Lifestyle

ขุมทรัพย์ 4 แสนล้านดอลล์ เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขุมทรัพย์ 4 แสนล้านดอลล์ เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ คอลัมน์...  อินโนสเปซ   โดย...  บัซซี่บล็อก

 

 

 


          ปัจจุบันในห้วงอวกาศเหนือโลกใบนี้มีดาวเทียมทั้งที่เป็นวงโคจรค้างฟ้าและกลุ่มดาวเทียมวงโคจรต่ำ ล่องลอยอยู่รวมๆ กันแล้วไม่ต่ำกว่า 40,000 ดวง ขณะที่กระแสความแรงของ “เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่” หรือ Space Economy ก็กำลังปลุกความสนใจของยักษ์ใหญ่มากรายพาเหรดเข้าสู่ตลาดเพิ่ม จนมีตัวเลขคาดการณ์ว่าจะสร้างมูลค่าทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจแตกตัวเพิ่มได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้อย่างไม่ยาก

 

 

          เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดงานสัมมนา “Open Sky 2020 : Opportunities and Challenges โอกาสและความท้าทายในกิจการดาวเทียมของไทย” โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนิตยสารเอสเอ็ม (SM Magazine) เป็นเวทีรวม “ตัวจริง” วงการดาวเทียมของประเทศไทย ทั้งภาคเอกชนและผู้กำกับนโยบายมาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ “โอกาส” ที่ประเทศไทยจะได้จากนโยบายเปิดเสรีดาวเทียมที่ประกาศออกมาแล้วในปีนี้ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเก็บเกี่ยวประโยชน์จากดาวเทียมบรอดแบนด์ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นจริงแล้ว และกำลังมาแรงบนห้วงอวกาศยุคศตวรรษที่ 21


          เพราะอนาคตของดาวเทียมยุคจากนี้ไปก็คือจะเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ยิงทีละจำนวนหลายดวง ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงถึงบ้าน ที่สำคัญสถานีรับสัญญาณจะเปลี่ยนแปลงจากแบบประจำที่ไปสู่ Earth Station in Motion: ESIM) หรือสถานีภาคพื้นโลกที่เคลื่อนที่ไม่ต้องประจำที่ แต่สามารถติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณไว้ได้กับทุกสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ เช่น เครื่องบิน เรือที่กำลังแล่นในท้องทะเล ทำให้มือถือทุกเครื่องเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณดาวเทียมได้อย่างง่ายดาย


          ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้างานฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อิริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด และที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) กล่าวว่า ปัจจุบันในวงการอวกาศและเทคโนโลยีกำลังมีการพูดกันถึงหัวข้อของอวกาศยุคใหม่ (New Space) ซึ่งหมายถึงกิจการอวกาศที่ถูกเปิดเข้าสู่ระบบธุรกิจ (Commercial Space) จากเดิมเคยถูกมองว่าเป็นกิจการของรัฐและถูกผูกขาดไว้ เมื่อเปิดให้กิจการด้านนี้สามารถระดมทุนได้ก็จะทำให้กิจการอวกาศถูกพัฒนาได้เร็วกว่าเดิม ดียิ่งขึ้น และสามารถเข้าสู่ตลาดด้วยต้นทุนที่ถูกลงทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้บริโภค




          “ดาวเทียมเป็นหนึ่งใน new space บางประเทศ เริ่มมีการศึกษาและพูดถึงเศรษฐกิจบนกิจการอวกาศยุคใหม่ (Space Economy) ซึ่งปัจจุบันมีประมาณการตัวเลขไว้ที่ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นธุรกิจที่สร้างเศรษฐกิจใหม่ที่มีขนาดใหญ่เอาเรื่อง”


          แนวโน้มของการแข่งขันในกิจการดาวเทียมและอวกาศในยุคศตวรรษที่ 21 จะมีความเกี่ยวข้องทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงประเทศ จะเห็นการเกิดขึ้นของกิจการใหม่ๆ 4 ด้านเด่นๆ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ในอวกาศ (Space Mining) ปัจจุบันแร่ธาตุต่างๆ หาบนโลกไม่เพียงพอแล้ว การทำเหมืองบนโลกยากขึ้น ดังนั้น ทำไมมนุษย์จึงไม่หาประโยชน์จากอุกกาบาตที่ลอยอยู่ในอวกาศ ขณะที่เทคโนโลยีอวกาศมีการส่งจรวดขึ้นไปบนอวกาศอยู่ตลอดเวลา หุ่นยนต์ก็มีการพัฒนามากขึ้น ถ้าต่อไปจะส่งหุ่นยนต์ไปกับยานอวกาศไปเกาะที่อุกกาบาต แล้วขุดแร่ธาตุที่สำคัญกลับมายังพื้นโลก ถือว่าเป็นรายได้ของบริษัท


          การจัดส่งดาวเทียม ดาวเทียมทุกวันนี้มีการพัฒนามากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ดาวเทียมขนาดใหญ่เทอะทะ ราคาสูง แต่ในวันนี้มีดาวเทียมเล็กๆ ที่เรียกกันว่า คิวบ์แซท (Cube Sat), ดาวเทียมเล็ก (Small Satellite) ต้นทุนไม่ถึงล้านบาท น้ำหนักไม่มาก ยิงไม่ต้องให้ไปวงโคจรค้างฟ้า ยิงแค่ระดับวงโคจรต่ำได้ ต้นทุนจัดส่งถูกลง ดังนั้นจึงมีกิจการใหม่ๆ ที่รับจ้างยิงดาวเทียม เพราะดาวเทียมยุคใหม่จัดส่งกันพร้อมกันได้ครั้งละหลักร้อยดวง จนถึงหมื่นดวง


          การท่องเที่ยวอวกาศ เมื่อยานอวกาศมีการพัฒนามากขึ้น เมื่อยิงขึ้นออกไปนอกโลกแล้วสามารถกลับเข้ามาได้ เช่น สเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ แนวคิดของการท่องเที่ยวรูปแบบนี้อาจเริ่มต้นด้วยการทัวร์อวกาศส่วนที่ติดขอบโลกก่อนแล้วต่อไปที่ดวงจันทร์ ดาวอังคาร เป็นต้น


          และ ดาวเทียม จากนี้ไปดาวเทียมจะไม่จำกัดการใช้ประโยชน์เฉพาะการเป็นดาวเทียมสื่อสารแต่สามารถถูกใช้ประโยชน์ได้อีกหลายรูปแบบ และปัจจุบันดาวเทียมสื่อสารเริ่มขยับจากบทบาทการใช้งานบรอดคาสต์หรือถ่ายทอดโทรทัศน์มาเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมผู้ใช้งานปลายทางได้


          "อีกส่วนหนึ่งที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็คือการใช้ดาวเทียมในการนำทาง ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีระบบจีพีเอสของสหรัฐแล้ว ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มพัฒนาระบบของตัวเอง เช่น รัสเซีย จีน และสหภาพยุโรป และยังมีระดับภูมิภาค เช่น ระบบดาวเทียมนำทางของอินเดีย และญี่ปุ่น สร้างให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามมาอีกมากมาย”


          นอกจากนี้ยังเริ่มเห็นกิจการเกิดใหม่ที่เป็นบริษัทลงทุนด้านอวกาศโดยเฉพาะ บางแห่งมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกาแล้วด้วย อีกทั้งเห็นแนวโน้มบริษัทใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับริการดิจิทัล เจ้าของเริ่มมาลงทุนในกิจการอวกาศยุคใหม่ ได้แก่ อีลอน มัสก์ ของสเปซเอ็กซ์, เจฟฟ์ เบซอส แห่งอเมซอน และเจ้าของกลุ่มบริษัท เวอร์จิ้น ที่มีเครือข่ายกิจการหลากหลายตั้งแต่เครื่องบินไปถึงสื่อบันเทิงและฟิตเนส


          หันกลับที่ประเทศไทยจากผลการศึกษาของ GISDA พบว่าเศรษฐกิจอวกาศของไทยสัดส่วนหลักราว 90% อยู่ที่ดาวเทียม โดย 2 ระบบที่น่าสนใจ คือ ดาวเทียมสื่อสารและดาวเทียมนำทาง ดังนั้นเป็นสัญญาณชี้ว่าประเทศไทยควรเริ่มต้นด้วยแนวโน้มนี้


          นายวราวุธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพด้านดาวเทียมที่จัดตั้งมาได้ราว 2 ปีครึ่ง เริ่มด้วยการมุ่งเน้นเทคโนโลยีดาวเทียมบรอดแบนด์ และมองไกลถึงการพาคนออกไปท่องอวกาศ ตั้งเป้าว่าในปี 2565 จะจัดส่งดาวเทียมบรอดแบนด์ของบริษัทเองขึ้นสู่อวกาศ และเปิดให้บริการปีถัดไป


          หนึ่งในประเด็นน่าสนใจจากประสบการณ์ของผู้เล่นหน้าใหม่แต่เก๋าด้วยประสบการณ์ด้านดาวเทียมรายนี้ ก็คือ เขาบอกว่า หลายเทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือได้ถูกนำมาใช้ในดาวเทียม เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์และชิ้นส่วนบางตัว ด้วยข้อดีของการ economy of scale ของชิ้นส่วนมือถือ ทำให้ต้นทุนอุปกรณ์ในการพัฒนานวัตกรรมด้านดาวเทียมลดลง ช่วยให้ทั้งบริษัทหน้าใหม่และผู้เล่นรายเดิม สามารถพัฒนานวัตกรรมได้มากขึ้น สร้างอีโคซิสเต็มใหม่ๆ เกิดบริการใหม่ๆ มากขี้นได้อีก


          “สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจอวกาศเกิดได้ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ จากที่ศึกษาจากประวัติศาสตร์มา ความต้องการจะเกิดจากภาครัฐก่อน ถ้าภาครัฐขยับ คิดล่วงหน้าไป ก็จะทำให้เกิดการจ้างงาน มีนวัตกรรมไปตอบโจทย์เศรษฐกิจ 4.0 ของประเทศไทย แต่ก็ต้องใช้เวลาและกล้าเสี่ยง กล้าทำอะไรใหม่ๆ และลองผิด ลองถูก ซึ่งบริษัทก็ทำอยู่”
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ