Lifestyle

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รับกระทบ"ชีวิต-ธุรกิจ"แต่มั่นใจช่วยยับยั้งโควิด-19 แน่!!

        ในยุคที่เราต้องมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร ท่ามกลางมหันตภัยร้าย "ไวรัสโควิด-19" คืบคลานเข้ามาใกล้ทุกขณะ ผู้คนในสังคมตื่นตัวพร้อมหาวิธีรับมือตามวิถีของตัวเอง ขณะที่ภาครัฐเร่งออกมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ดูเหมือนนับวันจะกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วประเทศ สำคัญว่า "ตัวเลขผู้ติดเชื้อ” จะมีแต่พุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ!!!

        และอย่างที่ใครๆ ต่างคาดไว้ตอนนี้เราได้เดินทางมาถึงมาตรการเข้มอีกระดับนั่นคือ “การประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน” (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) แล้วอาจจะเลยไปถึงขั้นประกาศ “เคอร์ฟิว” แม้หลายคนจะมองว่า “ช้าไป” แต่บ้างก็ให้กำลังใจ “ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” มาตรการนี้จะช่วยยั้งยั้งวิกฤติชาติได้เพียงใด ประชาชนตื่นตัว เข้าใจ พร้อมรับมือมากน้อยแค่ไหน “คมชัดลึก” จะพาไปสำรวจความคิดเห็น....

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว" “นิ” ชนิดา ศรีภักดี

         “เคอร์ฟิว” คือการประกาศห้ามคนออกจากบ้านตามวันและเวลาที่กำหนด คือคำจำกัดความที่ “นิ” ชนิดา ศรีภักดี พนักงานด้านความปลอดภัย บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านลาดกระบัง เข้าใจ เจ้าตัวเผยว่า ไม่รู้สึกตกใจเพราะคิดอยู่แล้วว่าจะต้องมีการประกาศ ซึ่งจริงๆ ควรเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำและคงกระทบต่อชีวิตการทำงานถ้าบริษัทไม่ได้ประกาศให้หยุด แต่สำหรับการใช้ชีวิตปกติคงไม่กระทบมาก เพราะทุกวันนี้ทำงานเสร็จก็กลับบ้านไม่ได้ไปไหนต่ออยู่แล้ว เพราะระวังตัวกลัวติดเชื้อโรค

          “ทุกวันนี้เตรียมซื้อของที่จำเป็นไว้แล้วทั้งน้ำ ข้าว ของแห้ง ส่วนตัวคิดว่าเคอร์ฟิวจะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดได้ถ้าคนปฏิบัติตาม แต่ถ้าคนไม่ปฏิบัติตามก็เหมือนเดิม เพราะจริงๆ ไม่สามารถควบคุมได้ทุกที่หรอก อยู่ที่จิตสำนึกของทุกคนด้วย แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร” พนักงานสาวกล่าว

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว"

ศรชัย นิชลานนท์

          พ่อค้าหนุ่มตลาดนัดสวนจตุจักร ศรชัย นิชลานนท์ บอกว่าที่ผ่านมาหรือตามความเข้าใจถ้าประกาศ “เคอร์ฟิว” นั่นหมายถึงว่ามีเหตุรุนแรงและบังคับใช้ทันที ทุกคนไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวล่วงหน้า แต่สำหรับครั้งนี้ประกาศเคอร์ฟิว แต่จะมีผลบังคับใช้อีก 2 วันข้างหน้า ก็เลยไม่แน่ใจว่านี่คือประกาศใช้เคอร์ฟิวแล้วใช่มั้ย? หรือยังเป็นแค่การขอความร่วมมือจากประชาชนเท่านั้น ส่วนตัวไม่รู้สึกตกใจ อาจจะด้วยอาชีพค้าขายในสวนจตุจักร รัฐบาลขอความร่วมมือห้ามตลาดนัดทุกที่ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม เป็นต้นมา และตั้งแต่วันนั้นก็อยู่ที่บ้านมาตลอด 3-4 วันมาแล้ว เลยค่อนข้างจะชินกับการอยู่ที่บ้าน

          “ผมได้รับผลกระทบตั้งแต่ขอความร่วมมือปิดตลาดนัดทุกที่แล้ว ไม่มีที่ขายก็ไม่มีรายได้ แต่เข้าใจวัตถุประสงค์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากยังปล่อยให้ดำเนินชีวิตประจำวันแบบนั้นไปเรื่อย เราทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ครับ แค่ให้ความร่วมมือก็น่าจะทำให้คนที่เขาต้องทำงานโดยตรงทำงานง่ายขึ้น อยากให้สกัดได้จริงๆ การเตรียมรับมือของผมถ้าในแง่ของการหารายได้หลังจากนี้ยังไม่มีแผนสำรอง แค่ใช้จ่ายประหยัดให้มากที่สุด ใช้เท่าที่จำเป็น และไม่ได้กักตุนอะไรมากมายด้วย แค่มาม่า 1 ลัง (24 ซอง) ราคาร้อยกว่าบาทแค่นั้นเองคับ อย่างน้อยถ้าหากเกิดวิกฤติรุนแรงกว่านี้ก็น่าจะได้ประทังในระหว่างคิดหาวิธีต่อไป ส่วนในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวันก้อจะพยายามทำตามประกาศของรัฐบาล เพราะจริงๆ แล้ว จะว่าไปเราปฏิบัติตัวตอนนี้ทุกอย่างก่อนที่รัฐบาลจะประกาศเสียอีกหลายๆ อย่างก็ดูเอาจากสื่อจากโซเชียล อะไรที่ทำแล้วมีประโยชน์ ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายก็จะทำไปก่อน” หนุ่มอาชีพค้าขายกล่าว

         พร้อมกันนี้เจ้าตัวมองว่า การประกาศเคอร์ฟิว อาจจะดูช้าไปนิด แต่เข้าใจว่าการประกาศอะไรอย่างหนึ่งย่อมผลกระทบต่ออาชีพใดอาชีพหนึ่งแน่นอน แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าปล่อยไปเฉยๆ อาจจะหยุดตัวเลขผู้ติดเชื้อจากวันนี้ไปถึงอีก 14 วันข้างหน้าไม่ได้แน่นอน แต่หลังจากนั้นน่าจะพอมองเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้น ขอเอาใจช่วยทุกคน

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว"

“แทน” สว่าง เครืองรัมย์

          ด้านหนุ่มบริษัททัวร์ “แทน” สว่าง เครืองรัมย์ ยอมรับว่าติดตามข่าวคราวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด การออกมาตรการมายับยั้ง ก็เพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชนและความมั่งคงของประเทศชาติโดยรวม เราจึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าไม่เช่นนั้นอาจมีความผิดทางกฎหมายได้ ส่วนตัวไม่ตกใจ เพราะประเทศไทยก็เคยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาหลายครั้งแล้ว

         “คงกระทบชีวิตประจำวันบ้าง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะกำหนดเวลาตายตัวในการเดินทางไปทำธุระประจำวันหรือกิจกรรมบางอย่าง เช่น ต้องออกไปข้างนอกและเข้ามาในเคหสถานภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งความมีอิสรเสรีในการทำกิจกรรมต่างๆ    อาจจะต้องงดและลดลงไปจากเดิม แต่ก็เข้าใจได้ เพราะจำเป็นต้องให้ความร่วมมือซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์กลับมาปกติโดยเร็ว จากนี้คงต้องติดตามข่าวสารจากสื่อทั้งของรัฐและเอกชนที่เชื่อถือได้และใช้วิจารณญาณในการประกอบการตัดสินใจ และปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติและกระทบน้อยที่สุด” หนุ่มบริษัททัวร์เผยพร้อมเสริมว่า มาตาการเข้มนี้น่าจะช่วยยับยั้งการแพร่เชื้อได้ระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเสียทีเดียว แต่ก็ยังดีกว่าที่ไม่ได้เริ่มทำอะไรเลยหรือปล่อยให้เกตุการณ์บานปลายมากกว่านี้

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว"

อโนตม์ ต่ายหลี

         รู้ข่าวว่ารัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวจากข้อความที่แชร์ต่อๆ กันมาทางโซเชียล แต่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดอย่างจริงจัง ซึ่งในเรื่องการทำงาน อโนตม์ ต่ายหลี ผู้จัดการด้านการตกแต่งภายในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ มีการเตรียมตัวเบื้องต้นไว้บ้างแล้ว ซึ่งเขาคิดว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรมากนัก

        “ตอนนี้เราก็ดูแลตัวเองทั้งใส่หน้ากาก ล้างมือ และเคร่งครัดตามที่รัฐบาลขอความร่วมมืออยู่แล้ว แต่หากมีประกาศเคอร์ฟิวออกมาก็ต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดอีกครั้ง อย่างเรื่องการทำงานตอนนี้ในส่วนของออฟฟิศก็สั่งให้ทำงานที่บ้านแล้ว แต่ในส่วนหน้างานก็มีการพูดคุยกันบ้างแล้วว่า หากรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวเราจะปรับเวลาการทำงานให้พนักงานมาทำงานช้าขึ้น และเลิกงานเร็วขึ้น แต่ในเรื่องอื่นๆ เช่น อาหารการกินตรงนี้คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่น่าขาดแคลนหรือต้องกักตุน เชื่อว่าหากทำตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือก็จะผ่านเรื่องนี้ไปได้แน่นอน” อโนตม์ กล่าว

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว"

“จอย” ชลธิชา นวมสุคนธ์

          ด้วยหน้าที่การงานทำให้รับรู้ข่าวสารต่างๆ มากมาย “จอย” ชลธิชา นวมสุคนธ์ นักแสดงและดีเจชื่อดัง ยอมรับว่าตอนนี้เครียดมาก แต่พยายามบอกตัวเองรวมทั้งผู้ฟังว่าไม่ให้กังวลเกินไป ในสถานการณ์แบบนี้ทุกคนก็ต้องปรับตัวไปตามสภาพ อย่างที่ทำงานก็มีการเตรียมพร้อมในระดับหนึ่ง

        “จอยว่าสถานการณ์แบบนี้คงได้รับผลกระทบกันทุกคน สำหรับตัวเองพยายามปรับตัว อย่างเรื่องสวมใส่หน้ากากและล้างมือตลอดเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ในส่วนตัวก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร เพราะที่ผ่านมาจอยก็พยายามไม่ไปในที่ที่ผู้คนมากๆ งดเว้นการรวมตัว อันนี้ก็เคร่งครัดปฏิบัติอยู่แล้ว หรืออย่างเรื่องอาหารจอยก็ไม่ได้กักตุน เพราะเชื่อว่าอาหารการกินน่าจะหาซื้อได้ไม่ยาก ส่วนใหญ่จอยจะโทรสั่งหรือไม่ก็แวะซื้อแล้วตรงดิ่งกลับบ้านเลย หรือหากมีธุระก็จะไปแต่สถานที่ที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น” ดาราสาวกล่าว

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว"      

       “ฟลุ๊ค ไอน้ำ

    มาที่ จิตรกร บุญสอน หรือ “ฟลุ๊ค ไอน้ำ” เจ้าของเพลงฮิต “ถ้าเขาไม่กลับมา”                                                  บอกว่าทราบข่าวเรื่อง  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว ว่าถ้าประกาศจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งในสถานการณ์ตอนนี้ ที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด19 (COVID-19)”ในประเทศไทยมีสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ตกใจเลย เข้าใจว่าทางรัฐบาลต้องการทำเพื่อประชาชน ไม่ให้ไปในสถานที่ๆ มีคนหนาแน่นในช่วงนี้ หากไม่มีมาตรการควบคุม อาจทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้น

         “เรื่องผลกระทบ อันนี้ทำใจยอมรับ แต่ผมมองภาพส่วนรวมมาก่อนครับ ถ้าเราป้องกันได้เร็วก็สามารถหยุดการแพร่เชื้อได้ อย่าง แคมเปญรับมือโควิดอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ อันนี้เห็นด้วยครับ การรับมือส่วนตัวคงไม่เอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่คนหนาแน่น  ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้มีอาการทางเดินหายใจ หรือมีอาการเป็นหวัดอยู่ห่างจากคนที่ไอหรือจาม 180 เซนติเมตร เพื่อให้พ้นจากรัศมีน้ำลาย และน้ำมูกที่จะกระจายออกมา ล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์  กินร้อน ช้อนกลาง อาหารปรุงสุก พักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังดูแลลูกๆ และครอบครัวให้มากขึ้น จากที่เคยไปทานข้าวนอกบ้านกันทุกอาทิตย์ ก็เปลี่ยนมาทำอาหารทานกันเองที่บ้านครับ เป็นห่วงทุกคนนะครับ เราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกันครับ” ฟลุ๊ค เผย

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว"

“หมู” พลพัฒน์ อัศวะประภา

         เช่นเดียวกับ “หมู” พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งอาซาว่า กรุ๊ป เผยว่า จริงๆ คงไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัวในสถานการณ์ที่ดูเป็นภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ นโยบาย ณ ตอนนี้ เชื่อว่าตอนนี้ทุกบริษัทก็คงใช้ความรู้ที่เรามีอยู่ ตัดสินใจสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คืออยากให้กระทบเศรษฐกิจส่วนตัว หรือเรื่องกระเป๋าสตางค์ของพนักงานให้น้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูภาพรวมของบริษัทเป็นเรื่องใหญ่ อย่างที่เคยพูดไปว่าไม่ว่าห้างจะปิดหรือห้างจะเปิด เวลานี้ธุรกิจออนไลน์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ถึงแม้อาจจะไม่สามารถทดแทนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นการหารายได้เข้าบริษัทอีกหนึ่งทาง

         “เราก็ต้องไม่หยุดที่จะหาช่องทางในการทำธุรกิจใหม่ๆ หารายได้เข้าบริษัท นอกจากนั้นเราก็อาจจะต้องพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราอาจจะต้องประหยัดและรัดเข็มขัดให้ได้มากที่สุด โดยที่ยังไม่ไปกระทบเงินเดือนพนักงาน แต่สุดท้ายหากจะต้องกระทบก็จะต้องมีวิธีคิดว่าจะทำยังไงให้ Productivity และ Efficiency ของบริษัทตกน้อยที่สุด และยังสามารถรักษา level of productivity ที่เราเป็นอยู่ได้เพื่อจะหารายได้เข้าบริษัท สุดท้ายหากมันไม่ไหวจริงๆ ก็อาจจะมีการขอลดชั่วโมงการทำงานและอาจจะต้องมีการขอลดเงินเดือนกันจริงๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาสักนิดนึงว่าจะจัดการยังไง และนั่นก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่เราอยากจะทำ” ดีไซเนอร์คนดัง แสดงความหวัง

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว"

“อ๋อง” วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์

         อีกหนึ่งผู้ประกอบการ “อ๋อง” วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ส รีพับบลิค จำกัด แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า ก่อนอื่นเราต้องยอมรับความเป็นจริงก่อนเรื่องสภาพตลาดว่ามันไม่เอื้อแก่การค้าและธุรกิจเท่าไหร่นัก ในฐานะผู้บริหารเราก็ต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และหาแนวทางแก้ไขอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่วันต่อวัน เรียกว่าชั่วโมงต่อชั่วโมงเลยก็ว่าได้ ช่วงเวลานี้ เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ในส่วนของเราเองต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีมากขึ้น เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับใช้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์เพื่อที่จะช่วยประคองให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้เพื่อเลี้ยงปากท้องของพนักงานของเราทุกคนโดยไม่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา

ฟังเสียงประชาชนว่าไง"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว"

“ปู” ปรีชา ขวัญเจริญ

         ปิดท้ายที่ “ปู” ปรีชา ขวัญเจริญ เจ้าของธุรกิจจำหน่ายของเก่าออนไลน์ เผยว่าถึงตัวเองจะปรับตัวมาพอประมาณ แต่ถึงวันนี้เมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบ ประการแรกการประกาศที่ไม่ชัดเจนทำให้ประชาชนที่มีความตื่นกลัวอยู่แล้วยิ่งทำให้ตื่นกลัวมากยิ่งขึ้น บางคนไม่เข้าใจว่าเคอร์ฟิวคืออะไร ยิ่งพากันออกมากักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะคิดว่าจะออกจากบ้านไมได้ ถ้าออกมาจะต้องถูกจับ ประการที่สอง การออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กะทันหันเกินไปจนผู้ประกอบการต่างๆ ปรับตัวไม่ทัน ทำให้การดีลธุรกิจประสบปัญหา อย่างตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการติดต่อลูกค้าทั่วประเทศมีหลายขั้นตอน มีรายละเอียดต่างกันไป เมื่อจู่ๆ มีประกาศฉบับดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ ห้าง ร้าน ต่างปิดบริการกันหมด ไม่สามารถหาสินค้าเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าได้ตามกำหนด เกิดความเสียหาย

          มั่นใจแค่ไหนว่า “เคอร์ฟิว” จะช่วยให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น เจ้าของธุรกิจจำหน่ายของเก่าออนไลน์แสดงความเห็นว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินก็ดี หรือเคอร์ฟิวก็ดี คิดว่ารัฐบาลต้องการไม่ให้โรคร้าย กระจายออกไปมุมกว้าง ป้องกันการให้ประชาชนมารวมตัวกัน แต่ดูเหมือนว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะดูจากข่าวเห็นประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนไปออกันที่หัวลำโพงเพื่อเดินทางกลับต่างจังหวัด จึงอยากวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งผลิตเครื่องตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกมาเร็วๆ ที่สำคัญคือราคาต้องไม่สูงมากนักประชาชนทั่วไปสามารถจับต้องได้ เช่นเดียวกับตัววัคซีนที่ญี่ปุ่นและจีนร่วมกันผลิตนั้น ก็อยากให้ออกเร็วๆ เช่นกัน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ