Lifestyle

เมืองใหญ่-นิคมอุตฯ แหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมืองใหญ่-นิคมอุตฯ แหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คอลัมน์...  อินโนสเปซ โดย... บัซซี่บล็อก

 

 

 


          ได้มีโอกาสรับฟังการประมวลสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยครั้งล่าสุด เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่มี 3 องค์กรสำคัญ ซึ่งมีบทบาทหลักๆ ในการไล่ล่า “โจรลักซอฟต์แวร์” ในประเทศไทย ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) แล้วก็ต้องสะกิดใจกับข้อมูลที่ระบุ “พิกัด” พื้นที่ ซึ่งต้องถูกจับตาเป็นพิเศษว่า มักอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

 


          จากการเปิดเผยข้อมูลโดย พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับองค์กรธุรกิจทั้งสิ้น 469 คดี ซึ่งเพิ่มจากตัวเลข 395 คดีเมื่อปี 2561 อย่างไรก็ตาม ในแง่มูลค่าการละเมิดฯ ลดลงจาก 661 ล้านบาทในปีก่อนหน้า มาอยู่ที่กว่า 464 ล้านบาท


          โดยองค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ออกแบบและตกแต่งภายใน เป็นต้น บางรายเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนคอมพิวเตอร์ถึง 100 เครื่อง ส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดี มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร


          อย่างไรก็ตาม จำนวนคดีที่จัดการไปแล้วข้างต้น ยังไม่ใช่ตัวเลขทั้งหมดที่ได้รับแจ้งเข้า เพราะจนถึงขณะนี้ยังมีผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเข้ามาอีกมากกว่า 100 ราย ซึ่งอยู่ในกระบวนการตรวจสอบและสืบสวนเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้การแจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คึกคักขนาดนี้ ก็เพราะว่า มีตัวเลขเงินรางวัลจ่ายจริงให้สูงสุดถึง 1 ล้านบาทสำหรับผู้แจ้งเบาะแส (จะได้รับเมื่อคดีสิ้นสุด)


          โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของพันธมิตรซอฟต์แวร์ bsa.org บอกไว้ว่า จำนวนเงินรางวัลที่จ่ายจริงมีมูลค่าสูงสุดตามที่โฆษณาและขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบีเอสเอ โดยมีเกณฑ์ในการให้รางวัลตามปัจจัย ดังนี้ ขนาดของบริษัทที่ถูกรายงาน, จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์, ความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลในรายงาน, ความร่วมมือของผู้แจ้งเบาะแสตลอดขั้นตอนการดำเนินการ และความสำเร็จในการดำเนินคดีกับทางบริษัทอันเป็นผลมาจากการแจ้งเบาะแส ใครสนใจเข้าไปรายงานเบาะแสได้ผ่าน reporting-asia.bsa.org และคลิกเลือกว่าอยากรายงานแบบกระชับ หรือลงรายละเอียด


          เมื่อครั้งที่ยังมีการติดต่ออยู่บ้างกับบุคคลในแวดวงของพันธมิตรซอฟต์แวร์ และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานด้านนี้ ทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกด้วยว่า เบาะแสส่วนใหญ่ที่สามารถนำไปสู่การจับจริง ปรับจริง ล้วนมาจากพนักงาน/บุคลากรภายในองค์กรนั้นๆ นั่นเอง และหลายครั้งพบว่า มูลเหตุของการแจ้งเบาะแส ไม่ใช่แค่เพราะหวังเงินรางวัลเพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งมีแรงกระตุ้นจากความไม่พอใจองค์กรหรือนายจ้าง


          หันกลับมาที่การเอาจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบ้านเรา ซึ่งทาง บก.ปอศ.ประกาศเป้าหมายว่าจะเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงโดยเฉลี่ย มากกว่า 3% ต่อปี และลดลงเร็วสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มั่นใจว่าทำได้ เพราะด้วยเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิคจากผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้ยุคนี้การตรวจสอบดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น


          ขณะที่ น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขานรับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ริเริ่มจัดทำคู่มือการจัดซื้อ/จัดหาซอฟต์แวร์เพื่อเป็นแนวทางให้แก่หน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการให้เป็นไปตามมติครม. โดยคาดว่าจะเผยแพร่คู่มือฉบับนี้ได้ในเร็วๆ นี้


          นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต รวมถึงปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์และนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ หรือที่เรียกว่า ระบบ Notice and Takedown ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ค้าและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงเพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0


          รายงานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา บอกอีกว่า จากการจัดอันดับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจของกลุ่มประเทศในอาเซียน เมื่อปี 2561 พบว่า ประเทศไทยมีสถิติการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อยู่ที่ร้อยละ 66 เป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย อันดับที่ 1 ร้อยละ 83 และเวียดนาม อันดับที่ 2 ร้อยละ 74


          อย่างไรก็ตาม จากสถิติ 20 อันดับโลกที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุด โดยการรวบรวมของ www.revulytics.com อัพเดทล่าสุดปลายเดือนกันยายน 2562 มีดังนี้ ประเทศจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อินเดีย ยูเครน อิตาลี ไต้หวัน เกาหลี เม็กซิโก เวียดนาม ฝรั่งเศส ตุรกี อิหร่าน เยอรมนี บราซิล โคลอมเบีย อินโดนีเซีย เปรู ประเทศไทย และฮังการี


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ