ข่าว

สนช.โหวตไม่รับบัญชี กสทช.ชุดใหม่ 8 คนขาดคุณสมบัติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช.ประชุมลับ 5 ชม.พิจารณารายงานสอบประวัติ บุคคลเสนอเป็น กสทช. ก่อนใช้มติที่ประชุมข้างมาก ตีกลับบัญชีรายชื่อทั้งหมด เหตุพบมีผู้เสนอชื่อ 8 ราย มีลักษณะต้องห้าม

 

           19 เม.ย.61-ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติไม่รับรายชื่อของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ชุดใหม่  ทั้งสิ้น 14 คน ตามบัญชีที่คณะกรรมการสรรหาเสนอต่อที่ประชุมสนช.หลังจากที่พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กรรมการ กสทช.

  

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมลับดังกล่าว ได้พิจารณาส่วนของการตรวจสอบประวัติ และมีข้อขัดแย้งจนถึงขั้นต้องพักประชุมระหว่างการประชุมลับ ทำให้ใช้เวลาประชุมลับนานกว่า 5 ชั่วโมงก่อนจะกลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง โดยยังไม่สามารถลงมติตามวาระให้ความเห็นชอบหรือไม่ได้ เพราะยังมีสมาชิก สนช. เห็นว่า บุคคลที่ถูกเสนอชื่อมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กสทช. (ฉบับที่2) พ.ศ.2560

 

                โดยนายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายพร้อมเสนอญัตติให้ที่ประชุมพิจารณาว่าไม่ควรเลือก บุคคลตามบัญชี กสทช. ที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ  เพราะมีบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ ทั้งสิ้น 8 คนเข้าข่ายขัดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. กสทช. มาตรา 7 เพราะเป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกสทช. ในระยะเวลา 1 ปีก่อนได้รับคัดเลือก ตามที่รายงานของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ เสนอ ซึ่งตนมองว่าหากที่ประชุมลงมติเลือก อาจเกิดปัญหาภายหลัง

 

                "ตามกฎหมายที่กำหนดให้ สนช. ต้องเลือก เพราะได้รับบัญชีรายชื่อมา แต่ตอนนี้มีบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ โดยบางด้านขาดคุณสมบัติเพียง 1 คน แต่บางด้านขาดคุณสมบัติทั้ง 2 คน หากจะเลือกบุคคลเหล่านั้นที่ขาดคุณสมบัติ อนาคตอาจมีประเด็นฟ้องร้องได้ แต่หากสนช. เดินหน้าเลือกแต่มีเสียงที่งดออกเสียงหลักร้อย แต่เสียงเห็นชอบมีแค่ 10 เสียงจะมีคำอธิบายต่อสังคมอย่างไร เพื่อให้การทำงานสนช. ที่รอบคอบถูกต้องตามกฎหมาย ต้องเสนอให้ที่ประชุมไม่เลือกบุคคลที่เสนอชื่อตามบัญชีที่รับมา" นายสมชาย อภิปราย   

           

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญัตติที่เสนอดังกล่าว ถูกท้วงติงจากสมาชิก สนช. ทั้ง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ , นายตวง อันทะไชย ว่าการเสนอดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะเท่ากับใช้มติของสนช. หักล้างบทบัญญัติของกฎหมายอีกทั้ง ตามพ.ร.บ.กสทช. กำหนดว่าเมื่อสนช. ได้รับบัญชีรายชื่อจากกรรมการสรรหาแล้ว ต้องลงมติเลือกเท่านั้น

 

             อย่างไรก็ตามเมื่อการอภิปรายยุติลง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ขอให้ที่ประชุมลงมติในญัตติดังกล่าวผลปรากฎว่า เสียงข้างมากของ สนช.  118 เสียงเห็นควรไม่รับบัญชีรายชื่อผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็น กสทช. ที่กรรมการสรรหาเสนอ ขณะที่เสียงไม่เห็นด้วย 25 คนและงดออกเสียง 20 เสียง

 

             ทำให้การพิจารณาในวาระดังกล่าวต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ โดย จากนี้ สนช. ต้องส่งบัญชีรายชื่อทั้งหมด กลับไปยังกรรมการสรรหา เพื่อให้เริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด โดยบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนยังมีสิทธิ์ที่จะกลับเข้าสมัครและรับการสรรหาได้อีก

 

             ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าสำหรับรายชื่อตามบัญชีที่เสนอจากกรรมการฯ มีทั้งสิ้น 14 คน ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง จำนวน 2 คน ได้แก่ พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการไซเบอร์ ศูนย์ไซเบอร์ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม , นายธนกร ศรีสุขใส ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. , 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ , พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์ อดีตรองผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ นายอธิคม ฤกษ์บุตร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการบริษัท พรีไซซ ซีสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด, 4.ด้านวิศวกรรม ได้แก่ พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. , พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน  ประธานอนุกรรมการเทคโนโลยีวิศวกรรมและแก้ปัญหาการรบกวนวิทยุการบิน กสทช.

 

             5.ด้านกฎหมาย ได้แก่ นายมนูภาน ยศธแสนย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 สำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช., 6. ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ นายภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. , นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย, และ7. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์ ที่ปรึกษาประจำ กสทช.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ