ข่าว

การตลาดฝ่าโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์อินโนสเปซ โดยบัซซี่บล็อก

          การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน กำลังสร้างความปั่นป่วนให้แก่แทบทุกธุรกิจในเกือบทุกทวีปทั่วโลก และยิ่งนานวันปัญหาก็ยิ่งเลวร้าย จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นภาพนักการตลาดเริ่มตื่นตัว “พลิก” ตำราการตลาดฝ่าโควิด-19 เพื่อนำเสนอแนวทางรอด ทางรุ่ง ฝ่ากระแสไวรัสร้ายสู่ “ขาขึ้น” อีกครั้งในวันที่เชื้อไวรัสร้ายตัวนี้สิ้นแรงไป 

 

 

 

          ล่าสุด กรุ๊ปเอ็ม (GroupM) กลุ่มมีเดียเอเยนซี่ โฆษณา และการตลาดแบบครบวงจรระดับแถวหน้าของวงการ เผยแพร่ผลวิเคราะห์จากการทำสรุปผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น และแนะนำแนวทางสำหรับนักการตลาด นักโฆษณา รวมถึงเจ้าของสื่อ ที่ต้องเร่งปรับแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลลัพธ์จากสถานการณ์แพร่ระบาดนี้ ทั้งในเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการปรับตัวของสภาพสังคมที่จะตามมาแน่ๆ ในอนาคตอันใกล้

การตลาดฝ่าโควิด-19

          หนึ่งในพฤติกรรมผู้บริโภคที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ การตื่นตัวของผู้บริโภค และธุรกิจบนอีคอมเมิร์ซ จากความหวั่นวิตกด้านปัญหาสุขภาพ ที่ทำให้คนลดการเดินทางเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ/แพร่เชื้อ ตลอดจนความจำเป็นของสินค้าบางประเภทในภาวะนี้ ทำให้ยอดการค้นหาและยอดการค้าปลีกสินค้า ประเภทสุขอนามัย เพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่ามาร์เก็ตเพลสหลักอย่าง ‘LAZADA’ มีการเติบโตขึ้นกว่า 50% ตลอดทั้งไตรมาส และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากการที่ออนไลน์มาร์เก็ตเพลส รวมถึงร้านค้าปลีกรายย่อยบนระบบออนไลน์ แข่งกันออกแคมเปญกระตุ้นยอดขายเพื่อรับโอกาสทางการค้า

          ขณะที่ สินค้าบางประเภทที่ไม่ได้รับความนิยมในการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงแบรนด์ที่เน้นขายในช่องทางหน้าร้านเป็นหลักอย่างเช่น ร้านอาหาร ผู้จำหน่ายได้เริ่มมีการปรับตัวรวมถึงปรับช่องทางการขายเพื่อรับมือกับสถานการณ์

          นี่คือตัวอย่างบางส่วน ที่บ่งชี้โอกาสสำคัญของการอีคอมเมิร์ซ และสินค้าประเภทที่มีบริการจัดส่งถึงบ้าน ด้วยแรงหนุนของพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงพฤติกรรมที่ผู้คนนิยมใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นตามการวิเคราะห์ของกรุ๊ปเอ็ม

          และเมื่อขยับมาที่สถานการณ์สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีแถลงการณ์ประกาศปิด(ชั่วคราว) สถานที่เสี่ยงมากกว่า 20 ประเภทในกรุงเทพฯ และตามกันมาอีกหลายจังหวัด ต่อเนื่องมาถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศของรัฐบาลชุดนี้ สะท้อนถึง “ความแม่นยำ” ของบทวิเคราะห์ข้างต้นของกรุ๊ปเอ็ม เพราะไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ แต่ทุกธุรกิจที่อาศัยผู้บริโภคในกลุ่มค้าปลีกเป็นหลัก ก็จำเป็นต้องปรับตัวรูปแบบการตลาด/การขายผ่านออนไลน์ โซเชียล และจัดส่งสินค้าถึงบ้าน (เดลิเวอรี่) เพื่อความอยู่รอด

          ขณะที่ BrandAge Online ก็ได้นำเสนออีกหนึ่งเทรนด์การตลาดที่แปลกใหม่(สำหรับบ้านเรา) และน่าลองพิจารณาในสถานการณ์นี้ ผ่านมุมมองของ ดร.ดั่งใจถวิล อนันตชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านแบรนด์ชั้นนำ ซึ่งพูดถึงมุมมองที่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดของการทำการตลาด ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้มาเป็น “Courtesy Marketing” หรือการตลาดแบบเป็นมิตร ด้วยวิธีคิดง่ายๆ คือ “ลองเปลี่ยนภาพความคิดว่า Market หรือตลาดที่เราแข่งกันกันทุกวันนี้คือ บ้านของเรา” ด้วยแนวคิดใหม่นี้ เมื่อมองแบรนด์ หรือองค์กรเป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ในวันที่บ้านมีปัญหา เราจะรีบขายของ หรือจะทำบ้านหลังนี้ให้แข็งแรง

          ดังนั้น Courtesy Marketing จึงเหมือนกับการตลาดที่สร้างสามัญสำนึกของคนในบ้าน นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ สุดท้ายเป้าหมายปลายทางก็คือความ “เอื้อเฟื้อ”

          เราลองหันกลับมาสำรวจตลาดออนไลน์กันว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุบทำลายเศรษฐกิจของโลกในวงกว้างครั้งนี้ ได้กลายเป็น “โอกาสดี” ของสินค้ากลุ่มใดบ้าง เพราะในทุกวิกฤติ มักมีโอกาสแทรกอยู่ด้วยเสมอ

          โดยจากผลสำรวจของ Priceza ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ พบว่า ในสถานการณ์โควิด ที่คนเริ่มตื่นตัวในการป้องกันตัวเองและไม่ออกไปไหน บนแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ มีสินค้าที่คนต้องการและทำให้มียอดคลิกสั่งซื้อออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นถึง 8,000% โดยมีสินค้าขายดี 5 อันดับแรก ดังนี้ 1.หน้ากากอนามัย จากข้อมูลยอดคลิกสินค้าบนไพรซ์ซ่า พบว่า มีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงถึง 2,600% เมื่อเทียบกับปี 2562 แม้ราคาขายทางออนไลน์จะพุ่งขึ้นร่วม 10 เท่า 2.เจลล้างมือ มียอดคลิกสูงที่สุดมากถึง 8,000% เพราะคนตื่นตัวล้างทำความสะอาดมือป้องกันเชื้อไวรัสมากขึ้น 3.แอลกอฮอล์เจล เป็นอุปกรณ์ฆ่าเชื้อที่สำคัญ ในช่วงการระบาดของไวรัส โควิด-19 มีตัวเลขของยอดคลิกที่เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 5,000% 4.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะเป็นอาหารที่เหมาะแก่การกักตุน มียอดการคลิกเพิ่มขึ้น 84% และ 5.ปลากระป๋อง มียอดคลิกเพิ่มขึ้น 19%

การตลาดฝ่าโควิด-19

         

          มาปิดท้ายกันที่ บทวิเคราะห์จาก TerraBKK ที่สรุป 6 ธุรกิจมาแรงที่ใครๆ ก็เลิฟในยุคโควิด-19 ระบาดเมือง นำทัพด้วย 1.กลุ่มเวชภัณฑ์และยา โดยคาดว่าปีนี้จะโตเพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราโตต่อปีในปีก่อนๆ ที่เฉลี่ยอยู่ประมาณ 6.2% ต่อปี และที่จะโตแรงอีกตัวก็คือ ยาสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ที่คาดว่าจะส่งผลให้ปีนี้มูลค่าตลาดสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติจะโตทะลุ 20,000 ล้านบาท

          2.กลุ่มอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอนามัย และความสะอาด 3.ธุรกิจประกันชีวิต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ใหม่ “ประกันโควิด 19” ประเภท “เจอจ่ายจบ” ที่คนไทยแห่ซื้อจนเว็บไซต์ล่ม 4.ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ และช็อปปิ้งออนไลน์ โดยข้อมูลจาก JD.com ระบุว่า ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในจีน มียอดการสั่งซื้อข้าวและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นกว่า 154% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 5.ธุรกิจผลิตพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์ที่สะอาด และปลอดภัย เป็นต้องการมากขึ้นในยุคคนห่วงเรื่องสุขอนามัย และ 6.ธุรกิจดิจิทัล คอนเทนต์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ช่วยสร้างความบันเทิง ลดอาการเครียดของประชาชนได้เป็นอย่างดีในภาวะนี้ 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ