Lifestyle

อีกด้านของ 2475"ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน"ทายาท “กบฏบวรเดช”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อีกด้านของ 2475"ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน"ทายาท “กบฏบวรเดช”

 

          ในยุคนี้หาคนที่บันทึกประวัติศาสตร์ได้อย่างรู้ลึก รู้จริงและถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าอ่าน นับจำนวนแล้วน้อยลงทุกที แต่หนึ่งในนั้นที่มีคนติดตามเหนียวแน่น คือ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

          โดยเฉพาะในสถานการณ์ “หมุดคณะราษฎร” หายไปอย่างไร้ร่องรอย ได้ก่อให้เกิดอาการอยากรู้เรื่องราวในอดีตของผู้คน ฉะนั้น เฟซบุ๊คของ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน จึงมีผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความอยากรู้ในอีกด้านของ 2475

          ชื่อนี้-สกุลนี้ เป็นที่คุ้นเคยกันดีกับคนที่ติดตามเรื่องราวประวัติศาสตร์บ้านเมือง ตลอดจนแวดวงนักคิดนักเขียน รวมถึงแวดวงสถาปนิกด้วย

          เพราะ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน คือทายาทของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน อดีตนักคิดนักเขียนไทย หนึ่งในอดีตนักโทษการเมืองในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 กับ คุณหญิงบรรจบพันธุ์ (สังขดุลย์) นวรัตน ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสวนเด็ก

          เมื่อวาระครบ 100 ปี ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ทาง ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน ได้ร่วมวงเสวนา “ชีวิตและผลงาน” ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ให้กับบรรดาสมาชิกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้รับฟังด้วย และสามารถเล่าขานตำนานประวัติศาสตร์มีชีวิตได้อย่างละเอียด

          ถึงแม้มิได้พบหน้าคุณพ่อมาตั้งแต่เกิด เนื่องจาก ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน ได้สิ้นอายุขัยก่อนที่บุตรชายลืมตาดูโลกไปก่อนหน้านั้น 45 วัน แต่มิใช่อุปสรรคแต่อย่างใด ด้วยการเลี้ยงดูถนอมกล่อมเกลาจากคุณแม่จึงทำให้รับทราบทุกรายละเอียดมาเป็นลำดับ อีกทั้งยังแวดล้อมด้วยความรักจากหม่อมย่าและคุณยายจนเติบใหญ่ ตามวิถีสมาชิกราชสกุลคนหนึ่ง ทั้งทางโลกและทางธรรม

          วัยเด็กเติบโตมาในรั้วโรงเรียนสวนเด็กของคุณแม่ ก่อนเข้าไปอยู่โรงเรียนประจำที่วชิราวุธวิทยาลัย รุ่นเดียวกับ ชัยสิริ สมุทวณิช และ เข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

          ในทางธรรมได้บวชเป็นพระภิกษุหลวงตามสิทธิ์สมาชิกราชสกุล แล้วจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร อีกทั้งด้วยผลบุญจากงานที่คุณแม่ได้สร้างให้กับสังคมจึงให้ได้ติดตามคุณแม่ไปหลายที่หลายแห่ง เช่นครั้งหนึ่งที่ได้ไปเจริญธรรมที่ภาคอีสาน จนได้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ เมื่อครั้ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ออกบิณฑบาตรและอยู่ปฏิบัติกับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด กระทั่งได้เป็นศิษย์ใกล้ชิดมาจนถึงปัจจุบัน

          ในฐานะสถาปนิก ม.ล.ชัยนิมิตร ประสบความสำเร็จอย่างดี รับงานออกแบบตั้งแต่สมัยยังเรียนไม่จบ อุบัติเหตุชีวิตดูเหมือนจะมีครั้งเดียวคือการเซ็นค้ำประกันให้กับเพื่อนนักธุรกิจจนต้องชดใช้ระยะหนึ่ง แต่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในเวลาต่อมา ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าห่มดิน ซึ่งเป็นใยปาล์มสำหรับป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน กระทั่งได้นำไปใช้พระตำหนักภูฟ้า เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ดินถล่ม อ.ลับแล จ.น่าน ภายหลังได้รับเลือกเป็นนิสิตเก่าดีเด่นของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย

          เริ่มเขียนหนังสือมาราวปี 2557 เพื่อคลายความเครียดจากเหตุการณ์ทางการเมืองจนทำให้เศรษฐกิจชะงักทั้งประเทศ เริ่มต้นด้วยผลงานการเขียนในเว็บพันทิปเรื่องพระเมรุมาศ จากนั้นจึงต่อด้วยเรื่อง ศพในโกศ ในเว็บไซต์เรือนไทยตามคำชักชวนของ คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ โดยใช้นามแฝงว่า NAVARAT.C และได้เขียนคอลัม “ประวัติศาสตร์มีชีวิต” ลงในนิตยสาร “สกุลไทย” เรื่อยมา 

          ต่อความสนใจทางประวัติศาสตร์นั้น ม.ล.ชัยนิมิตร เป็นมาตั้งแต่ยังเยาว์วัยแล้ว เโดยอ่านหนังสือแตกมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เนื่องจากที่บ้านเป็นโรงเรียน พอต่อมาเมื่อได้เข้าเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้พบกับโลกประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่จากห้องสมุดเก่าแก่ที่เป็นมาตั้งแต่สมัย ร.6 ได้อ่านทั้งประวัติศาสตร์และพงศาวดารต่างๆ ภายหลังเมื่ออินเตอร์เน็ตก้าวหน้า ก็ได้กระโจนสืบค้นจากโลกใหม่อย่างไม่รู้จบ

          หลักสำคัญของการอ่านการเขียนประวัติศาสตร์นั้น ม.ล.ชัยนิมิตร เน้นหลัก “ใจกว้าง” และ “เป็นกลาง” ได้นิยามว่าตัวเองนั้นเป็นเพียง “นักเล่านิทานประวัติศาสตร์” เท่านั้น ถึงแม้มีพื้นฐานจาก “เรื่องจริง” แต่อย่าได้จริงจังเอาเป็นเอาตาย กระทั่ง “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” 

          ผลงานจึงเป็นที่ตอบรับมาเป็นลำดับในฐานะ ผู้นำเสนอข้อมูลใหม่ๆ อาทิเช่น ประวัติศาสตร์มีชีวิต: ศพในโกศ, เมื่อประดู่โรยที่เกาะช้าง, ปริศนาพระบวรฉายาลักษณ์สองภาพ, เรื่องกระซิบเล่าของชาววังหน้า, เรื่องระเคืองเบื้องพระบาท ร.๕ ฯลฯ 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รวมผลงานชิ้นเอกของคุณพ่อ มาไว้ในเล่มเดียวกัน ทั้ง ความฝันของนักอุดมคติ (หรือ “เมืองนิมิตร”) นวนิยายสะท้อนภาพเหตุการณ์ในชีวิตจริงของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ช่วง 8 เดือนเศษ, ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง เมื่อครั้งตกเป็นเหยื่ออธรรมในทางการเมือง และ รอยร้าวของมรกต เป็นบทละครพูด ที่ ม.ร.ว. นิมิตรมงคลได้ประพันธ์ขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในภายหลัง ในชื่อ "ความฝันของนักอุดมคติ-ชีวิตและงานของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลนวรัตน” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหนังสือหายากไปแล้ว

          อีกเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ ม.ล.ชัยนิมิตร เป็นที่รู้กล่าวขานในวงกว้างอีกครั้ง นั่นคือ การเป็นผู้เปิดเผย ภาพและข้อความเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ตลอดจนภาพอดีต สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ยังเป็นพระหนุ่ม “พระมหาอัมพร” ให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์ได้ดูชมผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ในฐานะศิษย์คนใกล้ชิดคนหนึ่งภาพ ซึ่งได้ถ่ายภาพไว้ตั้งแต่อายุ 16 ปี

          ไม่ว่าจะ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน จะเรียกขานตนเองอย่างไร แต่เชื่อว่าเป็นอีกนักประวัติศาสตร์ผู้เล่าขานตำนานมีชีวิตที่หลายคนจับตามอง ที่มีเอกสารปฐมภูมิ ทั้งภาพและเรื่องราวของประเทศนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ