลงในระบบ สามารถเขียนข้อเสนอแนะได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดจะปิดเป็นความลับ และเราจะทำออกมาเป็นรายงานการเลือกตั้ง เป็นการวิจัยในเชิงปริมาณ และคาดว่าจะเสนอผลภายหลังไม่เกิน 1 สัปดาห์ จึงขอเชิญชวนทุกท่าน รวมทั้งสถานศึกษา เพื่อเป็นการสอนเรื่องประชาธิปไตยในการเลือกตั้งของสังคมไทยให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี"

           น.ส.ซูรัยยา วาหะ ประธานองค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปัตตานี (2P2D) กล่าวว่า เราเข้าร่วมกับ FFFE เพื่อยืนหยัดความเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกของเราที่จะรับประกันกระบวนการประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับสันติภาพ เช่น การพูดคุยสันติภาพ เราต้องการให้กระบวนการต่างๆ อยู่ในหลักการประชาธิปไตย ส่วนบทบาทของเรากับเครือข่าย FFFE นั้น องค์กรมีนักศึกษาปัตตานี มีการทำคอนเนกชั่น และร่วมทำแบบสำรวจสังเกตุการณ์เลือกตั้งไว้แล้ว และยังมีกิจกรรมที่จะจัดขึ้นเร็วๆนี้ คือ เวทีเสวนาการเมืองที่จะชี้อนาคตประเทศไทย ว่าถ้าฝ่ายอำนาจนิยมได้เป็นรัฐบาลต่อ จะส่งผลอย่างไรต่อปัตตานี และประเทศไทย"

          นายธนวัฒน์ วงค์ไชย ตัวแทนสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ของประเทศ มองว่ากระบวนการเลือกตั้งนี้จะเป็นโอกาส เพื่อสะท้อนเจตจำนงค์ของเราในการเลือกตั้งที่ไม่มีมาตลอด 5 ปี และเพื่อกำหนดอนาคตของตัวเองและของประเทศไทย โดยก่อนการเลือกตั้งสมาชิกของเราจะจัดแคมเปญให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมีกติกาที่เป็นกับดักกลเกมค่อนข้างมาก มีกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อน 

          ดังนั้น นิสิตนักศึกษาควรมีความรู้อย่างเต็มที่ก่อนใช้สิทธิ 1 เสียงครั้งแรก โดยแคมเปญให้ความรู้นี้ จะเปิดตัวในมหาวิทยาลัยทางภูมิภาคก่อน ได้แก่ ม.ขอนแก่น ม.วลัยลักษณ์ ม .เชียงใหม่ และม.บูรพา และจะขยับมาในกรุงเทพมหานครฯ โดยกำหนดการจะประกาศให้ทราบทางเพจต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ