ข่าว

วอนตรวจสอบ งบแก้ภัยแล้งกว่า 200 ล้านบาท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วอนตรวจสอบ งบแก้ภัยแล้งกว่า 200 ล้านบาท

 

 

               วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม หลังมีชาวบ้าน ในพื้นที่ ทั้ง 12 อำเภอ ร้องเรียนผ่านสื่อไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาล ให้มีการตรวจสอบ เกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง

 

               หลังรัฐบาลมีการอนุมัติงบประมาณเฉพาะกิจแก้ภัยแล้ง ประจำปี 2562 จังหวัดละ 200 ล้านบาท โดยจังหวัดนครพนม เป็น 1 ในจังหวัดของภาค อีสาน ที่ได้รับงบประมาณดำเนินโครงการ จำนวน 200 ล้านบาท

 

               จนกระทั่งมีการพิจารณาในระดับจังหวัด ตามนโยบายรัฐบาล เกี่ยวกับการพัฒนาแหลงน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่ โดยได้มีการเฉลี่ยอนุมัติงบประมาณลงพื้นที่ อำเภอละประมาณ 10 -15 ล้านบาท ตามสภาพความเดือดร้อน เพื่อทำโครงการขุดลอกพัฒนาแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน รวมถึงการขุดเจาะบ่อบาดาล

 

               เพื่อการอุปโภค และบริโภค จนกระทั่งเกิดปัญหาในการดำเนินการ เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ ตรวจสอบพบว่า ในการดำเนินการไม่คุ้มค่างบประมาณ มีการขุดลอกขาดมาตรฐาน บางจุดมีการหมกเม็ด ปริมาณงานไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า

 

               ที่สำคัญโครงการส่วนใหญ่ จะมีการใช้ช่องว่าง ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง คือ การตกลงราคาหาผู้รับจ้าง ในราคาโรงการละไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่ต้องใช้วิธีประกวดราคา ในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้าง ทำให้เอื้อประโยชน์ต่อสายนักการเมือง และนายทุนบางกลุ่ม เข้ามาแสวงประโยชน์รับงาน ทั้งนี้ชาวบ้าน

 

               จึงออกมาเรียกร้องผ่านสื่อ ให้หน่วยงานระดับจังหวัด รวมถึงรัฐบาล และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบ ป้องกันการทุจริต และเอื้อประโยชน์แก่นายทุน ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่า ตามนโยบายรัฐบาล

 

วอนตรวจสอบ งบแก้ภัยแล้งกว่า 200 ล้านบาท

 

วอนตรวจสอบ งบแก้ภัยแล้งกว่า 200 ล้านบาท

 

               เช่นเดียวกันกับพื้นที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ได้มีตัวแทนชาวบ้าน นำโดย นางเถาวัลย์ ทักโลวา อายุ 59 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านนาดี ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร จ.นครพนม พร้อมด้วย นายณรงค์ พลชา อายุ 61 ปี ชาวบ้านนาคอย หมู่ 5 ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร พร้อมตัวแทนชาวบ้าน

 

               ได้ประสานมายัง นายปรียา ผาลุธรรม อายุ 52 ปี ประธานศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ชมรมสหายข่าวอาสา ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชน จ.นครพนม เครือข่ายธรรมาภิบาล ภาคประชาชน นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

 

               เพื่อสะท้อนปัญหาไปยัง หน่วยงานระดับจังหวัดและรัฐบาล ให้ตรวจสอบแก้ไข เนื่องจากพบว่า การดำเนินโครงการขุดลอกพัฒนาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง ของ อ.เรณูนคร จ.นครพนม บางส่วน ดำเนินการไม่เหมาะสม

 

               ไม่ตรงตามงบประมาณ และใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ อาทิ โครงการขุดลอก หนองผักไหม บ้านหัวขัวใต้ หมู่ 1 ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร งบประมาณ 495,000 บาท ขนาดความกว้าง 77 เมตร ยาว 120 เมตร ปริมาณดิน

 

               จำนวนไม่น้อยกว่า 10,919 ลบ.ม. ซึ่งในการขุดลอก ไม่มีการขุดลอกความลึกเพิ่มจากจุดเดิม แต่ใช้วิธีทำคันคูให้มีความสูงขึ้น เพื่อให้ได้ขนาดความลึก ตามแบบ ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในระยะยาว

 

               นอกจากนี้ยังมี โครงการขุดลอกหนองท่ม บ้านนาลอย หมู่ 5 ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร จ.นครพนม ความกว้างประมาณ 30 เมตร ยาว 14 เมตร ลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร มีปริมาณดินขุดไม่น้อยกว่า 4,498.20 ลบ.ม. งบประมาณ จำนวน 204,200 บาท แต่ชาวบ้านตรวจสอบ พบว่า มีเพียงการยกคันคูขึ้นรอบ หนองน้ำเดิม

 

               และไม่มีการขุดระดับความลึกจากจุด เดิม โดยชาวบ้านระบุว่า หากมีการดำเนินการ เพียงแค่นี้ ไม่เกิดประโยชน์ กับชาวบ้าน อีกทั้งยังสูญเสียงบประมาณเปล่าประโยชน์ ไม่คุ้มค่า งบประมาณภาษีของประชาชน จึงต้องการเรียกร้องให้ทางอำเภอ ไปยังจังหวัด และหน่วยงาน เกี่ยว ข้อง มีการตรวจสอบ กำกับดูแล ให้เกิดมาตรฐาน คุ้มค่างบประมาณ

 

วอนตรวจสอบ งบแก้ภัยแล้งกว่า 200 ล้านบาท

 

วอนตรวจสอบ งบแก้ภัยแล้งกว่า 200 ล้านบาท

 

               นายณรงค์ พลชา อายุ 61 ปี ชาวบ้านนาคอย หมู่ 5 ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับตัวแทนชาวบ้าน ในพื้นที่ หลังพบว่า โครงการขุดลอกพัฒนาหนองน้ำของทางอำเภอ ที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล

 

               มีการดำเนินการขุดลอกง่ายเกินไป เมื่อเทียบกับงบประมาณ ที่นำป้ายมาปักไว้ หลายแสนบาท ตรวจสอบแล้วไม่คุ้มค่า เพราะบางจุดแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ที่สำคัญหากทำเพียงเท่านี้ ระยะยาว ไม่เกิดประโยชน์กับชาวบ้าน

 

               ไม่สามารถเก็บกักน้ำช่วยภัยแล้งได้ อย่างแน่นอน จึงอยากให้ ทางจังหวัดมีการตรวจสอบให้ได้มาตรฐาน ให้ประชาชน ได้ใช้ประโยชน์จริง นายปรียา ผาลุธรรม อายุ 52 ปี ประธานศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ชมรมสหายข่าวอาสา

 

               ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชน จ.นครพนม เครือข่ายธรรมาภิบาล ภาคประชาชน จ.นครพนม เปิดเผยว่า วันนี้ได้ ร่วมกับตัวแทนชาวบ้าน ในพื้นที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ลงพื้นที่ ตรวจสอบ ปัญหาโครงการก่อสร้าง พัฒนาแหล่งน้ำ หลังชาวบ้าน ร้องเรียนให้ข้อมูลว่า มีการหมกเม็ด ในการทำงาน ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ

 

               เบื้องต้น ตรวจสอบ เพียงแค่ 2 จุด พบว่า มีปัญหาจริง หากเทียบกับ งบประมาณ ตามป้ายที่ระบุในสัญญาจ้าง จุดแรก ประมาณเกือบ 5 แสนบาท จุดที่สองประมาณ 2 แสนกว่าบาท แต่หากโครงการดังกล่าวเป็นการทำงานที่เสร็จสมบูรณ์

 

               ยืนยันมีปัญหาแน่นอน เพราะตรวจสอบเนื้องาน เบื้องต้น ไม่สมกับราคางบประมาณจ้างแน่นอน บางจุดแทบจะไม่มีการขุด อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวมีข้อมูลว่า มีปัญหาทุกอำเภอ ทั้ง 12 อำเภอ ในพื้นที่ จ.นครพนม

 

               ถือเป็นงบประมาณไม่น้อย ที่รัฐบาลอนุมัติ มาช่วยเหลือชาวบ้าน ร่วม 200 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมหลักฐาน ความเดือดร้อน นำไปเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

 

               ไปจนถึงรัฐบาล ให้ตรวจสอบดูแล ให้ได้มาตรฐานมากที่สุด ถ้าปล่อยไว้จะถูกผลาญงบสูญเปล่า แต่หากโครงการที่พบเห็น ยังไม่แล้วเสร็จ ถือเป็นเรื่องดี ต้องมีการขุดลอกเพิ่ม ที่สำคัญที่มีการตรวจสอบ เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการตกลงราคา หาผู้รับจ้างด้วยวิธีพิเศษ ไม่มีการประกวดราคา และส่วนใหญ่พบว่า

 

               ผู้รับจ้างจะเป็นรายเดียวกันทั้งหมด ด้าน นายนิทัศน์ เทศน์สวัสดิ์ นายอำเภอเรณูนคร จ.นครพนม เปิดเผยว่า กรณีมีชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียน ขอนำเรียนว่า อ.เรณูนคร ได้รับงบประมาณแก้ภัยแล้ง ประมาณ 9 ล้านบาท

 

               รวมประมาณ 15 โครงการ กระจายไปตาม ชุมชนหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ที่เดือดร้อน เรื่องแหล่งน้ำ ซึ่งการดำเนินการหาผู้รับจ้าง จะเป็นการ ใช้วิธีตกลงราคา ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างกรณีพิเศษ ราคาไม่เกิน 5 แสนบาท

 

               ยืนยันว่า ดำเนินการ ด้วยความเหมาะสม ไม่มีการเอื้อประโยชน์ ต่อกลุ่มทุนรายใดรายหนึ่ง ส่วนการดำเนินการที่ชาวบ้าน ให้ข้อมูลว่าไม่คุ้มค่างบประมาณ ทางอำเภอได้ ตรวจสอบแล้ว ว่าทางผู้รับจ้างยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

 

               และจะเข้าไปดำเนินการอีกรอบ เนื่องจากสัญญาจ้างสิ้นสุด เดือนมกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม ได้มีการประสาน เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบดูแล กำกับ ให้ผู้รับจ้างดำเนินการตามแบบมาตรฐาน ทุกจุด ขอให้มั่นใจว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้

 

วอนตรวจสอบ งบแก้ภัยแล้งกว่า 200 ล้านบาท

 

วอนตรวจสอบ งบแก้ภัยแล้งกว่า 200 ล้านบาท

 

ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระ ธัญญากุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดนครพนม รายงาน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ