ข่าว

ถล่มชรบ.ยะลา15 ศพรุนแรงในรอบปี 'ไฟใต้'รอวันปะทุหรือมอดดับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประมวลข่าวเด่นรอบปี2562 ... ถล่ม"ชรบ.ยะลา 15 ศพ"รุนแรงในรอบปี "ไฟใต้"รอวันปะทุหรือมอดดับ โดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

             “ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องมานับสิบปีและทุกรัฐบาลรวมถึงรัฐบาลปัจุบันต่างก็วางแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเพื่อให้พื้นที่ปลายด้ามขวานทองเกิดสันติสุขและอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และขนบธรรมเนียมและศาสนาก็ตาม ซึ่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากในพื้นที่รวมถึงทรัพยากรทางทะเล หากพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีความสงบสุขจะเป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่มั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงมาก 

 

อ่านข่าว : สนธิกำลัง 200 นายล่าคนร้ายถล่มชรบ.ยะลา คุมตัวสอบเครียด

 

          หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ปัญหาในทุกมิติรวมถึงการเปิดเวทีเจรจาพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มแนวร่วมแต่ความคืบหน้าก็ยังไม่มากเพียงพอเพราะกลุ่มผู้มีความเห็นต่างเหล่านั้นมีความหลากหลายเช่นกันและขาดความเป็นเอกภาพที่จะพูดคุยกันให้ได้ข้อสรุปดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ และยังส่งผลให้วัตถุประสงค์ในการลดสถานการณ์รุนแรงหรือหยุดปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรงไว้นั้นก็ไม่สามารถทำได้ จนสถานการณ์ในพื้นที่ยังมีการลอบก่อเหตุสร้างความรุนแรงมาตลอด แม้สถิติหากนับเป็นรายปีจะลดลงแต่บางช่วงก็เกิดเหตุใหญ่ขึ้น

 

 

ถล่มชรบ.ยะลา15 ศพรุนแรงในรอบปี 'ไฟใต้'รอวันปะทุหรือมอดดับ

          เหตุการณ์รุนแรงที่กลุ่มผู้ก่อเหตุพร้อมอาวุธสงครามครบมือได้บุกเข้าล้อมในช่วงกลางคืนและถล่มยิงสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เป็นอาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ในพื้นที่บ้านทางลุ่ม หมู่ 5 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีกจำนวน 5 ราย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถือเป็นการก่อเหตุครั้งรุนแรงที่สุดในรอบปีก็ว่าได้ 

 

          รวมทั้งส่งผลสะเทือนถึงหน่วยงานรับผิดชอบและรัฐบาลด้วยเช่นกันเพราะที่ผ่านมาหากรัฐบาลใช้มาตรการตอบโต้แข็งกร้าวก็จะถูกตำหนิให้ทบทวนทิศทาง โดยยกเหตุผลว่ายิ่งทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ร้อนระอุและเพิ่มความสูญเสียมากขึ้น แต่ขณะที่ภาครัฐใช้มาตรการตั้งรับ-ป้องกันเพื่อเดินสายกลางในการสร้างสันติแต่ก็กลับถูกกลุ่มแนวร่วมเห็นต่างใช้ความรุนแรงโต้กลับจนดูเสมือนว่าหน่วยงานรัฐปวกเปียกในการดูแลป้องกันพื้นที่และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เรียกได้ว่าถูกตำหนิทั้งขึ้นทั้งล่องจนมีสภาพน่วมมาตลอด

 

          เมื่อพิจารณาถึงสถิติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จากเมื่อต้นปี 2562 ที่ศูนย์อิศรา รายงานไว้ พบว่าตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปลายปี 2561 มีเหตุรุนแรงทุกประเภทเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 9,985 เหตุการณ์ แยกกว้างๆ ได้ดังนี้ เหตุยิง 4,314 เหตุการณ์, ซุ่มโจมตี 191 เหตุการณ์, โจมตีที่ตั้ง 41 เหตุการณ์, เหตุระเบิด 3,512 เหตุการณ์ แยกเป็นระเบิดแบบวาง 3,303 เหตุการณ์ แบบขว้าง 182 เหตุการณ์ และอื่นๆ 27 เหตุการณ์ ยังไม่รวมการก่อกวน เช่น ยิงรบกวน ขว้างระเบิดเพลิง เผายางรถยนต์ โปรยตะปูเรือใบ ตัดต้นไม้ ถอดนอตรางรถไฟหรือเสาไฟฟ้า และวางวัตถุต้องสงสัย โดยประมาณกว่า 3,500 ครั้ง แม้ภาครัฐจะพยายามชี้แจงว่าสาเหตุความรุนแรงบางส่วนผสมโรงมาจากเรื่องการค้ายาเสพติดและขบวนการค้าของเถื่อนรวมถึงกลุ่มค้ามนุษย์ด้วย


         

 

 

         การยิงถล่มชรบ.ยะลา 15 ศพ เป็นเหตุการณ์ไม่บ่อยครั้งที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาราปาตานี หรือกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้ออกแถลงการณ์เป็นภาษารูมี โดยระบุว่าเป็นการปฏิบัติการของแนวร่วมในพื้นที่ ซึ่งผ่านการตัดสินใจของแกนนำในพื้นที่เพื่อตอบโต้รัฐบาลไทยที่ไม่จริงใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมอ้างว่าฝ่ายหนึ่งพร้อมที่จะเปิดเวที “พูดคุยสันติสุข” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่อีกทางหนึ่งมีการสั่งให้ชุดปฏิบัติการไล่ล่าแกนนำและกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะสัญญาณไม่ได้ส่งมาเฉพาะเมืองไทยแต่กว้างไกลออกไปสู่สากลด้วย

 

          กระทั่งหน่วยเกี่ยวข้องต้องเร่งระดมกำลังล่าติดตามกลุ่มก่อเหตุยิงถล่มฐานที่ตั้ง ชรบ.ยะลา จนสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้จำนวนหนึ่ง และวิสามัญระดับแกนนำได้ 2 ราย รวมทั้งออกหมายจับผู้ต้องหาอีกเกือบ 10 ราย พร้อมทั้งใช้กฎหมายพิเศษเข้าตรวจค้นจุดต้องสงสัยรวมถึงพื้นที่ภูเขาที่คาดว่าเป็นฐานของกลุ่มแนวร่วมด้วย โดยเฉพาะผลการตรวจค้นแหล่งพักพิงกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในบริเวณเขาตะโล๊ะสโตร์ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขยายผลติดตามจนพบแหล่งพักพิงและซุกซ่อนอาวุธและอุปกรณ์ที่เตรียมก่อเหตุนับ 1,000 รายการ

 

 

ถล่มชรบ.ยะลา15 ศพรุนแรงในรอบปี 'ไฟใต้'รอวันปะทุหรือมอดดับ

          การเข้าตรวจค้นครั้งนี้เป็นผลมาจากการติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุเข้าไปหลบซ่อนในบ้านแนวร่วมที่บ้านคอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนเกิดการปะทะจนแกนนำ 2 รายเสียชีวิต เมื่อตรวจสอบหลักฐานที่ตรวจยึดได้จนนำไปสู่การสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายบุกเข้าค้นแหล่งหลบซ่อนของกลุ่มบุคคลเป้าหมายบริเวณพื้นที่ภูเขาบ้านตะโล๊ะสโตร์ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา และเกิดการปะทะกันขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม และยึดของกลางอาวุธ-อุปกรณ์เหล่านั้นได้ อาทิ อาวุธปืนเล็กยาว เอ็ม 16 ปืนพก ขนาด 9 มม. ระเบิดแสวงเครื่องแบบท่อ (ไปป์บอมบ์) และกระสุนปืนจำนวนมาก รวมทั้งพบจุดที่ฝังและซุกซ่อนอาวุธจำนวนถึง 42 จุดในบริเวณโดยรอบฐานที่ตั้งด้วย 


       

 

 

            จากหลักฐานที่ตรวจค้นและยึดได้เชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งพักพิงและแหล่งซุกซ่อนสิ่งของสำหรับส่งกำลังของกลุ่มแนวร่วมที่ใช้เตรียมก่อเหตุในพื้นที่ โดยของกลางที่ตรวจยึดได้ทั้งหมดจะนำไปตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อขยายผลไปยังกลุ่มก่อเหตุและแนวร่วมที่ยังหลบหนีมาดำเนินคดีต่อไป

 

          ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมานับกว่าสิบปี ซึ่งภาครัฐได้ใช้ยุทธวิธีหลากหลายรูปแบบรวมทั้งกฎหมายพิเศษและกฎหมายมั่นคงในพื้นที่ อีกทั้งยังทุ่มเทงบประมาณไปแล้วกว่า 3 แสนล้านในการพยายามทำให้พื้นที่เกิดความสงบสุขและพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญ 

 

 

ถล่มชรบ.ยะลา15 ศพรุนแรงในรอบปี 'ไฟใต้'รอวันปะทุหรือมอดดับ

          อย่างไรก็ตาม ส.ส.ในภาคใต้ได้อภิปรายในสภาถึงการจัดสรรงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลในปี 2563 ภายใต้กรอบวงเงินรวม 36,561.4 ล้านบาท นอกจากงบที่ปรากฏในแผนงานบูรณาการ 10,865.5 ล้านบาท ยังตั้งงบในแผนงานอื่นๆ อีก 25,696 ล้านบาท โดยเฉพาะมีการตั้งงบงานความมั่นคงและการทหารถึง 13,299.4 ล้านบาท (36.4%) รองลงมาคืองานพัฒนา 8,952 ล้านบาท (24.5%) และงานก่อสร้างถนน 6,174 ล้านบาท (16.9%) ทั้งนี้มีการกำหนดตัวชี้วัด 3 ตัว ได้แก่ เหตุรุนแรง-สูญเสียลดลง 20% เศรษฐกิจในพื้นที่โตขึ้น 10% และหน่วยงานจัดกิจกรรมร่วมกับประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 90% ทำให้ ส.ส.ตั้งคำถามว่าตัวชี้วัดสะท้อนผลสำเร็จได้จริงกับสถานการณ์ที่ยังเกิดขึ้นหรือไม่

 

          รวมทั้งตัวชี้วัดสำคัญอีกหนึ่งตัวที่ตกหายไปคือความก้าวหน้าในการพูดคุยสันติสุข ทั้งที่การสำรวจความคิดเห็นพบว่าประชาชนในพื้นที่ 65% เห็นว่าการพูดคุยสันติสุขคือแนวทางหลักในการแก้ปัญหา แต่เมื่อตัวชี้วัดนี้ไม่ถูกนำมากล่าวถึงไม่ทราบว่าแนวทางเวทีสันติภาพจะเดินไปในทิศทางใดกันแน่

 

 

ถล่มชรบ.ยะลา15 ศพรุนแรงในรอบปี 'ไฟใต้'รอวันปะทุหรือมอดดับ

          บทสรุปสถานการณ์ชายแดนใต้แม้การก่อเหตุจะดูเหมือนว่าลดลงแต่ก็ยังมีเกิดขึ้นและบางครั้งเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ดังนั้นปัญหาไฟใต้จึงยังคงคุกรุ่นที่รอวันให้คลี่คลายสงบ หรือปะทุรุนแรงกว่าเดิม....ก็อยู่ที่ภาครัฐและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือเป็นเอกภาพและต้องเข้าใจปัญหาให้ถ่องแท้เพื่อแสวงหาแนวทางและขับเคลื่อนให้ไฟใต้มอดดับลงให้ได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ