ข่าว

รวม "6 โรคเด็กเสี่ยงหน้าฝน" วินิจฉัยเร็วโอกาสรักษาหาแนวโน้มสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

6 โรคเด็กเสี่ยงหน้าฝน ถ้าลูกมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูง กินอาหารได้น้อย อาเจียน อ่อนเพลียง่าย มีภาวะขาดน้ำ ไอบ่อย หายใจเร็ว ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที

ฤดูเริงร่าของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิดในไทยไม่พ้นเป็นช่วง "หน้าฝน" นี่แหละ ซึ่งเจ้าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักของการเกิด "โรค" ต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะใน "เด็ก" ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้สูงมาก เพราะระบบภูมิต้านทานในร่างกายยังไม่แข็งแรงและสมบูรณ์ อาจนำมาซึ่งการติดเชื้อและเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย สังเกตได้จากโรงพยาบาลหลายแห่งจะมีเด็กเข้ารักษาโรคในหน้าฝนจำนวนมาก อาทิ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ดังนั้น การรู้เท่าทันโรคเด่นที่เด็กเป็นมากที่สุดในหน้าฝน พร้อมทั้งความสำคัญ สาเหตุ และวิธีการป้องกันโรค จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองป้องกันได้ทันท่วงที และสังเกตอาการได้อย่างรู้เท่าทัน

 

 

โรคไข้หวัดใหญ่

  • โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี เพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งบางปีอาจจะพบการระบาด ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยเด็กที่มีอาการตัวร้อนมา 2 - 3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจนว่าเป็น ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็อาจพบการผิดพลาดได้
  • “ไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการหลัก ๆ เด็กจะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอหรือเจ็บคอ ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น”
  • อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดประมาณ 1 - 2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโลกในทุก ๆ ปี และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป การป้องกันที่ดีที่สุด คือ คนป่วยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น รวมถึงใส่หน้ากาก ล้างมือ และทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย จะเป็นการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

โรคมือเท้าปาก

  • โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus 71 , Coxsackie) พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน สำหรับกลุ่มอาการของโรค เด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (อนุบาลถึงประถม) อาการมักหายได้เองภายใน 3 - 10 วัน สามารถติดต่อทางการไอ จาม น้ำลาย หรืออุจจาระ มีระยะฟักตัว 3 - 6 วัน พบเชื้อทางน้ำลาย 2 - 3 วัน ก่อนมีอาการ จนถึง 1 - 2 สัปดาห์หลังมีอาการ
  • ถ้าเป็นแล้วเด็กบางคนจะรับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ เพราะเจ็บปากมาก ซึ่งแม้แต่น้ำลายก็ไม่ยอมกลืน ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นอย่าให้เด็กมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจจะชักได้ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการ เมื่อผิดปกติต้องรีบพาพบแพทย์ทันที”
  • สำหรับการป้องกัน ผู้ปกครองควรดูแลลูกในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกไปอยู่ในสถานที่แออัด และควรมีกระติกน้ำ หรือแก้วน้ำส่วนตัวให้ลูกไปใช้กินที่โรงเรียนด้วย รวมถึงปลูกฝัง และฝึกให้ลูกใช้ช้อนกลางขณะรับประทานอาหารทุกครั้งไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือที่บ้านก็ตาม

 

โรคไข้เลือดออก

  • โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ถ้าได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง
  • “โรคนี้ระบาดได้ทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าฝน เพราะโอกาสที่น้ำจะขังมีได้มาก เพราะฉะนั้นอาการที่สงสัยเลยว่า ลูกคุณอาจจะเป็นไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงมาก กินยาลดไข้เท่าไรก็ไม่ได้ผล ปวดหัว ปวกกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว มีอาการตาแดง หน้าแดง ปากแดง เป็นต้น”
  • นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้คนไข้มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะตรงบริเวณชายโครงด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ นั่นเพราะตัวตับโต ขณะเดียวกัน จะมีอาการอาเจียนร่วมด้วยและมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาการเหล่านี้ ถ้ามาพบแพทย์ได้ทันจะคาดการณ์ได้ว่า ลูกคุณมีกลุ่มอาการตรงกับไข้เลือดออก และแพทย์จะทำการตรวจสอบต่อไป เช่น รัดแขนที่ความดันระดับหนึ่งเพื่อดูจุดที่มีเลือดออกว่าเกิดขึ้นได้หรือไม่ เป็นต้น
  • การป้องกันที่ดี คือ อย่าให้ยุงกัดและอย่าให้ยุงเกิด ด้วยการจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดสิ้น และอย่ารอให้เกิดอาการที่รุนแรงก่อนแล้วจึงมาพบแพทย์ เช่น เป็นไข้สูงเกินไป ช็อก หรือมีปัญหาเลือดออกง่าย ต้องรีบพาลูกมาพบแพทย์ทันที

 

โรคอีสุกอีใส

  • หลายครอบครัวคงคุ้นเคยกับโรคนี้กันดี เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นกันบ่อย แต่มักจะเป็นในบางช่วง เมื่อเป็นแล้วมักจะติดกันเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน กลุ่มอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ด และแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองประมาณ 2 - 3 สัปดาห์
  • พยายามดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพราะโรคนี้เกิดขึ้นไม่ตรงตามวัย บางรายเป็นตอนเด็ก หรือบางรายอาจเป็นตอนโต ซึ่งถ้าเป็นในตอนโต จะมีอาการและการขึ้นตุ่มที่รุนแรงกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะของร่างกายด้วย การป้องกันอย่าให้ลูกเข้าใกล้ผู้ป่วย ล้างมือบ่อย ๆ เป็นต้น”
  • อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และจะกระตุ้นอีกครั้งในตอน 4 ขวบ ซึ่งเป็นวัคซีนเสริม ยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด

 

โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง

  • โรคท้องเสียเกิดขึ้นเพราะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจเรื่องของสุขอนามัย จึงมักนำของเล่น หรือของใช้ที่มีเชื้อนี้เข้าปากโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจะถูกขับออกทางอุจจาระของผู้ป่วย เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบแทบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว
  • ไวรัสโรต้าเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยจากสถิติทั่วโลกและในประเทศไทยพบว่า ไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุหลักทำให้เด็กป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงถึงปีละประมาณ 6 แสนคน
  • อาการส่วนใหญ่จะพบว่า ท้องเสีย อาเจียน บางรายจะมีไข้สูง กินได้น้อย งอแง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้น เด็กทารกควรให้กินนมแม่จะช่วยได้ระดับหนึ่ง และดูแลสุขลักษณะการกิน การเล่นให้เหมาะสม ต้องสะอาด ขณะเดียวกัน ไม่ควรพาเด็กเข้าเนิร์สเซอร์รีเร็วเกินไป เพราะเด็กที่อยู่ด้วยกันเยอะ ๆ การแพร่กระจายของเชื้อจะมีได้ง่าย”
  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับอนุมัติใช้ทั้งหมด 2 ชนิด คือ วัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อโรต้า 1 สายพันธุ์ และ 5 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดรับประทาน (หยอด) สามารถเริ่มให้กับทารกอายุตั้งแต่ประมาณ 6 - 12 สัปดาห์ การที่ต้องเริ่มให้ในช่วงอายุดังกล่าวนั้น เป็นเพราะในช่วงสัปดาห์แรก ๆ เด็กทารกจะยังได้รับภูมิคุ้มกันที่สร้างจากรกและการกินนมแม่ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรต้าจึงควรเริ่มต้นในช่วงอายุประมาณ 2 เดือน ซึ่งเด็กอาจจะเริ่มมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่รอบ ๆ ตัวแล้ว

 

 

โรคไอพีดีและปอดบวม

  • โรคไอพีดี หรือที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Disease (IPD) คือ โรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรงและอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง งอแง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
  • นอกจากนี้ เชื้อ “นิวโมคอคคัส” ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลการประเมินขององค์กรอนามัยโลกและยูนิเซฟพบว่า ปอดบวมเป็นโรคที่คร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคนี้สูงถึง 2 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าโรคเอดส์ มาลาเรีย และหัดรวมกัน
  • ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่วนในเด็กทารกควรเริ่มฉีดเมื่ออายุได้ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน, 6 เดือน และ 12 - 15 เดือน โดยเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง วัคซีนจึงมีส่วนสำคัญสำหรับการป้องกัน ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างสุขอนามัยที่ดีกับลูก เป็นตัวช่วยที่สำคัญที่สุด” 

 

ข้อมูล : นายแพทย์ พรเทพ สวนดอก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ