Lifestyle

น่าทึ่ง.."หิ่งห้อย"แมลงจิ๋วเรืองแสง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หิ่งห้อย"มีลักษณะเด่น สามารถทำ"แสง"ได้ทั้งระยะหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย "แสงเย็น"และ"เรืองแสง" ชวนน่ามองอย่างยิ่ง เวลาที่เหมาะกับการชมคือ ในคืนเดือนมืดและช่วงพลบค่ำเพราะเห็นแสงของ"หิ่งห้อย"ได้อย่างชัดเจน

 

"หิ่งห้อย" เป็นแมลงปีกแข็ง ทั่วทั้งโลกมี"หิ่งห้อย"ประมาณ 2,000 ชนิด 


 

"หิ่งห้อย" กะพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์และสื่อสารซึ่งกันและกันหรือส่งสัญญาณการป้องกันตัวจาก"สัตว์นักล่า"

 

แสงที่"หิ่งห้อย"สร้างเป็น "แสงเย็น" โดยทั่วไปจากช่องท้องส่วนล่างอาจเป็นสีเหลือง  สีเขียวหรือสีแดงซีด ตำแหน่งของอวัยวะแสงยังแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดและเพศของ"หิ่งห้อย"ชนิดเดียวกัน


 

"หิ่งห้อย" พบได้ในเขตหนาว เขตอบอุ่นและเขตร้อนยกเว้นเขตขั้วโลกและกึ่งขั้วโลก พบมากในหนองน้ำ ป่าโกงกาง หรือป่าริมธารน้ำ ซึ่งมีแหล่งอาหารมากมายสำหรับ"หิ่งห้อย" ระยะตัวอ่อน หนอนของ"หิ่งห้อย"กินหอยฝาเดียวเป็นอาหาร


ลักษณะทางชีววิทยา

"หิ่งห้อย"ตัวเต็มวัยเพศผู้มีปีก ส่วนเพศเมียมีทั้งมีปีกและไม่มีปีก บางชนิดมีปีกสั้นมาก ชนิดที่ไม่มีปีกรูปร่างลักษณะคล้ายตัวหนอน หนอนของ"หิ่งห้อย"เป็นตัวห้ำกินหอยฝาเดียว ไส้เดือน กิ้งกือ และแมลงตัวเล็ก ๆ เป็นอาหาร

 

"หิ่งห้อย"มีลักษณะเด่นคือสามารถทำ"แสง"ได้ทั้งระยะหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ส่วนระยะไข่ ทำ"แสง"ได้เฉพาะบางชนิดเท่านั้น

 

ขนาดของ"หิ่งห้อย"นั้นมีลำตัวยาวตั้งแต่ 2-25 มิลลิเมตร ลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก

 

หัว   มีสีดำ หรือแถบสีอื่นปน เช่น เหลืองปนน้ำตาล และแดง มีตาโตสีดำ 1 คู่ หนวด 2 ข้างสีดำ

 

อก    ส่วนใหญ่มีลักษณะกว้างออกทางด้านข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางชนิดมีอกขยายใหญ่คลุมส่วนหัวเอาไว้มองไม่เห็นส่วนหัวเมื่อมองลงมาทางด้านบน

 

ปีก    คลุมท้องมิด มองไม่เห็นอวัยวะส่วนท้อง ปีกของ"หิ่งห้อย"มี 2 ปีก ปีกบนมีลักษณะ ทึบแสงและไม่แข็งมาก ปีกล่างมีลักษณะบางใสสีดำหรือสีชา สีของปีกมีลักษณะแตกต่างกันตามชนิด"หิ่งห้อย"ตัวเมียบางชนิดมีลำตัวยาวคล้ายหนอนมีปีกสั้นมากหรือไม่มี

 

ท้อง   ปล้องท้องตัวผู้มีปล้องท้องจำนวน 6 ปล้อง โดยท้องปล้องที่ 5 และ 6 เป็นที่ตั้งอวัยวะทำ"แสง" ตัวเมียมีปล้องท้อง 7 ปล้อง โดยท้องปล้องที่ 5 หรือ 5 - 7 เป็นที่ตั้งอวัยวะทำ"แสง" อวัยวะทำ"แสง"มีสีขาวหรือขาวครีม

 

ขา   มี 6 ขา ขาเป็นข้อ 3 ข้อ ปลายขาของหิ่งห้อย จะเป็นขอเหนี่ยวไว้ยึดเกาะต้นไม้ใบไม้

 

การให้แสง

การให้แสงใน"หิ่งห้อย"เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า การเรืองแสงทางชีวภาพ กระบวนการนี้เกิดขึ้นในอวัยวะที่เปล่งแสงโดยเฉพาะแสงที่"หิ่งห้อย"สร้างเป็น"แสงเย็น"คือ ไม่มีความถี่แสงช่วงอินฟราเรดหรือัลตราไวโอเลต

 

แสงที่ผลิตเกิดจากปฏิกิริยาเคมีนี้จากช่องท้องส่วนล่างอาจเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือสีแดงอ่อน โดยมีความยาวคลื่น 510 ถึง 670 นาโนเมตร "หิ่งห้อย"บางชนิด พบที่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาปล่อยแสงสีออกฟ้า


ถึงปัจจุบันจากการศึกษา"หิ่งห้อย" ตัวเต็มวัยเท่านั้นที่เรืองแสงและตำแหน่งของอวัยวะทำแสงแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดและระหว่างเพศของ"หิ่งห้อย"ชนิดเดียวกันรูปแบบของ"หิ่งห้อย"ที่เปล่งแสงแตกต่างกันไปในแต่ละสปีชีส์

 

โดยทั่วไป"หิ่งห้อย" มีอวัยวะทำแสงอยู่บริเวณส่วนท้องด้านล่าง เพศผู้มีอวัยวะทำแสง 2 ปล้อง เพศเมียมี 1-3 ปล้อง แต่บางชนิดตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างลักษณะคล้ายหนอน มีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัว ภายในปล้องมีเซลล์ขนาดใหญ่เรียกว่า"โฟโตไซต์"(photocytes) อยู่จำนวน 7,000 - 8,000 เซลล์เรียงกันอยู่เป็นกลุ่มรูปทรงกระบอกหลายกลุ่มภายใต้ผนังลำไส้ใส 


เซลล์โฟโตไซต์จะเป็นที่ทำให้เกิดแสง มีท่ออากาศและเส้นประสาท เข้าไปหล่อเลี้ยงจำนวนมากเกือบทุกปล้องแสงของ"หิ่งห้อย"เกิดจากปฏิกิริยาของสารลูซิเฟอริน (luciferin) ที่อยู่ในอวัยวะทำแสงกับก๊าซออกซิเจน  มีเอนไซม์ลูซิเฟอเรส และแมกนีเซียมไอออนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและมีสารอดีโนซีนไตรฟอสเฟต เป็นตัวให้พลังงานทำให้เกิดแสง

 

การให้สัญญาณโดยการทำแสงหรือการปล่อยสารเคมียังช่วยให้"หิ่งห้อย"สามารถระบุคู่ของสายพันธุ์ของมันเองได้ ลักษณะการสื่อสารด้วย"แสง"มีความแตกต่างในด้านระยะเวลา ช่วงเวลาของวัน สี และรูปแบบการกะพริบ และแตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่การเลือกคู่ครองจะกระตุ้นให้เกิดความแตกต่างของรูปแบบการส่งสัญญาณที่มากขึ้น


"หิ่งห้อย"ที่บินส่วนใหญ่มักเป็นตัวผู้ ส่วน"หิ่งห้อย"ตัวเมียนั้นชอบเกาะนิ่งตามกิ่งไม้ เพื่อรอดูว่าตัวผู้ตัวไหนที่ทำแสงได้ดีกว่าตัวอื่นและเข้าไปหาเพื่อผสมพันธุ์

 

"หิ่งห้อย"ในเขตร้อนมักจะประสานแสงกะพริบในกลุ่มใหญ่โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยสามารถพบหิ่งห้อยจำนวนมากที่กระพริบแสงพร้อมกันในเวลากลางคืนในพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน ระหว่างหมู่บ้านศรีเมือง และบ้านปากลัด ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร


"หิ่งห้อย"จำนวนหลายชนิดไม่ทำแสง 

 

"หิ่งห้อย"มีอายุการกระพริบแสงประมาณ 14-30 วันเท่านั้น

 

วงจรชีวิต

"หิ่งห้อย"เป็นแมลงที่มีวัฏจักรชีวิตประกอบด้วย 4 ระยะ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ฟองเดี่ยวตามดิน หรือที่ชื้นแฉะ ใบพืชน้ำ ไข่ใช้เวลา 4 - 12 วัน จึงฟักเป็นตัว ซึ่งช่วงตัวหนอนใช้เวลานานถึง 4 - 5 เดือน จากนั้นเจริญเติบโตและผ่านการลอกคราบขณะที่เป็นตัวหนอน 6-8 ระยะ จนกระทั่งเข้าดักแด้ และลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย ช่วงโตเต็มวัยมีอายุประมาณ 20-30 วันเท่านั้นซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์เท่านั้น

 

"หิ่งห้อย"มีรอบวงจรชีวิตอยู่ 3 - 12 เดือน แล้วแต่ละชนิด โดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 5-6 เดือน  "หิ่งห้อยบก"บางชนิดมีวงจรชีวิตนานถึง 1 ปี ในขณะที่"หิ่งห้อยน้ำ"ส่วนใหญ่มีวงจรชีวิตที่สั้นกว่า


"หิ่งห้อย" มักจะออกหากินในเวลากลางคืน และหลบซ่อนตัวในเวลากลางวัน ส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ หิ่งห้อยบกอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ หรือตามพื้นที่ชุ่มชื้นใกล้หนองน้ำ หิ่งห้อยน้ำจืด อาศัยตามแหล่งน้ำ หรือลำธารที่มีน้ำสะอาดและเป็นน้ำนิ่ง

 

เช่น หนอง บ่อ ท้อง ร่องสวน คลอง และหิ่งห้อยน้ำกร่อยอาศัยตามบริเวณป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำที่มีพื้นที่ชายเลน ในระยะตัวเต็มวัย"หิ่งห้อย"มักเกาะอยู่ตามต้นลำพู และต้นลำแพน โพทะเล ต้นจาก ต้นแสม ต้นสาคู และต้นเหงือกปลาหมอ โดยเฉพาะในป่าชายเลนที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์

 

"หิ่งห้อย" นับว่าเป็นแมลงที่มีคุณลักษณะพิเศษ คือสามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติได้ โดยเฉพาะมีคุณสมบัติที่สามารถใช้เป็น “ตัวห้ำ” ในการควบคุมศัตรูพืชตามหลักการทางชีวภาพ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การเกษตรกรรม 

 

"หิ่งห้อย"ในระยะที่เป็นตัวหนอนจะกินหอยเล็ก ๆ เป็นอาหาร ซึ่งหอยเหล่านั้นเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดมาสู่มนุษย์และสัตว์ เช่น โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

 

นอกจากนั้น "หิ่งห้อย" ยังเป็นตัวห้ำ ทำลายหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญกัดกินทำลายต้นข้าวในระยะลงกล้าและระยะปักดำใหม่ ๆ "หิ่งห้อย"จึงเป็นแมลงที่มีความสำคัญทั้งในด้านการสาธารณสุขและการเกษตร

 

อาหารของ"หิ่งห้อย"แตกต่างกันไปตามชนิดของหิ่งห้อยนอกจากกินหอยแล้ว ยังกินกิ้งกือ ไส้เดือน และตัวอ่อนแมลงตัวเล็ก ๆ เป็นอาหารอีกด้วย ส่วนในระยะโตเต็มวัย"หิ่งห้อย"จะอาศัยกินเฉพาะน้ำค้าง หรือน้ำหวานจากเกสรดอกไม้

 

"หิ่งห้อย"กับ"ต้นลำพู"

การที่"หิ่งห้อย"ชอบเกาะกับ"ต้นลำพู" สันนิษฐานว่าใบลำพูมีความอ่อนนุ่ม มีสีเขียวอ่อน และมีขนาดเล็ก

 

ทำให้"หิ่งห้อย"ตัวเมียมองเห็นแสงได้ง่าย แต่พันธุ์ไม้อื่น ๆ "หิ่งห้อย"ก็เกาะเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะต้นที่อยู่โดดเดี่ยวจะมาเกาะกันมาก 

 

นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่"หิ่งห้อย"ชอบเกาะอยู่ตามต้นไม้ในป่าชายเลน อาจมีปัจจัยจาก มีหอยบางชนิดที่เป็นอาหารของหิ่งห้อยอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นเหล่านี้เป็นจำนวนมากและน้ำที่ค่อนข้างนิ่งจากรากต้นไม้ที่ยาวและซ้อนหลายชั้นช่วยการซับแรงคลื่น

 

"หิ่งห้อย"ในประเทศไทย

"หิ่งห้อย"ที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็น"หิ่งห้อย" 2 ชนิด คือ Luciola brahmina ซึ่งตัวอ่อนอาศัยอยู่บริเวณน้ำจืด หรือเรียกว่าหิ่งห้อยบก และ Pteroptyx malaccae ซึ่งตัวอ่อนอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน และฝั่งแม่น้ำที่น้ำทะเลท่วมถึง หรือเรียกว่าเป็น"หิ่งห้อยน้ำกร่อย"

 

สถานที่ชม"หิ่งห้อย"

สถานที่ชม"หิ่งห้อย"ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น ที่ริมคลองตลาดน้ำอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ,เกาะลัด อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา, นิคมสร้างตนเอง ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, คลองปากนคร ตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม

 

เวลาที่เหมาะกับการชมคือ ในคืนเดือนมืดและเป็นช่วงพลบค่ำ เพราะเห็นแสงของ"หิ่งห้อย"ได้อย่างชัดเจน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ