ข่าว

การบริหารจัดการรัฐ ในวิกฤตศรัทธา "หน้ากากอนามัย"...???

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การบริหารจัดการรัฐ ในวิกฤตศรัทธา "หน้ากากอนามัย" ... ??? โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดย ภานุพงษ์ ไชยนาพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

            ดูเหมือนโจทย์ใหญ่ที่ รัฐนาวาประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแก้ให้ได้ สมการคงไม่ได้อยู่ที่กระแสการออกมาเรียกร้องให้ยุบสภาหรือให้ลาออกของกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่เรียกตนเองว่า “แฟล๊ซม๊อบ” หรือสารพิษตกค้างจากศึกซักฟอกรัฐบาล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านมุ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นของคณะรัฐมนตรีชุดนี้แต่อย่างใด
 

           หากแต่อยู่ที่วิกฤติใหญ่ที่รัฐบาลต้องเผชิญหน้า ทั้งจากโรคภัยเชื้อไวรัส โควิด-19 และต่อทั้งเรื่องราวการทุจริตที่ออกสื่อให้ประชาชนอื้ออึงกันไม่เว้นแต่ละวัน  สำคัญคือการจัดบริการสาธารณะด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย กลายมาเป็นความไม่มั่นคงที่ดำเนินไปจากมาตรการรัฐที่ไร้ทิศทางความแน่นอน ข่าวคนในรัฐบาลเป็นต้นตอของกระบวนการทุจริตกักตุนสินค้า และการโยนเผือกร้อนกันไปมาระหว่างกระทรวงต่างๆที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ดูทีท่าว่าจะไร้เอกภาพในอนาคต เหล่านี้คือบริบทที่ประชาชนต่างกำลังเฝ้าจับตา

 

การบริหารจัดการรัฐ ในวิกฤตศรัทธา "หน้ากากอนามัย"...???

 

 

 

           “หน้ากากอนามัย” เงื่อนไขสำคัญ ชี้เป็นชี้ตาย รัฐบาลประยุทธ์ ??

             จากจุดเริ่มต้นของคำถาม ว่าเหตุใดประเทศไทยจึงไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆในห่วงโซ่อุปทานการผลิตตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานได้อย่างชัดเจนว่า “หน้ากากอนามัยหายไปไหน” ความเก้ๆกังๆ ทั้งต่อท่าทีของการขาดแคลนปราการสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายโรค และแนวทางการจัดหามาเพื่อ “รับรองสิทธิการมีชีวิตอย่างปลอดภัยของพลเมือง” คำตอบที่ไร้ผู้รับผิดชอบ ไร้ผู้ออกมาแสดงบทบาท ระบาดหนักถึงขั้นความรู้สึก “ไร้ภาวะผู้นำ” ที่จะพาคนไทยผ่านวิกฤติภัยไปได้อย่างราบรื่น

 

           มาตรการระยะสั้นที่กรมการค้าภายในเร่งประกาศ และออกกฎหมาย จำกัดการกักตุน และเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืน เป็นบทลงโทษปลายเหตุที่อาจดูไม่ร้ายแรงพอที่จะแลกกับการที่มีสถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน  เหมือนก่อนถั่วจะสุกงาก็ไหม้ เราได้ไม่คุ้มเสียกับความล่าช้าที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ เพราะทุกนาทีที่ผ่านไปคือ “อัตราความสุ่มเสี่ยง” ที่คนไทยกำลังต้องถูกบังคับให้รับมือ

 

           ฉายภาพไปที่การบริหารจัดการในมิติอื่น ทั้งการตั้งศูนย์กักกัน “ผีน้อยเกาหลีใต้” ที่ลักลั่น และสุดท้ายคือการออกมาประกาศยกเลิกศูนย์กักกัน และส่งกลับเหล่า “ผีน้อย” เหล่านั้นไปสู่ภูมิลำเนา เหมือนรัฐกำลังบอกเขาเหล่านั้นว่า “ช่วยดูแลตัวเองดีดีนะ” อย่างที่รัฐมนตรีบางท่านออกสื่อว่า “เราคงรับมือกับการดูแลทั้งหมดไม่ไหว”

 

           วันนี้ความน่ากลัวจึงไม่ใช่อยู่ที่ใครเป็นคนตั้งคำถาม มีกระบวนการล้มรัฐบาลจากวิกฤติการณ์นี้หรือไม่ หรือใครจะใส่ไคร้ให้รัฐบาลดูย่ำแย่ในภาวะข้าวยากหน้ากากแพงเช่นนี้หรือไม่ หากแต่ คำตอบจากรัฐบาลต้องหนักแน่นพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ในทุกครั้งที่คำถามดังขึ้น ไม่ประหวั่นกลัวต่อการตรวจสอบมาตรการและวิธีการ ที่สั่งการมาจากผู้กุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดินสูงสุดของประเทศ ไม่ว่าคำถามนั้นจะดังมาจาก “ที่สว่าง” หรือ “ที่มืด” ก็ตาม

 

          “...รัฐบาลไม่ใช่พระอินทร์หรือเป็นเทวดา ที่จะเสกเนรมิตให้ทุกอย่างราบรื่นดังใจได้ตามที่ใครต้องการ ใครเก่งกล้าสามารถ ก็ต้องเชิญท่านมาลองทำงานแทนพวกเราดูบ้าง...” คำให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งต่อการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จากรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
 

          คำกล่าวนี้จึงสืบความได้ถึงหลักสำคัญที่นักกฎหมายมหาชนทุกสำนัก ใช้เป็นหลักยึดอย่างเดียวกันที่ว่า “อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งคือ รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีที่ได้รับความไว้วางใจจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นหลักการที่มั่นคงยึดโยงกันว่า เมื่อประชาชนมอบความไว้วางใจเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่สภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเหล่านั้น จะเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทำหน้าที่บริหารประเทศ”

 

         จากความข้างต้น หากจะกล่าวทั้งในนิตินัยและพฤตินัยแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การบริหารราชการแผ่นดินถือเป็นการจัดบริการสาธารณะประเภทหนึ่ง ที่รัฐบาลในฐานะ “ฝ่ายปกครอง” ได้ใช้อำนาจตามกรอบของกฎหมาย ดำเนินการไปเพื่อก่อผลประโยชน์ส่วนรวมที่เชื่อถือกันว่าเป็น “ประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนใหญ่ หาใช่ประโยชน์ที่อ้างอิงมาจากพื้นฐานแห่งประโยชน์ของบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีหลักการอันเป็นหัวใจสำคัญคือ

 

         “หลักประโยชน์สาธารณะ” ถือเป็นประโยชน์ใหญ่ ที่รวบรวมเข้าด้วยประโยชน์เล็กๆที่มากพอจนกลายมาเป็นประโยชน์สาธารณะ เช่น การเรียกร้องให้เทศบาลติดตั้งสัญญาณไฟจราจร เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณสี่แยกกลางหมู่บ้านที่ชาวบ้านในพื้นที่เข้าชื่อเสนอต่อราชการส่วนท้องถิ่น คือเทศบาล ความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน จึงไม่ต่างอะไรกับการเรียกร้องให้กรม กอง กระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาบริหารจัดการภาวะวิกฤตเพื่อรักษาชีวิตให้ปลอดภัยในครั้งนี้

 

การบริหารจัดการรัฐ ในวิกฤตศรัทธา "หน้ากากอนามัย"...???

 

การบริหารจัดการรัฐ ในวิกฤตศรัทธา "หน้ากากอนามัย"...???

 

 

 

            “หลักประโยชน์สาธารณะ” เป็นหลักแห่งการแสดงข้อเสนอเรียกร้อง และยกระดับขึ้นผ่าน “รัฐสภา” อันมีที่มาจากเสียงของประชาชน ด้วยระบบการเลือกตั้งและแบ่งสรรปันอำนาจอธิปไตยจากมือของเจ้าของอำนาจ การเลือกตั้งซึ่งถือเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม ที่ใช้วิธีการสากลอย่าง One Men One Vote เพื่อกระจายความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้สะท้อนเสียงความต้องการของพวกเขา ผ่านผู้แทนในสภา หาใช่การให้ทุกเสียงได้รับการตอบสนอง หรือ “ทำตามใจ” ใครๆได้ทุกคน

 

            ตามหลักการสำคัญแห่งวิถีประชาธิปไตยที่ว่า “แม้เสียงข้างมากจะมากล้น แต่ก็ไม่ควรมองข้าม หรือไปละเมิดเสียงข้างน้อย” ประชาธิปไตยเชื่อเรื่องการฟังเสียงค้าน มากไปกว่าเสียงแห่งแรงสนับสนุน เพราะการครองอำนาจโดยปราศจากคำติติง หรือสะท้อนกลับ ย่อมไร้ซึ่งประสิทธิภาพและขาดการมีส่วนร่วม

 

         “หลักประโยชน์สาธารณะ” คือหลักแห่งการ “บังคับให้รัฐใช้อำนาจเพื่อส่วนรวม” มิได้ใช้อำนาจไปเพื่อ เช่นในลักษณะของกฎหมายเอกชน และหาใช่สิทธิที่รัฐจะเลือกว่าจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพราะเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้ว “เอกสิทธิ์ทางมหาชน” ที่ถูกผ่องถ่ายจากรัฐไปสู่บุคคลธรรมดา เพื่อให้เค้าเหล่านั้นกลายเป็น “บุคคลธรรมดาที่ใช้อำนาจทางมหาชนในทันที” ในชื่อเรียกว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ”

 

         ณ ชั่วโมงแห่งความท้าทายนี้ รัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในผลงานการบริหาร มากไปเสียกว่าผลงานการเอาคืนผู้ที่ไม่เห็นด้วย ปิดจุดด้อยด้วยการสร้างจุดเด่นขึ้นมาทดแทน กลบข่าวลือด้วยข่าวดีที่เป็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์แห่งปัญหา จุดเทียนความหวังแห่งความเชื่อมั่นให้ลุกโชนขึ้นมาในหัวใจของคนไทยทุกคนอีกครั้ง เพราะครั้งหนึ่ง “ความสงบ” ถูกหยิบยกขึ้นเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของผู้นำคนปัจจุบันเมื่อเกือบ 6 ปีก่อนหน้า

 

          วันนี้ “ความปลอดภัย” จากมาตรการที่รัดกุม มีระบบ และดำเนินการได้อย่าง “มืออาชีพ” และมี “ประสิทธิภาพ” จะเป็นผลงานที่คนไทยทั้งที่ “สนับสนุน” “เคยสนับสนุน” หรือแม้กระทั่ง “คนที่คัดค้าน” ได้ตอบโจทย์ที่เคยตั้งคำถามไปตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า “เราทุกคนควรสละสิทธิเสรีภาพมากมาย เพื่อพาตนเองเข้ามาอาศัยในรัฐที่มีความสามารถมากพอที่จะปกป้องพวกเราทุกคนได้”

 

การบริหารจัดการรัฐ ในวิกฤตศรัทธา "หน้ากากอนามัย"...???

 

การบริหารจัดการรัฐ ในวิกฤตศรัทธา "หน้ากากอนามัย"...???

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ