ข่าว

'มีชัย'แจงม.44รักษาความสงบ

28 ม.ค. 2559

'มีชัย' ย้ำ คสช.ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คงอำนาจ ม.44 รักษาสถานภาพปัจจุบันไว้ไม่ให้ช่วงเปลี่ยนผ่านชะงัก

 
                      28 ม.ค. 59  เมื่อเวลา 13.30 น.  นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงต่อประเด็นการเขียนร่างมาตราในบทเฉพาะกาลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ว่า เมื่อกำหนดให้ คสช.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีอุปกรณ์ ไม่เช่นนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นมา เขาจะแก้ปัญหาได้อย่างไร หากยอมให้เขาใช้อำนาจแล้ว ต้องไว้วางใจว่าอย่างน้อยช่วงเวลาที่ผ่านมา คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจอะไร แต่ที่เขียนไว้นั้นเพราะอนาคตไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างหรือก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ดังนั้น หากตัดมือตัดเท้า คสช.จะทำงานได้อย่างไร ทั้งนี้อำนาจที่ คสช.มีอยู่จะไม่ลดทอนใดๆ โดยอำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังคงมีอยู่ตามเดิมเพราะต้องให้เขาไปให้ครบ
 
                      "คนที่เขาจะต่อต้านเพราะประเด็นนี้ ต่อให้ทำอะไรเขาก็ต่อต้านอยู่แล้ว พวกคุณก็อย่าไปต่อต้านด้วยก็แล้วกัน คือนี่เป็นกลไกปกติ หากคุณบอกว่าเราควรจะมีตำรวจ แต่ให้ตำรวจถอดปืน ถอดเข็มขัด ถอดกระบองออกไปให้หมด แล้วจะมีตำรวจไว้ทำอะไร ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง การดูแลโดย คสช.อาจต้องเข้มข้นมากขึ้น เพราะหากในช่วงเปลี่ยนถ่าย หากเกิดอะไรขึ้นมาแล้วทำให้ชะงัก ใครจะแก้ได้ เราต้องรักษาสถานภาพปัจจุบันไว้ก่อน"
 
                      ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก คสช.ใช้อำนาจตามที่มีปัจจุบันแล้วมีผลที่ขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ผลจะเป็นอย่างไร นายมีชัย กล่าวว่า "เขาอาจจะใช้ไม่ได้ ซึ่งผมมองว่า เขาก็ต้องไม่ใช้อะไรที่ไปขัดกับรัฐธรรมนูญ ยกเว้นเรื่องเฉพาะกาลหรือเหตุการณ์ที่จำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้"
 
                      นายมีชัย ชี้แจงถึงการกำหนดเงื่อนไขด้านเวลาต่อการดำเนินงานที่สำคัญจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ว่า หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านประชามติแล้ว กรธ.มีเวลา 8 เดือนเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่สำคัญประมาณ 10 ฉบับ โดยถือว่าเป็นการทำงานที่ยากแบบหืดขึ้นคอ เพราะมีเวลาจำนวนน้อยมาก ดังนั้น กรธ.ต้องยกร่างกฎหมายลูกและกฎหมายที่สำคัญให้เสร็จเดือนละ 1 ฉบับ การจัดทำร่างกฎหมายลูกดังกล่าว กรธ.จะให้ผู้ที่เชี่ยวชาญมาร่วมพิจารณาด้วยเพื่อให้ทำงานได้รวดเร็ว 
 
                      ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การให้เวลาทำกฎหมายลูกดังกล่าวนานเกินไป ขอให้คนผู้นั้นมายกร่างกฎหมายเอง ทั้งนี้ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะลดเวลาทำกฎหมายลูกและกฎหมายอื่นที่สำคัญลงอีก 2 - 3 เดือน หากคนทำงานสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อ กรธ.ยกร่างกฎหมายลูกและกฎหมายแต่ละฉบับแล้วเสร็จ จะทยอยส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาโดยกำหนดเงื่อนไขให้ สนช.พิจารณาร่างกฎหมายลูกแต่ละฉบับให้เสร็จภายใน 60 วัน และหลังจากที่ผ่านวาระสามที่สมาชิก สนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องนำไปรับฟังความเห็นขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าเนื้อหามีประเด็นที่ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้หรือไม่ โดยให้เวลาองค์กรที่เกี่ยวข้องส่งความเห็นกลับมายัง สนช.ภายใน 10 วัน
 
                      ทั้งนี้หากองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องมีข้อทักท้วงในบทเฉพาะกาลกำหนดกลไกให้ สนช.ต้องนำมาพิจารณาอีกครั้ง โดยให้เป็นการหารือร่วมกันระหว่าง สนช.และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลูก แต่หากองค์กรอิสระไม่ทักท้วงจะเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป
 
                      "หากไม่มี สนช.จะไม่มีใครออกกฎหมายที่ต้องใช้เลือกตั้ง และไม่มีทางที่จะจัดการเลือกตั้งได้ เพราะการเลือกตั้งต้องการใช้กฎหมายหลายฉบับ และที่สำคัญรายละเอียดของรัฐธรรมนูญที่สร้างให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจต่อการทำงานขององค์กรอิสระทั้งหลายต้องไปปรับแก้กฎหมายลูกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นรัฐธรรมนูญจะบังคับไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นกรอบใหญ่ที่มีรายละเอียดไม่ครบถ้วนและต้องการออกกฎหมายลูก หากไม่ออกกฎหมายลูกก็ใช้ไม่ได้ การเลือกตั้งก็มีไม่ได้ พรรคการเมืองก็เดินหน้าไม่ได้"
 
                      เมื่อถามถึงการให้สิทธิ์ สนช.ลาออกภายใน 90 วัน เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ ห่วงผลกระทบต่อการพิจารณากฎหมายลูกหรือไม่หาก สนช.ลาออกจนไม่ครบองค์ประชุม นายมีชัย กล่าวว่า "ให้มันรู้กันไปว่า สนช.ทั้ง 200 คน จะไปสมัครรับเลือกตั้งก็เอา ก็ไม่เป็นไร คสช.ยังอยู่ และมีอำนาจที่แต่งตั้ง สนช.ใหม่ได้ ผมมองว่าการให้ สนช.ลาออกก่อนไปสมัครรับเลือกตั้ง ถือว่าสร้างความเป็นธรรมที่สุดแล้ว"
 
                      ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ส.ส.และ ส.ว.มาใช้บังคับกับ สนช. ประธาน กรธ.กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะหาก กรธ.บังคับกับบุคคลอื่นได้ ต้องสามารถนำมาใช้บังคับกับ สนช.ได้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อทำให้เห็นว่า กรธ.ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ยกเว้นส่วนที่เป็นโครงสร้างของ สนช. เช่น ความเป็นข้าราชการที่ตั้งใจให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ เมื่อนำมาใช้บังคับแล้ว หากมีผู้สงสัยประเด็นคุณสมบัติให้ร้องตรวจสอบ หรือหาก สนช.ทราบได้เองว่าเป็นผู้ที่มีลักษณะขัดคุณสมบัติ สามารถลาออกเองได้
 
                      ประธาน กรธ.กล่าวด้วยว่า ส่วนที่กำหนดให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.และการเลือก ส.ว.ภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือนหลังจากที่กฎหมายลูกที่ต้องใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส.และเลือก ส.ว.มีผลบังคับใช้นั้น ยอมรับว่า อาจทำให้ต้องเลื่อนเวลาเลือกตั้งตามโรดแม็พของ คสช.จากเดิมในเดือนกรกฎาคม 2560 ออกไปเป็นประมาณปลายปี 2560 เนื่องจากต้องมีเวลาเพื่อยกร่างกฎหมายลูกฉบับที่ต้องใช้ในการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 
 
                      ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่เขียนบทเฉพาะกาลให้เวลาเลือกตั้ง ส.ส.และเลือก ส.ว.ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 เดือน หลังจากที่กฎหมายลูกฉบับที่ต้องใช้เกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วเสร็จ นายมีชัย กล่าวว่า เพื่อให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลาเตรียมการและเตรียมความพร้อมการดำเนินการที่ต้องเป็นไปตามระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ซึ่ง กกต.จะใช้เวลาเต็มทั้ง 5 เดือน หรือน้อยกว่านั้นเป็นสิ่งที่ กกต.จะต้องไปพิจารณา เหตุผลสำคญที่ กรธ.เขียนไว้ไม่เกิน 5 เดือน เพื่อในการดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเวลาดังกล่าว กกต.อาจใช้เพื่อการอบรม หรือเตรียมความพร้อมใดๆ ก็อยู่ที่การพิจารณาของ กกต.