ข่าว

ตรวจสอบการเก็บเงินบริการอุทยานฯเจ้าไหม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครือข่ายตรังต้านโกง ร่วมกับ ป.ป.ช. ตรวจสอบการเก็บเงินบริการอุทยานฯเจ้าไหม

 

 

                         เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 มกราคม 2563 นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง  ป.ป.ช.ภาค 9 พร้อมด้วยคณะกรรมการชมรมตรังต้านโกง และนายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ การบริหารจัดการจัดเก็บรายได้ของอุทยานฯ เช่น ถ้ำมรกต เกราะกระดาน  เกาะแหวน เกาะเชือก พบว่ามีเรือทัวร์ที่เดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียงนำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ทางอุทยานฯ ล่องเรือเข้าจัดเก็บค่าบริการแบบเรียงหน้ารายหัว จนมีเสียงสะท้อนว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯไล่เก็บเงินค่าบริการดูแล้วไม่เหมาะสม และดูไม่โปร่งใสว่าเม็ดเงินจะหลุดลอดไปหรือไม่เนื่องจากการจัดเก็บยังเขียนใบเสร็จออกให้ ไม่ได้จัดเก็บแบบ E-Ticket ที่สามารถลดปัญหาการทุจริตการไหลของเงิน

จากนั้นในช่วงบ่ายมีการเปิดเวทีการเสวนามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ณ บริเวณชายหาดปากเมง อ.สิเกา  โดยมีผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวน 50 คน โดยเปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางออก และอุดรูรั่วที่ส่อว่ามีการทุจริต การเก็บเงินเข้าอุทยานฯ ไม่ตรงตามความเป็นจริง ตามที่มีการร้องเรียน

 

 ตรวจสอบการเก็บเงินบริการอุทยานฯเจ้าไหม

 ตรวจสอบการเก็บเงินบริการอุทยานฯเจ้าไหม

 

 

                             นายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เผยว่า อุทยานฯมีพื้นที่อุทยานฯทั้งหมด 144,000 กว่าไร่เศษ มี 2 ส่วน ทางบก และทางน้ำ  เมื่อรัฐให้สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่  ทำให้ภารกิจของอุทยานฯเปลี่ยนไป ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐเรื่องการท่องเที่ยว  ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก  การบริหารจัดเก็บของอุทยานฯมี 4 จุด ท่าเรือปากเมง  ที่ทำการอุทยานฯ หาดหยงหลิง เกาะกระดาน+บนเกาะ+หน้าถ้ำมรกต โดยให้หน้าที่อุทยานฯประจำเรือล่องเรือออกจัดเก็บจุดสำคัญคือถ้ำมรกต เก็บนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนละ 200 บาท นักท่องเที่ยวคนไทยคนละ 40 บาท โดยยังใช้ระบบการเขียนใบเสร็จออกให้  แต่การเก็บค่าบริการในทะเลนั้นมีทัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาหลุดลอดไป เนื่องจากผู้ประกอบการอาศัยจังหวะที่เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ส่วนอื่น นำนักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะเจ้าหน้าที่เองจะปฏิบัติงานตั้งแต่ช่วงเช้าถึงบ่ายเท่านั้น

ทางอุทยานฯเองมีเป้าหมายทำออฟฟิตเป็นทุ่นลอยน้ำในการจัดเก็บค่าบริการ ซึ่งกำลังรองบประมาณอยู่ ติดขัดข้อระเบียบของประเทศไทยที่ทำให้ล่าช้า ทางอุทยานฯต้องการดำเนินการจัดเก็บแบบ E-Ticketมา 2 ปีแล้ว   การใช้เรือเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องเก็บค่าบริการนักท่องเที่ยวนั้น ตนยอมรับว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ออกมาไม่ค่อยดีนัก ซึ่งต่อไปคาดว่าจะทำออฟฟิตเป็นทุ่นลอยน้ำในการจัดเก็บค่าบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งทุกเดือนมีการรายงานจัดเก็บไปยังหน่วยต้นสังกัด ส่งกรม กระทรวง อยู่แล้ว สำหรับรายได้ค่าจัดเก็บปี 61 จำนวน 8 ล้านเศษ ปี 62 ลดลง เพราะสาเหตุมาจากนักท่องเที่ยวจีนหายไป ปี 63 นี้น่าจะอยู่ที่ 6 ล้านบาท 

ส่วนมาตรการอุดรูรั่วการจัดเก็บค่าบริการนั้น ตนยอมรับว่าในช่วงบ่ายทางอุทยานฯเองไม่สามารถจัดบุคลากรไปประจำทุกจุดของแหล่งท่องเที่ยวได้เนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกยานพาหนะต่าง ๆ ไม่เพียงพอ วันเวลา น้ำขึ้นลง ประกอบไปด้วย ซึ่งภารกิจหลักของอุทยานฯคือการปกครองพื้นที่เป็นสำคัญอีกด้วย ดังนั้นการจัดเก็บจึงไม่สามารถเข้าไปเก็บทุกที่ ทุกคนได้ ตนย่อมรับความบกพร่องที่เกิดขึ้น

 ตรวจสอบการเก็บเงินบริการอุทยานฯเจ้าไหม

 

 ตรวจสอบการเก็บเงินบริการอุทยานฯเจ้าไหม

 

 

                  ในขณะที่นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ กรรมการตรังต้านโกง กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาจังหวัดตรังปีละ 4 แสนกว่าคน ถ้ามองว่าเป็นนักท่องเที่ยวทั้งหมด ต้องการให้การท่องเที่ยวและอุทยานฯให้ร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะยอดเฉลี่ยค่าจัดเก็บรายได้ตกอยู่ที่ 1 แสนคน ต่อปี ไทย+ต่างชาติ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเข้าถ้ำ เล่นน้ำ กินข้าวตรงนั้น ทำไมไม่หาแนวทางในการนำนักท่องเที่ยวไปกินอาหารสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ บ้าง เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและต่อยอดสร้างรายได้ให้กับประชาชน ทั้งนี้มีการเสนอให้เพิ่มค่าจัดเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นจาก 200 บาท เพราะเชื่อมั่นว่าศักยภาพการท่องเที่ยวตรังไม่แพ้ที่อื่น หากเก็บราคาถูกมองว่าไม่คุ้มค่ากับธรรมชาติที่ถูกทำลายไป สำหรับพื้นที่การท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียงมีการเก็บค่าบริการชาวต่างชาติ 400 บาท จังหวัดตรังให้เก็บเพิ่มจาก 200 บาท เป็น 400 บาท นั้น ตนมองว่ามูลค่าธรรมชาติการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังมีเท่าเทียมกับที่อื่นแน่นอน อาจจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวบ้าง แต่ถ้าจะปรับเปลี่ยนราคาก็ต้องพิจารณากันหลาย ๆฝ่าย ว่าธรรมชาติมีความโดเด่นเพียงพอหรือไม่

นายสมศักดิ์ เสือบุญทอง ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวจาระวีทัวร์ กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการเรือทัวร์จังหวัดตรัง ทางอุทยานฯเก็บค่าบริการ 100% ต่างชาติ 200 บาท คนไทย 80 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เด็ก 3-11 ปี ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ซึ่งผู้ประกอบการเองได้บวกค่าธรรมเนียมกับค่าทัวร์แล้ว ดังนั้นตนมองว่าสำหรับผู้ประกอบการของตรังจ่ายค่าบริการครบทุกบาททุกสตางค์เพราะมีรายชื่อนักท่องเที่ยวส่งควบคู่กันไปเพราะนักท่องเที่ยวต้องทำประกันอุบัติเหตุ

นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง กล่าวว่า ทาง ป.ป.ช.ได้ลงพื้นที่ติดตามมาตรการของการบริหารจัดการรายได้ของอุทยานฯ เนื่องจากสืบเนื่องที่ผ่านมาเคยมีกรณีทุจริตในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจังหวัดตรังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เด่น ๆ หลายแห่ง  ทาง ป.ป.ช.และทางเครือข่ายได้ลงไปดูการทำงานระดับพื้นที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งการทุจริตยังไม่พบ พบในเรื่องของข้อจำกัด การจัดเก็บรายได้ของนักท่องเที่ยวที่มาจากสถานที่อื่นเข้ามาท่องเที่ยวในจังตรังซึ่งควบคุมยากในการเดินทางเข้ามาหลายช่องทาง การจัดเก็บของเจ้าหน้าที่อุทยานฯไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการประชุมพูดคุยเพื่อหาข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นไปบ้าง เพื่อที่จะนำไปปรับปรุง ทาง ป.ป.ช.เองอยากเน้นในเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดช่องทางการทุจริตของเจ้าหน้าที่ได้ทุกส่วนอีกด้วย เมื่อก่อนนี้เท่าที่ทราบภาพรวมการจัดเก็บย้อนหลังประมาณ 10 ปี หลัก 100 ล้าน แต่ปัจจุบันภาพรวมทั้งประเทศของกรมอุทยานฯ 2,000 ล้าน แสดงให้เห็นว่าตรงนี้เป็นช่องทางที่เงินหลุดรั่วไปจำนวนมาก พอมีมาตรการเข้ามาทำให้มีรายได้เข้ามามากขึ้นมีความแตกต่างมากในส่วนของภาพรวม แต่ส่วนของจังตรังมีภาพรวมเก็บได้ 8 ล้านบาทต่อปี ส่วนจะมีการเพิ่มค่าการจัดเก็บหรือไม่นั้น ทาง ป.ป.ช.มองว่าถ้ามีการเก็บรายได้ต้องนำเข้ารัฐอย่างถูกต้องและทั่วถึงไม่มีการรั่วไหลมากกว่า

 

 ตรวจสอบการเก็บเงินบริการอุทยานฯเจ้าไหม

 

 ตรวจสอบการเก็บเงินบริการอุทยานฯเจ้าไหม

ภาพ/ข่าว ถนอมศักดิ์ หนูนุ่ม ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดตรัง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ