Lifestyle

เส้นเอ็นข้างต้นขา (Iliotibial Band: ITB)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เส้นเอ็นข้างต้นขา (Iliotibial Band: ITB) คอลัมน์...  เสียงเตือนจากร่างกาย 


 


          ฉบับที่แล้ว เราได้พูดถึงกล้ามเนื้อก้น (Gluteus muscle group) ให้ได้ทราบกันไปแล้วนะคะว่า กล้ามเนื้อก้นมีใยกล้ามเนื้อที่เชื่อมต่อไปถึงเข่า และเส้นเอ็นข้างต้นขา (Iliotibial band: ITB) ที่จะพูดถึงในครั้งนี้ เป็นเยื่อเส้นเอ็นที่เหนียวแน่น จึงไม่เรียกว่าเป็นกล้ามเนื้อซะทีเดียว เนื่องจากลักษณะของเอ็นกล้ามเนื้อนี้ไม่ใช่เส้นใยกล้ามเนื้อ แต่มีลักษณะเป็นเอ็นที่ต่อมาจากกล้ามเนื้อสะโพกด้านข้าง (Tensor Fasciae Latae: TFL) และกล้ามเนื้อก้น (Gluteus muscle group) โยงยาวเชื่อมจากก้น-สะโพก ส่วนปลายแผ่ปกคลุมเข่าและลูกสะบ้าด้านข้าง ไปเกาะจบที่หน้าแข้งด้านนอก (Gerdy’s Tubercle) ด้วยแนวการวางตัว จุดเชื่อมโยงกับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และจุดปลายของเอ็นกล้ามเนื้อนี้ ทำให้ ITB มีความสำคัญทางด้านกายวิภาคศาสตร์ และในทางคลินิกมาก เพราะเมื่อเกิดปัญหากับเอ็นกล้ามเนื้อนี้จะทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นกับส่วนอื่นได้ง่าย 

 

 

          ส่วนใหญ่มักพบว่าเอ็นกล้ามเนื้อนี้จะมีความตึงมากกว่าปกติ (Tightness) เมื่อตึงมาก เวลาเคลื่อนไหวสะโพกและเข่าซ้ำๆ จึงทำให้จุดเกาะปลายที่เป็นเส้นใยแผ่ปกคลุมด้านข้างของเข่าและลูกสะบ้าผ่านไปยังหน้าแข้งนั้นเสียดสีกับปุ่มกระดูกของข้างเข่า ทำให้เกิดอาการปวดเข่าด้านนอกได้ อาการนี้มักพบได้บ่อยในนักกีฬา และการออกกำลังกายที่ต้องงอ-เหยียดเข่าซ้ำๆ เช่น นักวิ่ง นักปั่นจักรยาน นักไตรกีฬา หรือบางเคสก็เจอในพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานต่อเนื่องนานๆ หลายชั่วโมง ฯลฯ


          สังเกตไหมคะว่า ไม่ว่าจะใช้งานเยอะ หรือไม่ใช้งานเลย ก็ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อนี้มีปัญหาได้ ซึ่งสาเหตุแท้จริงที่ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อนี้ตึงมากกว่าปกติก็คือ “กล้ามเนื้อก้นอ่อนแรง”


          เมื่อกล้ามเนื้อก้นอ่อนแรง เอ็นส่วนนี้จะถูกกระชากจนทำให้ต้องตึงตัวมากกว่าปกติ ด้วยหน้าที่ส่วนหนึ่งของเอ็นนี้ที่เป็นตัวพยุงให้ความมั่นคงกับข้อเข่าด้านนอก ดังนั้นหากปล่อยปัญหาของเอ็นกล้ามเนื้อนี้ไว้เรื้อรัง ก็อาจทำให้เข่ามีปัญหาเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นเข่าเสื่อมได้ในที่สุด คนส่วนใหญ่เมื่อเข่ามีปัญหาก็ไปแก้ที่เข่า ทั้งที่ต้นตอของเหตุเกิดนั้นไม่ใช่ แม้จะผ่าตัดเปลี่ยนเข่า ก็ยังไม่หาย บางรายกลับเดินไม่ได้ก็มี ล่าสุดอาของลูกค้าถึงกับเสียชีวิตในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน เริ่มจากอาการปวดเข่านี่แหละค่ะ


          ปัญหาที่แก้ไขไม่ตรงจุด.. ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้จริง ทั้งยังทำให้เป็นปัญหาเรื้อรังเพิ่มขึ้นไปอีก ...

 



          กล้ามเนื้อในร่างกายของคนเราก็เช่นกันค่ะ บางทีจุดที่เราปวด เมื่อตรวจประเมินแล้วอาจเป็นแค่ผลที่แสดงอาการ แต่เหตุที่ทำให้ปวดอาจมาจากส่วนอื่นที่มีความเกี่ยวโยงกันอยู่ก็เป็นได้ค่ะ ...นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนอยากแชร์ ให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกล้ามเนื้อในร่างกายเรา เมื่อมีอาการอะไรเกิดขึ้น เราจะสามารถตั้งสติ และฟังเสียงสัญญาณเตือนจากร่างกายตัวเองได้ว่าเขากำลังบอกสิ่งใดเราอยู่


          อย่าลืมนะคะว่า หมอที่เก่งที่สุดสำหรับเราคือตัวเราเอง การรู้เท่าทันร่างกายตัวเอง ก็เสมือนสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายไม่ให้เจ็บปวดรุนแรงได้ค่ะ...พบกันฉบับหน้านะคะ สวัสดีค่ะ


          ฟรี รับการตรวจความแข็งแรง และความทนของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว สำหรับ 15 ท่านแรกที่ส่งชื่อและเบอร์โทรศัพท์มาที่ Line: @ariyawellness หรือ โทร.09-2326-9636


          ***ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) โทร.09-2326-9636 www.ariyawellness.com Facebook: Ariya Wellness Center สถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ***

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ