Lifestyle

"เดินเพื่อผู้ป่วย"ก้าวไปด้วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อทุกคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บ้านเมืองนี้ เรื่องบางเรื่องก็ยากจะเข้าใจ ไม่ต้องพูดถึงการเมือง วันนี้ยังไม่จบ พอหันมาเรื่อง "กัญชา" ชาวบ้านก็ยังเกาหัวงงๆ

         


          เพราะตอนแรกบอกกัญชาจะผุดขึ้นจากดิน และนำมาใช้ในกระบวนการรักษาการป่วยไข้อย่างกว้างขวาง ถ้วนหน้า เท่าเทียม แต่ตอนหลังมันไม่จริง อย่างช็อตแรกก่อนสงกรานต์ก็ทำเอาคนกัญชาสะดุ้ง

 

 

          เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นำเจ้าหน้าที่ลุย “มูลนิธิข้าวขวัญ” อ.เมือง สุพรรณบุรี เข้าตรวจค้นและยึดของกลางตันกัญชากว่า 200 ตัน น้ำมันกัญชา พร้อมทั้งอุปกรณ์ โดยอ้างว่าไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ยังไม่ใช่หมอพื้นบ้าน


          เรื่องนี้ทำให้ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ผู้อุทิศตนวิจัยสกัด “น้ำมันกัญชา” ช่วยรักษาคนยากไร้มาหลายปี ถึงกับควันออกหู ออกมาระบุจะเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านเพื่อจดแจ้งครอบครองกัญชาโดยเร็วและจะไม่หยุดแค่นี้ เพราะผู้ป่วยรออยู่!

 

 

"เดินเพื่อผู้ป่วย"ก้าวไปด้วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อทุกคน

 

 


          ขณะเดียวกันที่ต้องอัพเดทให้คนไทยทุกคนรู้ตรงกันอีกครั้ง คือจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการ “ปลดล็อก” กัญชา (รวมถึงกัญชง กระท่อม) ออกจากบัญชียาเสพติด เพียงแต่ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดรับแจ้งครอบครองกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรคโดยไม่ต้องรับโทษ แล้วการรับแจ้งนี้ก็เพิ่งหมดเขตไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี่เอง ผ่านจากนี้ก็ผิดกฎหมายทันทีไม่รอแล้ว!

 

 

          ดังนั้นวันนี้ช็อตสองจึงเป็นทีของฝ่าย “กัญชาประชาชน” บ้าง ที่ได้แท็กทีมเครือข่าย 11 องค์กร ผู้มีอุดมการณ์ใจเดียวกัน จัดกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย Cannabis Walk Thailand” ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม-9 มิถุนายน เริ่มต้นจากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จ.พิจิตร ไปยังวัดบางปลาหมอ จ.สุพรรณบุรี ระยะทาง 265 กิโลเมตร รวม 20 วัน!

 

 

"เดินเพื่อผู้ป่วย"ก้าวไปด้วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อทุกคน

 

 


          ก็ในเมื่อ “พี่ตูน” มีกิจกรรม “วิ่งเพื่อโรงพยาบาล” เดชา ศิริภัทร ก็มีกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย” กับสโลแกน “ก้าวไปด้วยกัน สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อทุกๆ คน”!!

 


         ทำไมต้องเดิน


          ถามถึงจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้ เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ระบุว่า ที่ต้องเดินเพราะวิ่งไม่ไหว แต่ที่เป็นหัวใจ คือจุดมุ่งหมายหลัก 3 ข้อ


          1.ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับกัญชาเป็นยารักษาโรค 2.รณรงค์แก้ไขกฎหมายที่ยังล้าหลังอยู่มาก และ 3.ระดมทุนทำยาในภาคประชาชนกันเอง ไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากภาษีประชาชน หากทำได้ไม่เต็มที่จะนำทุนก้อนนั้นมารณรงค์แก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง จากนั้นทำยาให้ได้มากที่สุด


          ขณะที่ยังมีจุดมุ่งหมายส่วนตัวคือ ความสุขทางใจอีกด้วย

 

 

 

"เดินเพื่อผู้ป่วย"ก้าวไปด้วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อทุกคน

 


          “หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผมต้องทำ ก็อยากจะบอกว่าผมอยากสะสมบุญไปใช้ในภพหน้า อยากทำความดีให้แก่เพื่อนมนุษย์ ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ พูดง่ายๆ ในเมื่อเรารู้ว่าอะไรที่จะช่วยผู้ป่วยมะเร็งได้ก็อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คือสิ่งที่ได้บุญกุศลมากที่สุด ผมเลยเลือกทำในสิ่งนี้” (ข่าวคมชัดลึก 21 พ.ค.62 โดย หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ)


          งานเดินครั้งนี้อย่างที่เห็นจากหน้าข่าวว่ามีประชาชนร่วมขบวนเดินเท้ากันอย่างคึกคักไม่เพียงเข้าร่วมในฐานะชาวเราทั่วไปที่ต้องการแสดงพลัง


          หรือเข้าร่วมในฐานะทีี่เป็นผู้ให้การรักษา ทั้งตัวของ เดชา ศิริภัทร เอง หรืออย่าง หลวงพ่อธวัชชัยสิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าวชิรโพธิญาณ อ.โพทะเล จ.พิจิตร ซึ่งก็มีบทบาทในการแจกจ่ายสมุนไพรน้ำมันกัญชาสูตรของอาจารย์เดชามาแล้วกว่า 2 ปี


          ยังมีบรรดาคนดังในแวดวงที่มาร่วมแสดงจุดยืนในอีกบทบาทการให้ความรู้ เพราะในรายทางระหว่างหยุดพักจะมีการจัดเวทีวิชาการเกี่ยวกับกัญชา ให้ความรู้ประชาชนไปด้วยในหลายมิติ

 

 

"เดินเพื่อผู้ป่วย"ก้าวไปด้วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อทุกคน

 


          เช่นเวทีสิทธิและความสำคัญของการเข้าถึงยากัญชา ณ วัดบ้านหนองบัว อ.โพทะเล จ.พิจิตร วันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เวทีธรรมชาติกับการเยียวยาและพึ่งตนเอง ณ วัดเกตุคีรี อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ในวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม  ฯลฯ โดยเวทีเหล่านี้จะมีผู้เชี่ยวชาญมากมายผลัดกันมาแชร์ความรู้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

 


          แนวร่วมสายเขียว


          นอกจาก เดชา ศิริภัทร แล้ว ที่เห็นออกโรงเป็นจุดเด่นก็หนีไม่พ้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต รายนี้ประกาศรวมพลัง “เดินเพื่อผู้ป่วย” กับ “อ.เดชา” แน่แท้ไม่มีกั๊ก


          หากจำกันได้อีกด้านหนึ่งเขาออกมาเคลื่อนไหวเรื่องกัญชาเสรีมาพักใหญ่แล้ว แท็กทีมกับ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับภาคนักวิชาการและภาคประชาชน เกาะติดปมพิรุธต่างชาติย่องจดสิทธิบัตรใช้กัญชาไทยมาตลอด


          ล่าสุด ม.รังสิต ก็เพิ่งโชว์เหนือด้วยการเปิดสอน “วิชากัญชาศาสตร์” เป็นครั้งแรกในไทย ที่คณะนวัตกรรมเกษตร ที่จะถ่ายทอดเทคนิคครบวงจร ทั้งการปลูก ขยายพันธุ์ เน้นความรู้ทางการแพทย์

 

 

"เดินเพื่อผู้ป่วย"ก้าวไปด้วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อทุกคน

 


          แต่ทุกวันนี้ต่อให้ ม.รังสิต ได้รับอนุญาตให้วิจัยกัญชาเป็นยารักษามะเร็งได้ แต่ก็ติดหล่มห้ามปลูกเกิน 50 ต้น จากกฎหมาย ซึ่งในงานวิจัยจำนวนแค่นี้ไม่เพียงพอ


          “พวกเรารู้ว่ากัญชาจะเป็นยาวิเศษที่สามารถเข้าหา รักษาให้พวกเราหายพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่เราไม่สามารถเข้าถึงกัญชาได้ เพราะรัฐบาลยังกีดกันให้กัญชาเป็นยาเสพติด”


          เลยต้องถามไปยังรัฐบาลว่าที่ยังไม่ยอมปลดล็อกนี้ “กั๊กไว้เพื่อใคร” กันแน่!!


          ที่เหลือจากนี้ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ธรรมดาทั้งสิ้น เช่น ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ (รมช.เกษตรฯ รัฐบาลคสช.), วิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai), รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา, ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, สายชล ศรทัตต์ ประธานเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง, สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฯลฯ


          พวกเขามาร่วมมือกันภายใต้การรวมพลังของ 11 หน่วยงาน คือ มูลนิธิข้าวขวัญ, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิสุขภาพไทย, มหาวิทยาลัยรังสิต, เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ, ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.), เครือข่ายผู้ป่วย และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก


          ต้องบอกว่าวันนี้ทุกคนอยู่ในจุดยืนเดียวกันคือเพื่อรวมพลังไปสู่เป้าหมาย “ปลดล็อกกัญชา” อย่างจริงจัง ส่วนอเจนด้าอื่นๆ ต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องให้คำตอบ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองบางพรรคที่ใช้นโยบายกัญชาในการหาเสียง ออกโรงเป็นพรรคสีเขียวเหนียวแน่น ต้องถามว่าเป้าหมายจริงๆ ไปถึงไหนกันแน่


          แต่นาทีนี้ถ้าถามว่าเป้าหมายแก่นแกนจริงๆ คืออะไร คงเริ่มจากการเสนอให้เอา “กัญชา” ออกจาก “ยาเสพติด” พูดง่ายๆ ว่าต้องทำให้ภาพของพืชกัญชาดูดีมีสกุล และไม่ผิดกฎหมายเสียก่อน จากนั้นจะเปลี่ยนเป็น “พืชสมุนไพรควบคุม” หรืออะไรตามเหมาะสม ก็ว่ากันไป


          ปลายทางการเดินครั้งนี้อาจจบที่วัดบางปลาหมอ จ.สุพรรณบุรี แต่ปลายทางความหวังยังต้องรอดูกันต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ