ข่าว

ศาลตัดสิน ไทวานรต้านโปแตช จ่าย 1.5 ล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน ตัดสิน 9 แกนนำไทวานร จ่ายเงินชดใช้ 1.5 ล้านบาท ต่อต้านสำรวจเหมืองแร่โปแตช

 

               สกลนคร - ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน ตัดสินให้ "9 แกนนำไทวานร" ต่อต้านสำรวจเหมืองแร่โปแตช อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ต้องจ่ายเงินชดใช้ 1.5 ล้านบาท กรณีขัดขวางการเข้าขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช หลุมที่ 4 

 

               เวลา 09.00 น.วันที่ 31 ก.ค.2562 ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน ได้นัดคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาฟังคำตัดสินของศาล ซึ่งบรรยากาศก่อนการขึ้นฟังคำตัดสินของศาล  มีกลุ่มชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านของ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เดินทางด้วยรถยนต์โดยสาร ได้นำดอกไม้มาให้กำลังใจแกนนำชาวบ้านที่คัดค้านการเข้าขุดเจาะสำรวจหลุม 4 บ.น้อยหลักเมือง และถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายครั้งนี้

 

ศาลตัดสิน ไทวานรต้านโปแตช จ่าย 1.5 ล้าน

ศาลตัดสิน ไทวานรต้านโปแตช จ่าย 1.5 ล้าน

 

               คือ นายกิจตกรณ์ น้อยตาแสง จำเลยที่ 1, นางสาวสุดตา คำน้อย จำเลยที่ 2, นางสัมฤทธิ์ โบราณมูล จำเลยที่ 3, นางมะลิ แสนบุญศิริ จำเลยที่ 4, นายชัยทรัพย์ บัวพินธุ จำเลยที่ 5, นายนงค์ชัย พันธ์ดา จำเลยที่ 6, นางสาวไสว อายุคง จำเลยที่ 7, นางพิสมัย สุขะ จำเลยที่ 9 ขาดเพียงนายโอฬาร บุตรแสนคม จำเลยที่ 8 ที่ไม่ได้มาฟังคำตัดสิน และแจ้งว่าป่วย ก่อนที่แกนนำ และชาวบ้านทั้งหมดได้เดินเท้าแถวเรียงหนึ่ง ไปยังศาลจังหวัดสว่างแดนดิน เพื่อรอฟังคำตัดสินของศาลชั้นต้น

 

               ต่อมาเวลา  11.00 น. แกนนำชาวบ้าน 8 คน และกลุ่มชาวบ้านได้เดินลงมาจากห้องพิจารณาคดี  และรวมตัว ที่อาคารพักญาติ ด้านหลังศาลจังหวัดสว่างแดนดิน เพื่อร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และมีทีมทนายความ มาชี้แจงคำตัดสินของศาล ที่มีคำสั่งให้แกนนำชาวบ้าน ชดใช้เงินรวม 1.5 ล้านบาท ลดหย่อนจากการถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 3,611,609.99 บาท   โดยแกนนำชาวบ้านที่ตกเป็นจำเลย ถูกฟ้องร้องค่าเสียหาย ได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า จะต่อสู้ต่อไปแม้จะถูกฟ้องร้อง

 

ศาลตัดสิน ไทวานรต้านโปแตช จ่าย 1.5 ล้าน

 

               นายกิจตกรณ์ น้อยตาแสง จำเลยที่ 1 บอกว่า วันนี้เป็นคดีแรกของชาวบ้าน แต่ผมว่าคดีวันนี้ค่อนข้างสับสน ตอนแรกชาวบ้านมั่นใจว่ามันจะเป็นไปตามแนวทางของเรา แต่สุดท้ายต้องร่วมกันชดใช้ การสู้ของเรามันจะไม่สูญเปล่า แต่จะสู้ต่อไป

 

               ด้านนางมะลิ แสนบุญศิริ จำเลยที่ 4 กล่าวว่า  วันนี้ถึงจะโดนคดี ไม่ว่าจะคดีต่อๆ ไปก็พร้อมที่จะสู้ คนเราเกิดมาภูมิใจที่ได้ทำความดีเพื่อแผ่นดินเพื่อพี่น้อง  

 

               ส่วนนางสาวสุดตา คำน้อย จำเลยที่ 2 กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เราเห็นพี่น้องที่ไม่ทิ้งเรา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคน 9 คน แต่เป็นเรื่องของคนไทวานร  เราไม่เคยมาศาล เราไม่เคยมาฟังคำพิพากษา ไม่เคยแม้แต่การสืบพยาน แต่วันนี้ทำให้เรารู้ว่าเราจะต้องทำอะไรมากกว่าเดิม จะต้องเรียนมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่ว่าเราจะสู้แบบเดิมๆ  กฎหมายเราก็ต้องรู้จัก มันมีหลายๆ อย่างที่เราจะต้องกลับไปปรับปรุงตนเอง

 

               ด้าน นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูล ตัวแทนทีมทนายฝ่ายชาวบ้าน กล่าวว่า  การที่ชาวบ้านไปชุมนุม ขัดขวางทางเข้าทำงานของบริษัทเป็นการละเมิด  เนื่องจากศาลเห็นว่า การที่บริษัทจะเข้าไปสำรวจเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย  เพราะการดำเนินการตามกฎหมายใครก็จะไปขัดขวางไม่ได้  ศาลจึงมองว่าเป็นเรื่องของการละเมิด  

 

               ในประเด็นเรื่องความเสียหาย บริษัทได้ฟ้องค่าเสียหาย เรื่องของค่าใช้จ่ายการดำเนินเพื่อสำรวจ อาทิ ค่าแท่นปูน ค่าสายไฟ  ศาลมองว่า เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงต้องชดใช้  ในประเด็นของเงินเดือน โดยเฉพาะเงินเดือนของ วิศวกร 13 คน ศาลก็มองว่า ช่วงที่มีการละเมิดกัน จนไม่สามารถทำงานได้ คือวันที่ 9-15พฤษภาคม จึงไม่นับรวมไปถึงเดือนมิถุนายน

 

               ในส่วนของการเรียกร้องค่าเสียหาย ที่ไม่สามารถทำสำรวจขุดเจาะได้อีกต่อไป  บริษัทฟ้องค่าเสียหายมา 2,000,000 บาท ตรงนี้ศาลมองว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้านเพราะว่าเกิดปัญหาและเมื่อร้องเรียนไปที่ไหน หน่วยงานก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ศาลยังมองด้วยซ้ำไปว่า ตรงนี้จริงๆหน่วยงานจะต้องมารับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายให้  เพราะว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่แก้ไขปัญหา จนทำให้ชาวบ้านต้องลุกมาสู้  

 

               ซึ่งกระบวนการชดใช้ค่าเสียหาย  ศาลก็มองว่า น่าจะต้องใช้กระบวนการการคำนวณ ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น  ศาลจึงขอให้ลดหย่อนลงจาก 2 ล้านบาท  เหลือประมาณ 450,000 บาท ทำให้มีค่าเสียหายทั้งหมดที่ศาลมีคำสั่ง ให้กลุ่มแกนนำชาวบ้าน ต้องชำระเป็นจำนวนเงิน 1.5 กว่าล้านบาท  พร้อมทั้งชำระดอกเบี้ย

 

ศาลตัดสิน ไทวานรต้านโปแตช จ่าย 1.5 ล้าน

 

               “ยังมีประเด็นหลายๆประเด็นที่ได้ฟัง ทำให้ต้องมีการอุทธรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อเท็จจริง การที่ศาลเชื่อว่าทั้ง 9 คนเป็นแกนนำ ซึ่งฟังจากการเบิกความของตำรวจ ว่า จำเลยทั้ง 9 คน อยู่ในพื้นที่ทุกวัน แต่อยู่คนละช่วงเวลา มาทุกวัน เห็นทุกวัน มีการถ่ายภาพเจาะเป็นรายคนแล้วก็ไปเจาะจงเป็นแกนนำอันนี้ก็เป็นประเด็นอยู่เหมือนกัน  ซึ่งต่อไปคนที่ไปชุมนุม เราพูดถึงผู้ชุมนุมอื่นๆ ต่อไปถ้าสมมุติตำรวจจะแกล้งใครก็ไปถ่ายรูปคนนั้นแล้วก็ส่งรายงาน  แล้วก็กลายเป็นว่า เชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นแกนนำ ซึ่งก็คงไม่ใช่ มันต้องดูพฤติการณ์  ต้องมีการสืบให้ชัดว่าพฤติการณ์คือ ใคร ทำอะไรที่มีลักษณะที่เป็นแกนนำอย่างชัดเจนด้วย  

 

               หรือเรื่องโทรโข่ง ในสำนวนการสอบสวน คือไม่มี หมายถึงในสำนวนการสืบพยาน ไม่ได้มีการสืบเลยว่ากลุ่มชาวบ้านมีโทรโข่ง  แต่ตรงจุดนี้ชาวบ้านบอกว่า  เหมือนตำรวจนำมาใช้เพื่อสื่อสาร  แต่ไม่ใช่โทรโข่งของชาวบ้าน  ซึ่งการใช้โทรโข่ง แล้วจะนำมาเป็นประเด็นของการพูดเรื่องว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ หรืออะไรก็คงไม่ใช่  และจากนี้ขั้นตอนต่อไปจากการได้พูดคุยกับชาวบ้าน จะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อไป นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว

 

               ส่วนนายวัชรินทร์ ศรีถาพร ทนายฝ่ายโจทก์ กล่าวว่า  วันนี้ศาลได้ให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย โดยการพิจารณาคดีศาลดูจากพยานหลัก ดูจากการกระทำ ของทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับการฟ้องร้องค่าเสียหาย ท่านมองในแง่ของการละเมิด เมื่อมีการละเมิดกันแล้วเกิดความเสียเท่าไร  ส่วนนี้ทางบริษัท ยื่นฟ้องไป 3.6 แสนกว่าบาท ศาลท่านมีเมตตากับชาวบ้าน ท่านก็ลดลงให้ตามความเหมาะสม ตามที่จ่ายเราจ่ายจริง เช่นค่าขาดโอกาส เราฟ้องไป 2 ล้าน  ศาลก็ให้กลุ่มชาวบ้าน ชดใช้ให้บริษัทคนละ 45,000 บาท ถือว่าน้อยมาก แต่ในภาพรวมก็พอใจในคำพิพากษาครั้งนี้

 

               ซึ่งการฟ้องร้องคดีกับกลุ่มชาวบ้าน เกิดจากกรณีที่ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้อาชญาบัตรพิเศษ ในการสำรวจแร่โปแตช ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 116,875 ไร่  อายุอาชญาบัตรพิเศษ 5 ปี ตั้งแต่ 12 มกราคม 2558 อายุสิ้นสุด 4 มกราคม 2563  โดยบริษัทมีเป้าหมายจะขุดเจาะสำรวจ 53 หลุม แต่ได้เข้าสำรวจได้แค่ 3 หลุม จนมาถึงหลุมที่ 4 บริเวณ บ.น้อยหลักเมือง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เกิดการคัดค้านของชาวบ้าน จนบริษัทไม่สามารถดำเนินการต่อได้

 

               ทำให้บริษัทได้ยื่นฟ้องต่อ กลุ่มแกนนำชาวบ้าน จำนวน 9 ราย  ว่า ระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤษภาคม 2561  ได้มีชาวบ้านชุมนุมคัดค้านการสำรวจแร่โปรแตส หลุมที่ 4 เป็นเหตุให้ บริษัท ไม่สามารถดำเนินการ ตามกรอบระยะเวลา ในขั้นตอนกระบวนการสำรวจ บริษัท ไชน่าหมิงต๋า โปแตช คอร์ปเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินการฟ้อง นายกิจตกรณ์ น้อยตาแสง จำเลยที่ 1 กับพวก ในข้อหาละเมิด และเรียกร้องค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 3,611,609.99 บาท ตามเลขคดีดำ เลขที่ พ.1133/256 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ