ข่าว

ยังไม่พบการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังในลำพูน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลำพูนจัดประชุมคณะอนุฯดูแลการบริหารจัดการมันสำปะหลังระดับจังหวัด ติดตามสถานการณ์โรคใบด่าง ยันไม่พบการระบาดในพื้นที่ พร้อมเร่ง ปชส.มาตรการบริหารจัดการมันสำปะหลัง

 

          นายเมธี บัวพึ่ง พาณิชย์จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ได้ดำเนินการจัดการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการบริหารจัดการมันสำปะหลังระดับจังหวัด เพื่อรับทราบข้อมูลสถานการณ์การผลิต การตลาด และการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62 จังหวัดลำพูน

 

ยังไม่พบการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังในลำพูน

 

          โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่สบปัญหาโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ในพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและความเสียหายของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง และช่วยเหลือเกษตรกรกรณีไม่สามารถขายผลผลิตคุณภาพดีได้ โดยชดเชยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบในอัตรา กก.ละ 1 บาท ไม่เกิน 3,000 บาทต่อไร่ ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนแจ้งว่า ยังไม่พบความเสียหายจากโรคไวรัสใบด่างมัน ในพื้นที่แต่อย่างใด

 

          นายเมธี  กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ทางจังหวัดประชาสัมพันธ์มาตรการ แนวทางบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62 ของรัฐบาล ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ได้รับทราบ ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนเงินทุนสำหรับซื้อเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็ก พร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์สำหรับตากมันเส้นเพื่อการแปรรูปให้กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน รายละ 15,000 บาท 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3.สินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด 4.สินเชื่อเพื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง สูงสุดรายละ 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ต่อเดือน

 

       

 

ยังไม่พบการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังในลำพูน

 

          สำหรับสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62 จังหวัดลำพูน มีพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งจังหวัด 3,854 ไร่ แบ่งเป็นปลูกที่อำเภอลี้ 3,530 ไร่ อำเภอทุ่งหัวช้าง 325 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งจังหวัด จำนวน 8,825 ตัน มีเกษตรกร 462 ครัวเรือน โดยปีนี้พื้นที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่ผ่านมา คิดเป็น 32.58% เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทน เพราะราคาจูงใจ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ