ข่าว

เที่ยวเชียงคาน เบิ่ง "ผีขนน้ำ"ไหว้พระโบราณล่องแก่งคุดคู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เชียงคาน" เป็นเมืองชายแดนของ จ.เลย ที่มีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทย-ลาว ทั้งยังมีอารยธรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนานนับพันๆ ปี

 กมล คงปิ่น นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคาน จึงมุ่งมั่นที่จะนำเอาความสวยงามตามธรรมชาติ และความล้ำค่าทางอารยธรรมโบราณของที่นี่มาเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  วัฒนธรรม และการเกษตรแบบครบวงจร

 สำหรับโบราณสถานสำคัญของเมืองเชียงคาน คือ "วัดมหาธาตุ" ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงคาน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2202 ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า "หลวงพ่อใหญ่" เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง ศิลปะล้านช้าง

 เดิมวัดมหาธาตุมีธรรมมาสน์ และสัตตภัณฑ์ไม้ศิลปะล้านช้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 และธรรมมาสน์ไม้ศิลปะรัตนโกสินทร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 25 แต่น่าเสียดายที่ถูกโจรใจบาปขโมยไป เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547

 ขณะที่ประเพณีโบราณของที่นี่ก็มีเสน่ห์ดึงดูดไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะประเพณี "ออกพรรษา" ซึ่งจัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี โดยประเพณีหลักๆ ที่ยังถือปฏิบัติกันอยู่ ได้แก่ การตักบาตรเทโว การไหลเรือไฟ และการทำต้นปราสาทผึ้ง

 ส่วนในปี 2552 นี้ ชาวเชียงคานจะรื้อฟื้นประเพณีเก่าแก่เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษอีกครั้ง นั่นคือ การลอยปราสาทผึ้ง และ การไหลเรือไฟบก

 การสร้างปราสาทผึ้ง หรือ "ผาสาทผึ้ง" โดยชาวเชียงคานเชื่อว่า การถวายต้นปราสาทผึ้งโดยการลอยตามแม่น้ำโขงเป็นการแสดงความเคารพบูชาแก่พญานาค เพื่อให้พญานาคปกป้องคุ้มครองในการเดินเรือให้ปลอดภัย

 ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ขึ้นชื่อของเชียงคาน คือ "แก่งคุดคู้" ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่กลางลำน้ำโขง ส่วนบริเวณริมน้ำก็มีหาดทรายขาวสะอาดตา ทั้งยังมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจมากมาย เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก เรือบริการล่องแม่น้ำโขง เป็นต้น

 ประเพณีที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของชาวเชียงคาน คือ ประเพณี "ผีขนน้ำ" ของชาว ต.นาซ่าว ที่จะจัดขึ้นในเทศกาล "บุญเดือนหก" หลังวันวิสาขบูชา ในระหว่างวันแรม 1-3 ค่ำ เดือนหก

 ประเพณีผีขนน้ำ หมายถึงการละเล่นที่จะมีผู้เล่นแต่งกายเลียนแบบวัวควาย เนื่องจากวัวควายเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อชาวนา และเป็นสัตว์ที่ใช้เซ่นไหว้ในพิธีดังกล่าวด้วย

 ความเชื่อของการประกอบพิธีนี้ เพราะเชื่อว่าวิญญาณของวัวควายที่ตายไปยังคงวนเวียนอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง ฯลฯ เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำอาบ วิญญาณสัตว์เหล่านั้นก็จะตามคนเข้าหมู่บ้าน ซึ่งได้ยินแต่เสียงกระดึง กระดิ่ง แต่จะไม่เห็นตัวตน

 ผีชนิดนี้จึงเรียกกันว่า "ผีขนวัว" หรือ "ผีขนควาย"

 ส่วนความเชื่ออีกสายหนึ่งอธิบายว่า การที่เรียกว่าผีขนน้ำ เนื่องจากการละเล่นในช่วงเดือนหกของทุกปีมักจะมีฝนตกลงมาทุกครั้ง จึงเรียกพิธีกรรมนี้ว่า ผีขนน้ำไปโดยปริยาย

 สำหรับรูปร่างของ "ผีขน" จะประกอบด้วยหน้ากากที่ทำขึ้นจากไม้งิ้ว (ไม้นุ่น) ไม้ตีนเป็ด (ไม้พญาสัตบรรณ) ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน นำมาถากตกแต่งคล้ายหน้าวัวควาย โดยจะเจาะจมูก ติดใบหู ติดเขา แล้วเอาไปผึ่งให้แห้ง

 จากนั้นจึงลงสีสัน เขียนตาให้ดุๆ แต่กลับเขียนปากให้เผยอยิ้มนิดๆ แล้วประดับประดาด้วยเศษกระดาษให้ปลิวไสวยามที่ต้องลม แต่เนื่องจากหน้ากากผีขนมีน้ำหนักมาก ผู้เล่นจึงไม่ได้สวมใส่ แต่จะเทินไว้เหนือหัวในขณะทำพิธีเท่านั้น

 เดิมประเพณีนี้เรียกว่า "ผีโขน"  เป็นพิธีกรรมเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงผีปู่ย่า ตา ยาย ตามประเพณีความเชื่อในการนับถือ "ผีบรรพบุรุษ" เพื่อเป็นการตอบแทนคุณ และให้บรรพบุรุษคุ้มครองคนที่อยู่ในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชผลให้ผลผลิตดี

 การบูชาผีบรรพบุรุษนี้จะมีพิธีการบวงสรวงในวันพฤหัสบดีของเดือนหก ก่อนฤดูกาลทำนาทำไร่จะเวียนมาถึง

 ส่วนสัตว์ที่จะนำมาเซ่นไหว้ ประกอบด้วย วัว ควาย หมู เป็ด และไก่ ซึ่งจะมีการจัดมาเซ่นไหว้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุกปี  ซึ่งพิธีกรรมนี้ เรียกว่า "เลี้ยงหอเจ้าปู่" โดยมี "ขจ้ำ" หรือ "จ้ำ" (คนทรงหรือบัวนาง) เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงหอเจ้าปู่

 ในปีนี้ นายเริงชัย ไชยวัฒน์ นายอำเภอเชียงคาน ได้ร่วมกับ นางณัฎฐ์ชุดา มีแพง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าว  และพ่อค้าประชาชนตำบลนาซ่าว จัดงานเพื่อสืบสานประเพณี  “ผีขนน้ำบ้านนาซ่าว” ในระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม นี้

 ออกพรรษานี้ ใครมีเวลาว่างไปเที่ยวเชียงคาน นอกจากจะได้เพลิดเพลินกับขบวนแห่ผีโขน หรือผีขนน้ำแล้ว ยังได้ชมแก่งคุดคู้ พร้อมแวะสักการะวัดโบราณเพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิตได้อีกด้วย


บุญชู ศรีไตรภพ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ