Lifestyle

รู้ทัน"ไส้เลื่อน" ..เรื่องใกล้ตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไส้เลื่อน"คือภาวะที่ "ลำไส้"เคลื่อนตัวออกมาจากตำแหน่งเดิมและทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้าย"ก้อนตุง" ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน และอาจนำไปสู่การ"เสียชีวิต"ได้


"ไส้เลื่อน" คือภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาจากตำแหน่งเดิมและทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้าย"ก้อนตุง" ซึ่งเกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องที่มีมาแต่กำเนิดหรือเกิดภายหลังเช่นจากการผ่าตัด ภาวะแรงดันที่มากผิดปกติภายในช่องท้อง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เบ่งจากภาวะท้องผูก การไอหรือจาม การยกของหนัก 

 ประเภท "ไส้เลื่อน" 

 "ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ" เป็นภาวะ"ไส้เลื่อน" ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของผนังช่องท้องตั้งแต่กำเนิด โดยลำไส้เคลื่อนมาติดคาที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ แต่บางกรณีลำไส้อาจเคลื่อนตัวแต่ไม่ติดคายังบริเวณที่เกิด

 

 อาการ"ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ "มักมาพร้อมกับอาการปวดหน่วง ๆ หรืออาการปวดแสบปวดร้อน และจะยิ่งปวดมากขึ้นหรือเห็นได้ชัดหากออกกำลังกาย หรือเกิดอาการ ไอ จาม

 

"ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ" คือ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาตุงที่บริเวณกลางหน้าท้อง ทำให้เห็นลักษณะเป็นก้อนนูนบริเวณสะดือ


 

"ไส้เลื่อนเนื่องจากการผ่าตัด" เป็นภาวะไส้เลื่อนที่อาจเกิดขึ้นหากผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดที่บริเวณช่องท้องมาก่อนทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้องในบางกรณี

 

 "ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ" โอกาสในการเกิด"ไส้เลื่อน"ในบริเวณนี้จะน้อยกว่าบริเวณขาหนีบ เกิดอาการปวดบริเวณต้นขาและอาจมีอาการปวดที่ขาหนีบร่วมด้วย


นอกจากนี้ยังมีภาวะ"ไส้เลื่อน"บริเวณอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ เช่น ไส้เลื่อนบริเวณกระบังลม ไส้เลื่อนบริเวณหน้าท้องเหนือสะดือ หรือไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งก็เกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องเช่นกัน


อาการของ"โรคไส้เลื่อน"

อาการของ "ไส้เลื่อน" ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ผู้ป่วยรู้สึกมีก้อนลักษณะตุงอยู่บริเวณที่มีลำไส้เคลื่อนตัวออกมา และมีอาการเจ็บโดยเฉพาะเวลาที่ก้มตัว ไอ หรือยกสิ่งของ บางรายอาจมีความผิดปกติที่ช่องท้อง รู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน

 

หากมีอาการ"ไส้เลื่อน" ที่บริเวณกระบังลม อาจทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน เจ็บหน้าอก หรือมีปัญหาในการกลืน ทว่าผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย มีแต่เพียงอาการให้เห็นภายนอกเท่านั้น

 

ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณที่เป็น"ไส้เลื่อน"อย่างเฉียบพลันหรือภาวะ"ไส้เลื่อน"เดิมที่เป็นหนักขึ้น โดยมักพบว่าผู้ป่วยมีอาการอาเจียน ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร

 

หรือบริเวณที่"ไส้เลื่อน"ออกมาตุงที่ผนังหน้าท้องมีลักษณะแข็งจนไม่สามารถใช้มือกดบริเวณที่เป็นก้อนลงไปได้ ควรรีบพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงลำไส้ในบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนได้ เกิดอาการบวม เสี่ยงต่อภาวะ "ลำไส้ตาย" ซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัดด่วนเพื่อรักษาอาการ

 

สาเหตุของ "โรคไส้เลื่อน"

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด"ไส้เลื่อน" สามารถเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของเยื่อบุช่องท้อง ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่กำเนิด เกิดจากการเกิดอุบัติเหตุที่ช่องท้องจนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องท้องอ่อนแอลงหรือเกิดขึ้นจากการผ่าตัด 

 

นอกจากนี้ แรงดันภายในช่องท้องก็เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนได้อีกด้วย เพราะเมื่อแรงดันในช่องท้องมากขึ้น ลำไส้ที่อยู่ภายในก็จะถูกดันออกมาตุงอยู่ที่บริเวณผนังช่องท้อง

 

สาเหตุที่ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น

-การยกของหนัก ๆ ทำให้ต้องออกแรงมากซึ่งจะเกิดอาการเกร็ง ปอดขยายและดันกระบังลมลงมา ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น

 

-การตั้งครรภ์เมื่อมีทารกเกิดขึ้นภายในครรภ์ จะส่งผลให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น

 

-ปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น อาการท้องผูก 

 

-มีของเหลวอยู่ภายในช่องท้อง ของเหลวที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติในช่องท้องจะก่อให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้น

 

-การไอหรือจามแรง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจ หรือโรคเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคถุงลมโป่งพอง


ภาวะ"ไส้เลื่อน" ยังเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อีกด้วย โดยปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดภาวะ"ไส้เลื่อน"คือ

 -ผู้ป่วยเคยเป็นไส้เลื่อน หรือมีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นไส้เลื่อน

 

-มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน

 

-ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่


จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น "โรคไส้เลื่อน"

การวินิจฉัยด้วยตัวเอง วิธีการวินิจฉัยด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ คือการสังเกตความผิดปกติภายนอกของร่างกาย หากมีส่วนใดในบริเวณหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบมีลักษณะนูนเป็นก้อนออกมามากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด

 

การวินิจฉัยโดยแพทย์ เมื่อมาพบแพทย์ จะมีการตรวจร่างกายภายนอกก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งหากสงสัยว่ามี"ก้อนนูน"อยู่บริเวณช่องท้องหรือบริเวณขาหนีบ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืนและลองไอออกมา เพื่อให้เห็นอาการของ"ไส้เลื่อน"ได้ชัดเจนมากขึ้น

 

ทั้งนี้หากอาการ"ไส้เลื่อน"ไม่สามารถเห็นได้ชัดจากภายนอก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธี "อัลตราซาวด์"  ซึ่งเป็นวิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนปรากฏเป็นภาพ และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  ซึ่งเป็นการเอกซเรย์ด้วยลำแสงเอกซ์ (X-ray) ด้วยคอมพิวเตอร์

 

หากสงสัยว่าเป็น"ไส้เลื่อน"ที่ช่องอก แพทย์อาจทำการส่องกล้องผ่านทางลำคอลงไปยังหลอดอาหารและช่องท้องเพื่อตรวจวินิจฉัย

 

การรักษา "โรคไส้เลื่อน"

"ไส้เลื่อน" รักษาได้โดยการผ่าตัด โดยเฉพาะ"ไส้เลื่อนชนิดติดค้าง"ควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน


ส่วน "ไส้เลื่อน"ชนิดอื่น ๆ หากในระหว่างรอการผ่าตัด แพทย์อาจใช้ยาเพื่อประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม

 

อย่างไรก็ตามการใช้ยาสามารถประคับประคองอาการ"ไส้เลื่อน"ได้ชั่วคราวเท่านั้น  หากเริ่มมีอาการปวด แพทย์จะวินิจฉัยให้มี "การผ่าตัด"เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนเริ่มมีอาการอักเสบอย่างรุนแรงแล้ว


การผ่าตัดมี 2 วิธีดังนี้

การผ่าตัดแบบเปิด (Open surgery) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐาน โดยแพทย์จะทำการผ่าที่บริเวณหน้าท้องแล้วดันส่วนที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไปสู่ตำแหน่งเดิม จากนั้นแพทย์จะใส่วัสดุคล้ายตาข่ายเพื่อเสริมความแข็งแรง วิธีการผ่าตัดนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ และจะใช้วิธีนี้เช่นกัน หากต้องทำการผ่าตัดไส้เลื่อนเป็นการด่วน

 

การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) เป็นการผ่าตัดโดยผ่านกล้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ สำหรับการผ่าตัดชนิดนี้ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก สามารถฟื้นตัวได้ไว

 

แต่มีข้อเสียคือผู้ป่วยอาจกลับมาเป็น"ไส้เลื่อน"ซ้ำที่บริเวณเดิมได้ และมีค่าใช้จ่ายสูง

 

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด และสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติภายในไม่กี่สัปดาห์

 

ภาวะแทรกซ้อนของ"โรคไส้เลื่อน"

หากปล่อยอาการ "ไส้เลื่อน"ทิ้งไว้จนเรื้อรัง อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง อาทิ อาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน เนื่องมาจากแรงดันที่ไปกดทับบริเวณที่อยู่โดยรอบลำไส้ที่เลื่อนออกมา หรือทำให้เกิดอาการท้องผูก รู้สึกคลื่นไส้ เนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของลำไส้ถูกจำกัด อีกทั้งเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวอาจเกิดการติดเชื้อและตายในที่สุด อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

 

วิธีการป้องกัน"โรคไส้เลื่อน"

ไส้เลื่อนสามารถป้องกันได้ โดยการรักษาระดับแรงดันภายในช่องท้องให้เป็นปกติ และลดการเกร็งของกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องท้องด้วยวิธีเหล่านี้

 

-ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่อ้วนจนเกินไป

 

-รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำเพื่อลดอาการท้องผูก

 

-หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ควรยกสิ่งของให้ถูกวิธี ด้วยการย่อตัวลงและหยิบของโดยพยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ
ไม่สูบบุหรี่เพื่อลดอาการไอ

 

ที่มา:  เว็บ POBPAD

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ