ข่าว

กมธ.การเมือง สนช. ชงร่างพ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมอาญาฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“กมธ.การเมือง สนช.” ชง ร่างพ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมอาญาฯ ตั้ง กก.รวบรวมเหตุการณ์ชุมนุมปี 48 - 22 พ.ค.57 ให้อำนาจออกคำสั่งเรียกบุคคล-พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

          คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ได้ยกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ.... ซึ่งมีทั้งสิ้น 33 มาตรา มีเนื้อหาสำคัญ คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จำนวน 11 คน ซึ่งคณะกรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ ไม่เป็นการสมาชิกรัฐสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น เป็นหรือเคยเป็นกรรมการพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสามปีก่อนดำรงตำแหน่ง 3.เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะมีการรอการลงโทษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ไม่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือในระหว่างถูกกล่าวหาหรือถูกดำเนินคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เป็นต้น                  

          ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนั้นให้มีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรม และการเยียวยา เสนอแนะแนวทางและความเห็นในการอำนวยความยุติธรรมและการเยียวยาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) รัฐสภา ศาล องค์กรอัยการ และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง ออกคำสั่งเรียกข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลที่เห็นสมควรมาให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ออกคำสั่งให้บุคคลหรือหน่วยงานใดส่งสำนวนการสอบสวนหรือสำนวนการไต่สวนในคดีอาญา พยานหลักฐาน เอกสาร หรือวัตถุใดที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลหรือหน่วยงานนั้น เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ                  

          นอกจากนี้ ในมาตรา 18 ได้กำหนดให้คณะกรรมการดำเนินการ (1)รวบรวมข้อเท็จจริงและข้อมูลคดีเกี่ยวกับการกระทำที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 22 ต.ค.2557 ที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชน และจะต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เสียหาย ผู้ถูกดำเนินคดีอาญา เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และห้ามเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นคณะกรรมการจะมีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (2)กำหนดหลักเกณฑ์การจำแนกคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยต้องคำนึงถึงความร้ายแรงของความผิด ความได้สัดส่วนของการกระทำ รวมทั้งผลกระทบต่อชาติและประชาชนด้วย โดยจะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้แต่งตั้ง (4)ดำเนินการจำแนกคดีอาญาตามหลักเกณฑ์ และกำหนดมาตรการอำนวยความยุติธรรมที่จะใช้กับผู้ถูกดำเนินคดีอาญาแต่ละรายตามเหตุผลหรือเงื่อนไขที่เหมาะสมกับประเภทของการกระทำและความผิด (5)เสนอข้อมูลการจำแนกคดีอาญาและความเห็นในการใช้มาตรการในการอำนวยความยุติธรรมกับผู้ถูกดำเนินคดีอาญาแต่ละรายต่อพนักงานอัยการหรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดี โดยการเสนอดังกล่าวควรมีความเห็นของผู้เสียหายและผู้ถูกดำเนินคดีอาญาประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานอัยการได้รับเรื่องแล้ว ให้พนักงานอัยการเสนอความเห็นให้อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งต่อไป                      

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกำหนดกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อหาความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตามพ.ร.บ.นี้ ให้ศาลพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการ โดยถ้าศาลเห็นสมควรให้ศาลมีอำนาจพิพากษาว่าผู้กระทำความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองรายนั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ แม้ว่าโทษจำคุกที่ศาลจะกำหนดหรือได้กำหนดนั้นจะเกินกว่า 5 ปี หรือศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ และมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขอื่นหรือระยะเวลาเพื่อคุมความประพฤติผู้กระทำความผิดนอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ตามที่เห็นสมควร แต่หากศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีเห็นว่าผู้ถูกดำเนินคดีอาญารายใดไม่ควรรับโทษจำคุกหรือควรได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ก็ให้ถือเป็นเหตุผลหรือเงื่อนไขที่มีเหตุอันควรปรานีหรือเหตุบรรเทาโทษแล้วแต่กรณีตามประมวลกฎหมายอาญาสำหรับผู้ถูกดำเนินคดีอาญารายนั้น ในกรณีที่คดีใดถึงที่สุดก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับเป็นคดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลอาจลดโทษ รอการกำหนดโทษ รอการลงโทษ หรือลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดได้                             

            นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการเยียวยา โดยคณะกรรมการต้องสำรวจปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการการเยียวยา และจัดทำฐานข้อมูลสถานะของการได้รับการเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย รวมถึงทายาทผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บพิการหรือทุพพลภาพ ผู้ที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 22 พ.ค. 2557 2.กำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม จัดทำรายงานความเห็นเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสำหรับความเสียหายทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูสภาพจิตใจ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะในการให้ความช่วยเหลือและการเยียวยาในคดีแพ่งแก่ผู้ได้รับผลกระทบและผู้เสียหาย                     

           ทั้งนี้ กรรมการ อนุกรรมการ และผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้ปฏิบัติการตามพ.ร.บ.นี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ให้กรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม ผู้ใดเห็นว่าตนเองอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับประโยชน์ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.นี้ ให้ไปรายงานตัวต่อคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมืองภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พ.ร.บ.ใช้บังคับ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการและรับสนองพระบรมราชโองการ                     

          ทั้งนี้ บุคคลที่จะได้รับประโยชน์ไม่รวมถึงผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ที่นำมาสู่การกระทำความผิดอาญาหรือเหตุการณ์ความรุนแรง การกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 หรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

            

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ