Lifestyle

"จิ้งหรีด" แมลงที่สามารถพบได้ในทั่วโลก ดูสาเหตุทำไมต้องเป็นสัตว์เศรษฐกิจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"จิ้งหรีด" เป็น "แมลง"จำพวกหนึ่งสามารถพบได้ในทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นพบแล้วประมาณ 900 ชนิด ใน"ไทย"ก็พบได้หลายชนิด มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ในแง่ของการเป็น"สัตว์เลี้ยง"มาอย่างยาวนานในหลายวัฒนธรรม


"จิ้งหรีด" ถือเป็น"แมลง"ที่มีขนาดลำตัวปานกลางเมื่อเทียบกับ"แมลง"โดยทั่วไป

 

ลักษณะ

มีปีก 2 คู่ คู่หน้าเนื้อปีกหนากว่าคู่หลัง ปีกเมื่อพับจะหักเป็นมุมที่ด้านข้างของลำตัว ปีกคู่หลังบางพับได้แบบพัดสอดเข้าไปอยู่ใต้ปีกคู่หน้า

 

ปากเป็นชนิดกัดกิน หัวกับอกมีขนาดกว้างไล่เลี่ยกัน ขาคู่หลังใหญ่และแข็งแรงใช้สำหรับตัวผู้ ตัวผู้มีอวัยวะพิเศษสำหรับทำเสียงเป็นฟันเล็ก ๆ อยู่ตามเส้นปีกบริเวณกลางปีก ใช้กรีดกับแผ่นทำเสียงที่อยู่บริเวณท้องปีกของปีกอีกข้างหนึ่ง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เป็นที่รู้จักกันดีของ"จิ้งหรีด"

 

ขณะที่ตัวเมียจะไม่สามารถทำเสียงดังนั้นได้ และจะมีอวัยวะสำหรับใช้วางไข่เป็นท่อยาว ๆ บริเวณก้นคล้ายเข็ม เห็นได้ชัดเจน

 

 

"จิ้งหรีด"เป็นแมลงที่กัดกินพืชชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร สามารถกินได้หลายชนิด มักออกหากินในเวลากลางคืน มักจะอาศัยโดยการขุดรูอยู่ในดินหรือทรายในที่ ๆ เป็นพุ่มหญ้า แต่ก็มี"จิ้งหรีด"บางจำพวกที่อาศัยบนต้นไม้เป็นหลัก

 

"จิ้งหรีด" พบได้ตามธรรมชาติทั่วโลก โดยพบทั้งในป่าโปร่ง ทุ่งหญ้า ไร่ สวน ถ้ำ หรือแม้แต่ในทะเลทราย "จิ้งหรีด" จึงมีความหลากหลายทั้งชนิด รูปร่าง ขนาด และสีสัน

 

โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นพบแล้วประมาณ 900 ชนิด ในประเทศไทยก็มีหลายชนิด พบ"จิ้งหรีด"ได้ทั่วทุกภูมิภาค ชนิดของ"จิ้งหรีด"ที่พบ ได้แก่ จิ้งหรีดทองดำ ,จิ้งหรีดทองแดง ,จิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่ง 

 

"จิ้งหรีด"เป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตแบบไม่ต้องผ่านการเป็นหนอนหรือดักแด้ ตัวอ่อนที่เกิดมาจะเหมือนตัวเต็มวัย เพียงแต่ยังไม่มีปีกและมีสีที่อ่อนกว่า ต้องผ่านการลอกคราบเสียก่อน จึงจะมีปีกและทำเสียงได้

 

การผสมพันธุ์

"จิ้งหรีด"จะผสมพันธุ์เมื่อเป็นตัวเต็มวัย การผสมพันธุ์และวางไข่แต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 15 วันต่อครั้ง ในแต่ละรุ่น เมื่อหมดการวางไข่รุ่นสุดท้ายแล้วตัวเมียก็จะตาย

 

โดย"ตัวผู้"จะทำเสียงโดยยกปีกคู่หน้าถูกันให้เกิดเสียงเพื่อเรียก"ตัวเมีย" จังหวะเสียงจะดังเมื่อ"ตัวเมีย"เข้ามาหา บริเวณที่"ตัวผู้"อยู่  "ตัวผู้"จะเดินไปรอบ ๆ "ตัวเมีย"ประมาณ 2-3 รอบ ช่วงนี้จังหวะเสียงจะเบาลง แล้ว"ตัวเมีย"จะขึ้นคร่อม"ตัวผู้"

 

จากนั้น"ตัวผู้"จะยื่นอวัยวะเพศแทงไปที่อวัยวะเพศ"ตัวเมีย" หลังจากนั้นประมาณ 14 นาที ถุงน้ำเชื้อก็จะฝ่อลงแล้ว"ตัวเมีย"จะใช้ขาเขี่ยถุงน้ำเชื้อทิ้งไป เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว "ตัวเมีย"ใช้อวัยวะวางไข่ที่แทงลงในดินที่มีลักษณะเรียวยาวคล้ายเมล็ดข้าวสารใช้เวลาประมาณ 7 วันจะฟักออกเป็นตัวอ่อน

 

ตลอดอายุไข่"จิ้งหรีดตัวเมีย"สามารถวางไข่ได้ตั้งแต่ 600-1,000 ฟอง ซึ่งจะวางไข่เป็นรุ่น ๆ ได้ประมาณ 4 รุ่น

 

"จิ้งหรีด"ถือเป็นแมลงที่เป็นศัตรูพืชอย่างหนึ่ง แต่ก็มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ในแง่ของการเป็น"สัตว์เลี้ยง"มาอย่างยาวนานในหลายวัฒนธรรม ในหลายประเทศ มีการเลี้ยง"จิ้งหรีด"เพื่อฟังเสียงร้องและเลี้ยงไว้สำหรับการกัดกัน โดยถือว่าเป็นแมลงจำพวกหนึ่งที่สามารถนำมาต่อสู้กันได้อย่าง"ด้วงกว่าง" ในปัจจุบัน ยังนิยมใช้เพื่อการบริโภคเป็นอาหารเนื่องจากให้โปรตีนที่สูงมากและใช้เป็นอาหารสัตว์ 

 

ปัจจุบันกลายเป็น"สัตว์เศรษฐกิจ"อีกชนิดที่มีเกษตรกรนิยมเลี้ยงจำหน่ายจำนวนมาก เพราะเป็นแมลงที่สามารถบริโภค มีคุณค่าทางอาหารสูงเทียบเท่ากับเนื้อปลาทู เนื้อไก่ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด และจิ้งหรีดเป็นแมลงกินพืชที่ปลอดภัยจากสารพิษ จึงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีคุณภาพ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทย และชาวเอเชียหลายประเทศ

 

“จิ้งหรีด"เป็นแมลงเศรษฐกิจของไทยที่มีศักยภาพสูง มีการขยายตัวการผลิตในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก โดยสามารถทำรายได้มูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท/ปี

 

อีกทั้งยังเป็นสินค้าอาหารที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ราคาถูก ต้นทุนต่ำและมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ