Lifestyle

"พนันออนไลน์" ภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พนันออนไลน์" ภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล คอลัมน์... อินโนสเปซ    โดย.. บัซซี่บล็อก 

 

 


          “การพนันออนไลน์” เป็นธุรกิจที่โตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง จากรายงานฉบับล่าสุดของบริษัทวิจัย แกรนด์วิว (Grand View Research) คาดการณ์มูลค่าตลาดไว้ว่าจะสูงถึงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 11.5% หนึ่งในลูกค้ารุ่นใหม่กลุ่มสำคัญก็คือ นักพนันหน้าใหม่วัยใส และจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนที่เฟื่องฟูต่อเนื่องในเอเชียแปซิฟิก ส่งผลให้การเล่นพนันทางออนไลน์ กลายเป็นภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล อย่างที่หลายฝ่ายไม่เคยคาดคิดมาก่อน

 

 

          ขณะเดียวกัน เว็บไซต์พนันก็ผุดเพิ่มขึ้นทุกวัน เฉพาะข้อมูลอย่างเป็นทางการของ American Gaming Association (AGA) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ให้บริการกาสิโนเชิงพาณิชย์ในอเมริกา พบว่าเมื่อปี 2561 มีจำนวนเว็บไซต์พนันออนไลน์ที่กิจการคึกคักอยู่ราว 2,800 เว็บไซต์ ถือว่าได้เป็นตัวเลขที่น่าวิตก เพราะเว็บพนันเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนบ่อนการพนันไร้พรมแดนนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออีเวนท์ใหญ่อย่างการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 (ยูโร 2020) และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 กำลังขยับใกล้เข้ามา (กรณีที่ไม่สะดุดพิษไวรัสโคโรนา) ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดในวงการพนันทายผลการแข่งขันจำนวนมหาศาล


          ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจากเครือข่ายองค์กรเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 6 องค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการพนันออนไลน์ ได้เข้าพบกับผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนำเสนอปัญหา และหารือแนวทางที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนช่วยกันลดปัญหา และร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากการพนัน โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่มีผลกระทบในหลายมิติ


          โดยทั้ง 6 องค์กร ประกอบด้วย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ (AIESEC) เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และเครือข่ายเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา

 



          ทั้งนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของเยาวชนทั่วประเทศ 4,677 คน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อปี 2562 พบว่าร้อยละ 42.38 ของเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนัน โดยมีปัจจัยชักจูงให้เข้าสู่การเล่นการพนันออนไลน์ คือ สื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ดูหนังฟังเพลง เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงสุด ส่วนการพนันออนไลน์ยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ ไพ่ประเภทต่างๆ เกม/สลอตแมชชีน และเล่นพนันฟุตบอล/พนันกีฬา ตามลำดับ


          สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันในสังคมไทย ปี 2562 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3.19 ล้านคน เล่นการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ มีเงินหมุนเวียนสะพัดถึง 20,152 ล้านบาท โดยช่องทางหลักที่ใช้เล่นพนันออนไลน์ คือ โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 97.1)


          นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ทางเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชนทั้ง 6 องค์กร ได้มีข้อเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลฯ 4 ข้อ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาพนันออนไลน์ ประกอบด้วย 1.ขอให้กระทรวงประกาศนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งปัญหาและลดผลกระทบอย่างทันทีทันใดและยั่งยืน 2.ขอให้กระทรวงและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนากลไกและมาตรการในการแก้ปัญหาการพนันออนไลน์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม


          3.ขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยระบุลักษณะความผิดอันเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ให้ครอบคลุมชัดเจน และกำหนดเพิ่มบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดดังกล่าว และ 4.ขอให้พัฒนาช่องทางร้องเรียน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส และข้อมูลข่าวสาร หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์


          โดยส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ได้รับฟังจากเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ทำให้ทราบด้วยว่า สาเหตุที่การพนันออนไลน์ได้รับความนิยม เนื่องจากกลุ่มธุรกิจพนันมีการพัฒนาก้าวล้ำไปกับยุคดิจิทัล นิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางโฆษณาเชิญชวนเด็กและเยาวชน ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้บุคคลผู้มีชื่อเสียงและเน็ตไอดอล ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเยาวชน รวมถึงว่าจ้างให้เยาวชนรีวิวเว็บไซต์พนัน เพื่อแนะนำบอกต่อเชิญชวนกันเองด้วย


          นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ บอกว่า กระทรวงมองการทำงานในเรื่องนี้ไว้ 3 ขั้นตอน คือ ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไข โดยในส่วนของการป้องกัน การทำงานร่วมกันหรือเครือข่าย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างความรับรู้และการตระหนักรู้ เกี่ยวกับผลกระทบและปัญหาการพนันออนไลน์ โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนในเรื่องการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม (Digital Literacy)


          สำหรับการปราบปราม กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้มีหน้าที่ปราบปรามโดยตรง แต่ก็มีกฎหมายซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเก็บข้อมูลเป็นหลักฐานทางกฎหมาย หรือ Digital Forensic ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บก.ปอท. ดีเอสไอ เพื่อไปดำเนินการต่อไป


          ส่วนเรื่องการแก้ไข ต้องมีการบูรณาการเพื่อร่วมกันออกมาตรการในการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันการพนันออนไลน์ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ทวิ และผู้ที่ทำการโฆษณาหรือชักชวนผู้อื่นเล่นพนัน มีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน ตามมาตรา 12 (2) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไข พ.ศ. 2560) มาตรา 14 (4) และมาตรา 20 (3) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตรา 20 ไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงในเรื่องนี้ แต่ระบุให้ต้องมีหน่วยงานอื่นต้องมาแจ้งความก่อน และบทลงโทษต้องใช้กฎหมายอื่นมาประกอบ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ