Lifestyle

สายแจว 'ปริญญา' ดอกเตอร์หลากมิติ!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

#ปริญญา คอลัมน์ 'คนในข่าว' จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก 12-13 ต.ค.62

 

 

***********************************

 

 

คงไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นคนจากหอคอยงาช้างลงมาพายเรือกลางนที ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กับกิจกรรมพายเรือเก็บขยะที่เขาริเริ่มขึ้นด้วยสมองและสองแขน

 

ถ้าพี่ตูนคือเจ้าตำนาน “สายวิ่งเพื่อรพ.” อ.ปริญญา ก็คงกำลังสร้างตำนาน สายแจวเพื่อโลก” วันนี้ถ้าจะกล่าวว่าเขานับเป็นนักวิชาการ “มากมิติ” อีกคนหนึ่งของเมืองไทยก็ว่าได้

 

 

 

คนคลองท่าลาด

 

น่าสนใจว่านักวิชาการสายกฎหมายอย่าง อ.ปริญญา ที่จริงแล้วเขากำเนิดมาจากนักการเมืองท้องถิ่น บิดาของเขาคือ ณรงค์ เทวานฤมิตรกุล (เฮง) อดีตสมาชิกสภาจังหวัดฉะเชิงเทรา มารดาคือ แน่งน้อย เทวานฤมิตรกุล ปัจจุบันมีชื่อเป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอพนมสารคาม

 

โดยพ่อเฮงเป็นคนบ้านธารพูด ต.บ้านช่อง พนมสารคาม เดิมทีทำธุรกิจส่วนตัว ก่อนจะมาปักหลักที่ ต.ท่าลาด แต่ที่น่าสนใจซึ่ง อ.ปริญญาเรียบเรียงเล่าไว้ในหนังสือ “ณรงค์อนุสรณ์” คือพ่อเฮงนั้นได้รับการถ่ายทอดวิชาต่อกระดูกมาจากอาจารย์ท่านหนึ่ง และยังเล่าว่าพ่อร่ำเรียนวิชาจนสามารถรักษาคนกระดูกหักหายได้ภายใน 3 วัน

 

 

สายแจว 'ปริญญา' ดอกเตอร์หลากมิติ!

 

 

บ้านเมืองเราคนเป็นนักการเมืองท้องถิ่น นอกจากพ่อค้า คนดัง คหบดี ยังมีมดมีหมอนี่แหละ และไม่จำเป็นว่าต้องเป็นหมอในระบบการแพทย์แผนปัจจุบันก็ได้

 

เหนืออื่นใดไม่ใช่ว่าอยู่ๆ อ.ปริญญา จะนึกอยากเก็บขยะในคลองขึ้นมาเฉยๆ แต่ความคิดนี้ผุดขึ้นมาขณะที่เขากำลังฟังพระสวดในงานศพบิดาเมื่อปี 2558 ที่วัดท่าเกวียน ซึ่งอยู่ริมคลองท่าลาดพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

 

บรรยากาศแห่งการลาจาก ความหลังของวัยเยาว์มิใช่เพียงแค่ความรักอาลัยในบุพการีผู้เป็นที่รักของชาวบ้าน แต่ยังหมายรวมถึงบริบท ภาพ รส กลิ่น เสียงในวันวาน ที่กรูกันเข้ามาในห้วงความทรงจำ

 

นาทีนั้นคลองท่าลาดที่สวยใสในวัยเด็กคงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในสมองของเขาจนกระทั่งเริ่มหัดพายเรือคยัคเพื่อสำรวจคลองแถวบ้านเกิดเก็บขยะและบอกเล่าเรื่องราวไว้ในหนังสือ “ผจญภัยคลองท่าลาด” หรือ “ตะลุยบางปะกง” และทำจนเป็นกิจกรรมที่คนอื่นๆ ได้มีส่วนร่วม

 

 

 

เส้นทางที่เลือกเดิน

 

อย่างที่รู้กันนักการเมืองไทยทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นแทบทั้งหมดมีการสืบทอดเป็นตระกูลทางการเมืองที่สานต่อรุ่นสู่รุ่นโดยอาศัยฐานเสียงเดิมของตระกูล

 

ในฉะเชิงเทราตระกูลการเมืองที่โด่งดังหนีไม่พ้นตระกูล “ฉายแสง” และ “ตันเจริญ” ส่วนตระกูล “เทวานฤมิตรกุล” นั้น ไม่มีข้อมูลว่าเติบใหญ่ทรงอิทธิพลในเส้นทางการเมืองอย่างชัดเจน นอกจากบุตรชายคนกลางที่ถือว่าเติบโตสยายปีกในแวดวง “นักวิชาการสายกฎหมาย” เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ

 

ดร.ปริญญา จบระดับมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลในปี 2528 จากนั้นปี 2533 จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

สายแจว 'ปริญญา' ดอกเตอร์หลากมิติ!

 

 

มาปี 2541 บินไปจบปริญญาโท นิติศาสตร์ ด้านกฎหมายมหาชน ที่ Georg-August-Universitaet zu Goettingen, เยอรมนี กระทั่งในปี 2547 จบปริญญาเอกในสาขาเดียวกันจากสถาบันแห่งแดนอินทรีเหล็กที่เดิม

 

หลังจบปริญาโท ที่จริง อ.ปริญญา เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์รั้วเหลืองแดงแล้ว จากนั้นพอจบดอกเตอร์เขาก็กลับมานั่งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและเริ่มเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน

 

ทั้งหมดนี้สำหรับคนที่เดินในเส้นทางนักวิชาการ นี่คือที่สุดแล้ว

 

 

 

รอยทางแห่งชีวิต

 

ภาพรวมของคนเป็นอาจารย์คือสอนหนังสือ ทำวิจัย เขียนตำรา ดูน่าง่วงนอน แต่ อ.ปริญญา ยังเคยมีฉากชีวิตที่(เกือบ)พะบู๊เหมือนกัน

 

เพราะในรอยต่อช่วงเรียนจบเป็นบัณฑิตนิติศาสตร์รั้วแม่โดม ปรากฏว่าช่วงนั้น อ.ปริญญา เป็น “เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” หรือ สนนท. ที่เป็นพลังคนรุ่นใหม่หลังเหตุการณ์ป่าแตก หรือการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

 

หลายคนเรียกช่วงนี้ว่า “ยุคแห่งการแสวงหาครั้งที่ 2” ที่ราวปี 2527 เยาวชนยุคนั้นฟื้นฟูกิจกรรมนักศึกษาขึ้นอีกครั้งพร้อมคำขวัญ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” งานหลักคือรณรงค์ให้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเต็มใบเสียที

 

 

สายแจว 'ปริญญา' ดอกเตอร์หลากมิติ!

 

 

 

หลังเรียนจบ ป.ตรี ไม่นาน ผ่านมาจนถึงปี 2535 ที่เป็นเลขาธิการ สนนท. ช่วงนั้นเข้าร่วมกับหัวหอกการประท้วงอย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น และประชาชนมากมายลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการรับตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่คณะรัฐประหาร (รสช.) ดันขึ้นมา เกิดเป็นเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ”

 

อย่างไรก็ตามตามประวัติเล่าว่า อ.ปริญญา ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่ทหารล้อมปราบประชาชนในวันที่ 18-20 พฤษภาคม และการชุมนุมที่ลาน สวป.มหาวิทยาลัยรามคำแหงหลังจากนั้น

 

จะด้วยเหตุผลอันใดแต่ครั้งนั้นฝ่ายประชาชนได้รับชัยชนะ บ้านเมืองผ่านรอยต่อ รอยเย็บปะ จนที่สุดก็ได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ฉบับประชาชน จะบอกว่า อ.ปริญญา มีส่วนร่วมตรงนี้ก็ได้อยู่

 

 

 

 

นักวิชาการอ่านเกม

 

เมื่อมีรัฐธรรมนูญที่รอคอยมานาน บ้านเมืองเหมือนจะไปต่อ รอยต่อนั้น อ.ปริญญา ไปเรียนต่อต่างประเทศ และสนนท. ยังคงทำหน้าที่โดยเน้นปัญหาชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ เช่น สมัชชาเกษตรกรรายย่อยอีสาน สมัชชาคนจน ฯลฯ

 

แต่ที่สุดการเมืองไทยก็วนลูปเดิม สนนท.ในช่วงปลายทษวรรษ 2540 ซึ่งมีคนอื่นเป็นเลขาธิการ ก็ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

 

อ.ปริญญา ซึ่งกลับมาเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์หลังจบปริญญาเอกในปี 2547 เป็นต้นมา บ้านเมืองก็เกิดรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.

 

 

สายแจว 'ปริญญา' ดอกเตอร์หลากมิติ!

 

 

ช่วงนั้นในฐานะนักวิชาการกฎหมายไฟแรงแห่งรั้วโรงเรียนการเมืองแถวท่าพระจันทร์ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทางหน้าสื่อบ่อยครั้ง เช่น การท้าทาย คมช. ว่าการเมืองจะร้อนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ว่า คมช.จะสืบทอดอำนาจหรือไม่ เพราะถ้าสืบทอดพลังประชาธิปไตยในสังคมไทยไม่ยอมให้เกิดขึ้นแบบที่่เคยทำมาแล้วในพฤษภาทมิฬ

 

อย่างไรก็ดีที่สุดปี 2550 อ.ปริญญาของเรา ได้เป็นประธานคณะกรรมการจัดระเบียบหอพัก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในยุคของเจ้ากระทรวงชื่อ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และนายกฯ ชื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คนที่ คมช. เชิญขึ้นมา

 

ช่วงนั้นเราได้เห็นข่าว อ.ปริญญา ไปโผล่ตรวจดูตามหอพักนักศึกษา ดูร้านเหล้าตามรั้วสถาบันในตำแหน่งประธานคณะทำงานแก้ปัญหาร้านเหล้ารอบสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ได้รับแต่งตั้งในปี 2551 ค่าที่เป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มธ.อยู่แล้ว

 

 

 

มิติเหนือการเมือง

 

คนไทยที่ติดตาม อ.ปริญญา ในกระแสการเมือง ก็คงพอสัมผัสได้ว่าคนชื่อปริญญาประมาณไหน แต่บทบาทของเขาอีกมิติที่กำลังถูกไฮไลท์ในช่วงหลัง คือเรื่องราวของนักกฎหมายที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

 

อ.ปริญญา บอกว่าลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ในฐานะ “มนุษย์คนหนึ่ง” จนกระทั่งกิจกรรมนี้ได้รับเสียงตอบรับจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก

 

กิจกรรมใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2561 จากต้นทางคือปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ผ่าน ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ก่อนไปสิ้นสุดที่สมุทรปราการ จุดนัดพบของแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลรวมกับทะเลอ่าวไทย

 

 

สายแจว 'ปริญญา' ดอกเตอร์หลากมิติ!

 

 

กิจกรรมล่าสุดที่เพิ่งจบไปช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ พายเรือเพื่อเจ้าพระยา” 1-10 ตุลาคม 2562 เส้นทางเดียวกันกับข้างต้น นอกจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมจนกลายเป็นงานช้างแล้วก็ยังมีดาราคนดังเริ่มเข้ามาร่วมด้วย

 

ขณะที่บนบก อ.ปริญญา ก็ไม่ทิ้งเพราะมันเรื่องเดียวกัน โดยเขาเคยสร้างความสำเร็จมาแล้วหลายโครงการในรั้วบ้านของลูกแม่โดม เช่นการบุกเบิกการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มได้สำเร็จในปี 2560 แล้วส่งต่อไปยังผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ผลิตขวดน้ำพร้อมใจกันเลิกเมื่อเดือนเมษายน 2561

 

ขณะที่ยังเดินหน้าในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต เพื่อทำให้ มธ. เป็นผู้นำด้านมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนของประเทศไทยให้แข็งแรงชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

 

วันนี้กองเชียร์สายโลกสวยพากันกดไลค์บทบาทของ อ.ปริญญา ในมิตินี้สุดๆ หลายคนบอกไหนๆ ถ้าจะเน้นทางนี้ก็เอาไปให้สุดทาง!

 

****************************

 

 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก พายเรือเพื่อเจ้าพระยา

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ