Lifestyle

5G เศรษฐกิจใหม่ และความปลอดภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

5G เศรษฐกิจใหม่ และความปลอดภัย คอลัมน์... อินโนสเปซ โดย...  บัซซี่บล็อก

 

 


          แม้การประมูลคลื่นความถี่ 5G จะผ่านพ้นไปยังไม่ถึงเดือน แต่คนไทยก็เริ่มเห็นความกระฉับกระเฉงของค่ายมือถือที่แบ่งสรรสัดส่วนใบอนุญาตของจำนวน 3 คลื่นความถี่ รวมทั้งสิ้น 48 ใบอนุญาต ทำยอดเงินประมูลสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีผู้ให้บริการมือถือเบอร์ 1 และ 2 ของตลาด คือ เอไอเอส และทรู นำหน้าด้วยการคว้าใบอนุญาตไป 23 ใบอนุญาต และทรู 17 ใบอนุญาต ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในมือของ ทีโอที, กสท โทรคมนาคม และดีแทค

 

 

          หลังจากชำระเงินค่าคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรกให้แก่ กสทช. และได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2600 เพื่อให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา (หลังการประมูล 5 วัน) เอไอเอส ก็เดินหน้าประกาศตัวเป็นผู้ให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์รายแรกของไทยทันที เตรียมมือถือหลายยี่ห้อในรุ่นที่รองรับคลื่นใหม่นี้ไว้เสร็จสรรพ เริ่มใช้งานได้ ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมนี้ โดยยืนยันว่าเตรียมพร้อมเครือข่าย 5G ไว้แล้ว ครอบคลุมแหล่งชุมชมและย่านสำคัญในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น จตุจักร อารีย์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท สยาม สามย่าน สีลม สาทร ชิดลม สุขุมวิท และย่านอโศก รวมถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ตลอดจนในอีก 5 หัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัด


          แต่เป้าหมายที่เหนือกว่านั้น แน่นอนว่าคือ การใช้เงินภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่จะเป็น “บ่อเงินบ่อทอง” อย่างแท้จริงสำหรับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากจุดเด่นของเทคโนโลยี 5G ซึ่งผู้บริหารเอไอเอส ก็ย้ำชัดว่า ต้องมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรในทุกอุตสาหกรรม เพื่อนำ 5G ไปใช้ประโยชน์ได้ สร้างผลลัพธ์ที่แท้จริง และแหล่งรายได้ใหม่จากโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5G ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล


          ขณะที่ ฟากทรู ก็ใช้วิธีกระตุ้นการรับรู้เรื่องเทคโนโลยี 5G โดยเตรียมแจกซิมการ์ดที่รองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G บนคลื่นที่ประมูลได้มา เพื่อนำร่องให้เกิดการทดลองใช้งานก่อน ยังไม่เปิดให้บริการทั่วไปในวงกว้าง อีกทั้งมีแผนการลงทุนในส่วนของคลื่นความถี่ย่านสูง ว่าจะนำไปให้บริการร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่จำกัด เช่น โรงงาน หรือธุรกิจค้าปลีก

 



          อีกค่ายมือถือที่น่าสนใจคือ บมจ. ทีโอที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ชิงคลื่นมาได้ 4 ใบอนุญาต ก็ไม่รอช้าเดินหน้าประกาศลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลทันที พัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย 4G/5G เพื่อความก้าวหน้าระบบการแพทย์ฯ สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล ให้บริการ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


          จากบทบาทของเทคโนโลยี 5G ที่จะขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากการสื่อสารไร้สายผ่านมือถือ ให้ขยับเข้าไปใกล้ชิดกับผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรม/ธุรกิจ มากกว่ายุค 3G หรือ 4G ทำให้เกิดคำถาม และความตระหนักเกี่ยวกับ “ความปลอดภัยของเครือข่ายสื่อสาร” ในระดับที่สูงขึ้นกว่าอดีตที่ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากสถาปัตยกรรมการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย


          บริษัท ฟอร์ติเน็ต ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ อธิบายว่า ความปลอดภัยสำหรับเครือข่ายสื่อสาร 4G นั้นเป็นการปกป้องแกนหลักของเครือข่าย (Core Network) ซึ่งมีความเสถียรสูง ป้องกันจุดเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ กับระบบย่อยของเครือข่าย และปกป้องการใช้โปรโตคอลที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นำมาใช้ตอบสนอง แต่เครือข่าย 5G นั้นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง สภาพแวดล้อมของ 5G เป็นการใช้งานของเทคโนโลยีเสมือนตั้งแต่ส่วนขอบของเครือข่ายที่เรียกว่าเอดจ์ (Edge) ถึงส่วนแกนที่เรียกว่าคอร์ (Core) โดยใช้ฟังก์ชั่นเครือข่ายเสมือน (Virtual Network Functions: VNFs) เพื่อส่งมอบบริการที่ผู้ให้บริการต้องการให้ไปสู่ลูกค้าปลายทางได้อย่างราบรื่น


          ในเครือข่าย 5G ผู้ให้บริการสามารถเสนอบริการและธุรกิจที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างรายได้ขององค์กรให้มากขึ้น นอกจากนี้ ระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาจะผลักดันให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องปฏิรูปตนเองและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ขยายขีดความสามารถและสร้างให้กรณีใช้งานใหม่ๆ (Use cases) อาทิ IoT และอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่เป็นจริงให้ได้


          ทั้งนี้ ในการขยายบริการและกรณีการใช้งานต่างๆ ใน 5G จะเป็นการเปิดหน้าพื้นที่ ซึ่งสุ่มเสี่ยงถูกโจมตีของผู้ให้บริการ ลูกค้า คู่ค้าให้กว้างมากขึ้น นอกจากนี้ นวัตกรรมในระบบนิเวศดิจิทัลที่เกิดจากการประสานงานของลูกค้า คู่ค้า เทคโนโลยีและบริการที่ใหญ่มากขึ้นจะท้าทายความสามารถให้อาชญากรไซเบอร์เอาชนะและค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการเจาะ คุกคามและใช้ประโยชน์จากจุดที่อ่อนแอให้สำเร็จ ส่งให้ระบบความปลอดภัยจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในทุกบริการใหม่ๆ ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างมากกับบทบาทของความปลอดภัยใน 5G ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “ความปลอดภัย จะต้องช่วยสร้างความแตกต่างและสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ให้บริการได้”


          จากมุมมองของหัวเว่ย ผู้นำด้าน 5G ของโลก ได้ระบุไว้ว่า ประสบการณ์เครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์ที่ครอบคลุม จะเร่งการติดตั้ง 5G ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจากข้อมูลของสมาคมผู้จำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (GSA) เมื่อปลายปี 2562 มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม 62 แห่งใน 34 ประเทศได้ประกาศให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ


          ด้านผู้บริหารบริษัท เนทติเซนท์ (Netizen) ที่ปรึกษาการวางระบบซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทางธุรกิจ (อีอาร์พี) มองว่า การประมูล 5G ที่เสร็จสิ้นไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นความหวังใหม่ของประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ก้าวหน้า ช่วยยกระดับเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากระบนิเวศ (อีโคซิสเต็ม) ใหม่จากการเกิด 5G จะส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านซอฟต์แวร์อย่างมหาศาลไม่ต่ำว่า 4 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี และยังจะเกิดปรากฏการณ์การลงทุนเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงกับ Internet of Things (IoT) โดยผลวิจัยของ Forbes ระบุว่าในปี 2567 จะมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (IoT) ทั่วโลกมากถึง 2.2 หมื่นล้านเครื่อง เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีราว 7 พันล้านเครื่องทำให้เกิดปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ