ข่าว

"ทักษิณ" เจอหมายจับใหม่ !! คดีหวยบนดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลฎีกานักการเมืองนัดสอบคำให้การคดีหวยบนดินนำขึ้นพิจารณาใหม่ อดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่มา-ไม่ส่งทนายขอเลื่อนถือว่าปฏิเสธคดี

               25 ก.ค. 61  เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ  องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ออกนั่งบัลลังก์นัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย คดีหมายเลขดํา อม.1/2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 152 , 153 , 154 , 157 ประกอบมาตรา 83 , 84 , 86 , 90 , 91 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 , 4 , 8 , 9 , 10 , 11 กรณีถูกกล่าวหา ร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ 2 ปี 2549 และอดีตผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน ดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค. 46 - พ.ย. 49 โดยมิชอบ

 

 

 

               โดยการนัดพิจารณาวันนี้ สืบเนื่องจาก ป.ป.ช. โจทก์ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีนี้ที่ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2551 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ หลังจากศาลได้สั่งจำหน่ายคดีในส่วนของนายทักษิณ จำเลยที่ 1 ไว้ชั่วคราวก่อน พร้อมออกหมายจับติดตามตัวมาดำเนินคดี เนื่องจากนายทักษิณได้หนีคดี กระทั่งเมื่อปี 2560 มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งมาตรา 28 บัญญัติสาระสำคัญว่า ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาล และมีการออกหมายจับจำเลยแล้วยังไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือน นับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

               โดยวันนี้ผู้รับมอบอำนาจฝ่าย ป.ป.ช. โจทก์ เดินทางมาศาล ขณะที่จำเลยไม่มีผู้ใดมาศาล

               องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้ว เห็นว่า นายทักษิณ จำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ไม่เดินทางมาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยหลบหนี จึงให้ออกหมายจับติดตามตัวอีกครั้งตามขั้นตอนเพื่อมาดำเนินคดี ภายในเวลา 3 เดือน ตามกฎหมาย โดยให้โจทก์ติดตามผลการจับกุมพร้อมรายงานให้ศาลรับทราบด้วย และเมื่อนัดพิจารณาครั้งแรกนี้ ทักษิณ จำเลยไม่มาศาลในการพิจารณา ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ตามมาตรา 33 วรรคสาม

               ขณะที่ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 14 พ.ย. นี้ เวลา 14.00 น. โดยให้ ป.ป.ช. โจทก์ ยื่นบัญชีพยานหลักฐานก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 14 วัน และให้ส่งหมายแจ้งให้จำเลยทราบ หากไม่มีผู้รับให้ปิดหมายต่อไป

 

 

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่คดีหวยบนดินนั้น ศาลฎีกาฯ เคยมีคำพิพากษาในส่วนของกลุ่มคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 52 โดยตัดสินว่า นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง จำเลยที่ 10 นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัด ก.คลัง และประธานบอร์ดกองสลากฯ จำเลยที่ 31 มีความผิดตาม ป.อาญา ม.157 และ 83 ให้จำคุก นายวราเทพ จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ให้จำคุกนายสมใจนึก จำเลยที่ 31 เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 10,000 บาท ส่วนนายชัยวัฒน์ พสกภักดี ผอ.กองสลาก จำเลยที่ 42 กระทำผิด ป.อาญา 157 และ 86 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ ม.11 เป็นความผิดกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดฯ อันเป็นบทหนักสุดตาม ป.อาญา ม.90 ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ประกอบกับพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้คนละ 2 ปี

               อย่างไรก็ดี สำหรับอดีตนายกฯ ทักษิณ นั้นปัจจุบันเมื่อนับรวมคดีวันนี้แล้ว ถูกออกหมายจับในคดีอาญาแล้วถึง 6 หมาย ประกอบด้วย หมายจับติดตามตัวมารับโทษ 1 คดี คือ ที่ศาลฎีกาฯ มีคำตัดสินถึงที่สุดเมื่อเดือน ต.ค. 51 ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 100 (1) วรรคสาม ในคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องจากกรณีที่คุณหญิงพจมาน อดีตภริยา เข้าประมูลซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก 4 แปลง มูลค่า 772 ล้านบาทเศษ จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ก็ถูกออกหมายจับให้นำตัวมารับโทษดังกล่าวภายในอายุความการลงโทษ 10 ปี

 

 

 

               ส่วนอีก 4 หมาย เป็นหมายจับให้ติดตามตัวมาเข้าสู่กระบวนพิจารณา ในคดีที่มีการนำมาพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย ตาม วิ อม.ใหม่ และคดียื่นฟ้องใหม่ ประกอบด้วย 1. คดีหมายเลขดำ อม.9/2551 กล่าวหา เห็นชอบออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

               2. คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 กล่าวหา ร่วมผู้บริหารธนาคาร - เอกชนทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร กว่า 9.9 พันล้านบาท ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2551 และ 2555

               3. คดีหมายเลขดำ อม.40/2561 กล่าวหา เห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ โดยมิชอบ ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องเมื่อเดือน พ.ค. 61 ที่ผ่านมา

               4. คดีหมายเลขดำ อม.3/2551 กล่าวหา ปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท เอื้อประโยชน์ธุรกิจกลุ่มชินคอร์ปฯ ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง ตั้งแต่ปี 2551

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ