Lifestyle

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระเอกหนุ่มดาวรุ่ง วางเป้าหมายไว้อย่างเป็นลำดับขั้น เพื่อเดินไปให้สุดแล้วหยุดที่ "บัลลังก์ผู้พิพากษา"

       “ผมชอบความถูกต้อง ความยุติธรรม” มุมมองสะท้อนคมคิดของ “มาร์ค” อภิวิชญ์ จักษ์ตรีมงคล พระเอกหนุ่มดาวรุ่ง เมื่อถูกถามถึงปมเหตุแห่งความสนใจเรื่องกฎหมาย อีกหนึ่งเส้นทางชีวิตนอกเหนือจากบทบาทบนถนนสายบันเทิงที่เขากำลังโลดแล่นจนเป็นที่รู้จักมากขึ้นทุกวัน ถึงกับวางเป้าหมายไว้อย่างเป็นลำดับขั้น เพื่อเดินไปให้สุดแล้วหยุดที่ “บัลลังก์ผู้พิพากษา”

  มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

       “มาร์ค” อภิวิชญ์ หนุ่มหล่อขาวใสสไตล์เกาหลี วัย 24 ปี ที่แฟนคลับคุ้นหน้าคุ้นตาจากบท “เจตต์” ตัวละครที่เติบโตในสลัมจากเรื่อง “เพลิงริษยา” หรือบทคุณชาย “ระพี” ในละครแนวย้อนยุค “เล่ห์รัญจวน” ที่กำลังเข้มข้นทางช่อง 8 และอีกหลายบทบาท เริ่มต้นเข้าวงการจากการถูกชักชวนของแมวมองตั้งแต่เป็นเฟรชชี่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะแจ้งเกิดจากซีรีส์ “ลุ้นรักข้ามรั้ว” ทั้งรูปร่าง หน้าตา บวกฝีไม้ลายมือการตีบทส่งให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นพระเอกตัวท็อปของช่องได้ไม่ยาก ขณะที่ความตั้งใจในสายอาชีพด้านกฎหมายก็ยังทำได้ดีตีคู่กันเรื่อยมา

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

     “ตอนมัธยมปลายได้เรียนวิชากฎหมายเบื้องต้นรู้สึกสนใจ ได้เห็นความยุติธรรม คนผิดต้องได้รับโทษ นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้อยากรักษาความยุติธรรมในสังคม พอเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นช่วงเข้าวงการใหม่ๆ ด้วยก็เริ่มสนุก แต่ต้องแบ่งเวลาเรียนและทำงานให้ลงตัว โชคดีที่การเรียนการสอนที่คณะไม่มีการเช็กชื่อ เน้นการอ่านหนังสือเอง อ่านให้เข้าใจแล้วค่อยท่องจำ แต่ถ้าเป็นวิชาสำคัญมากๆ จะใช้วิธีฝากเพื่อนๆ ช่วยบันทึกการบรรยายของอาจารย์มาเปิดฟังและอ่านหนังสือตาม" นักแสดงดาวรุ่ง เผยเคล็ดไม่ลับการจัดสรรเวลา

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

เลือกเรียนกฎหมายธุรกิจหวังต่อยอดในอนาคต

     “ตอนปี 3 เขาให้เลือกสายที่ชอบ ผมเลือกเรียนกฎหมายธุรกิจ จากที่มี 4 สาขาคือ กฎหมายแพ่ง-อาญา, กฎหมายธุรกิจ, กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายมหาชน พอดีว่าบ้านเราทำธุรกิจ แล้วส่วนตัวก็มุ่งหวังว่าจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองบ้างก็เลยเลือกเรียนมาทางนี้ อย่างกฎหมายแพ่ง-อาญา เราเรียนพื้นฐานมาบ้างถ้าอยากรู้ลึกคิดว่าน่าจะอ่านหนังสือเองได้ ส่วนกฎหมายมหาชนและระหว่างประเทศคงไม่ใช่ทางของเรา อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ พอไปดูกฎหมายที่เรียนแต่ละตัวอย่างกฎหมายธนาคาร กฎหมายหลักทรัพย์ หรือเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับกฎหมายจะชอบมาก  เขาจะสอนกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจที่เป็นธุรกิจเฉพาะ"

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

จริงจังจนคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 

      “เข้าไปเรียนเทอมแรกได้เกรดเฉลี่ย 3.55 หรือเกียรตินิยมอันดับ 2 คืออันดับ 1 ต้องได้ 3.60 อีกนิดเดียวจะถึงแล้ว เลยลองสังเกตเพื่อนหลายๆ คนว่าทำไมเขาถึงสามารถสอบได้เกือบคะแนนเต็ม หาจังหวะเข้าไปอ่านหนังสือกับเขาบ้าง ทำให้เปลี่ยนความคิด จากเมื่อก่อนอ่านหนังสือแค่จุดสำคัญๆ แต่พอไปอ่านกับอีกกลุ่มหนึ่งเห็นเลย โห...ตรงนี้อีกนิดเผื่อออกสอบ กลายเป็นว่าทุกอย่างสำคัญหมด พอเราทำเหมือนเพื่อนที่เก่งๆ ก็ทำให้รู้ทั้งหมด รู้เป็นระบบ แล้วสามารถเชื่อมโยงกันได้หมด ก็ถึงบางอ้อว่านี่แหละคือวิธีการเรียนที่ถูกต้อง คือต้องเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดจริงๆ ถึงจะสามารถทำข้อสอบได้ สุดท้ายจบที่ 3.63 ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ดีใจมาก”

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

เนติบัณฑิตปูทางสู่อัยการ

     จบป.ตรี แล้ว “หนุ่มมาร์ค” ก็สามารถคว้า “เนติบัณฑิต” ได้ภายในหนึ่งปีครึ่งจากหลักสูตรปกติ 2 ปี เจ้าตัวบอกว่า เนติบัณฑิตคือหนึ่งในคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าไปเป็นอัยการและผู้พิพากษา ด้วยคณะกรรมการตุลาการยุติธรรม (ก.ต.) มองว่าแต่ละมหาวิทยลัยที่เปิดสอนนิติศาสตร์ 4 ปี ความเข้มข้นอาจไม่เท่ากัน จึงต้องมีการจับมาเขย่าใหม่โดยเรียนทั้งหมด 4 วิชาหลัก ได้แก่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

      “ระหว่างนั้นมีงานละครกับทางช่อง 8 พอดี ก็มองว่าเล่นละครไปด้วยกับสอบเนติบัณฑิตไปด้วยไม่กระทบกันมาก  ท่องบทละครกับท่องกฎหมายไม่ตีกันแน่นอน จะพยายามคุมคิวตัวเองก่อนสอบ 2 อาทิตย์จะไม่รับงานใดๆ จะท่องตำราสอบเท่านั้น โอ๊ย...ดูเหมือนชิล เครียดสิครับ ! เครียดสุดตอนสอบเนฯ วิชาแรกเทอมแรก เหมือนเราไม่เคยรู้จักอาจารย์มาก่อน จับจุดออกข้อสอบไม่ค่อยถูก แต่ก็ผ่านไปด้วยดี จบเนฯ แล้วอยากไปทำงานกฎหมายสามารถไปทำได้เลย แต่ถ้าอยากเข้าไปว่าความในศาลหรือทนายความก็ต้องมีใบอนุญาตว่าความ ก็ต้องไปสอบ “ตั๋วทนาย” ซึ่งผมสอบไว้ตั้งแต่เรียนอยู่จุฬาฯ ปี 3 มีโอกาสไปสมัครฝึกงานกับบริษัทกฎหมาย “ลอว์ เฟิร์ม” (LAW FIRM) 2 เดือน ที่สามารถสอบตั๋วทนายได้ตั้งแต่เรียนยังไม่จบก็เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขของสภาทนายความที่ระบุไว้มี 5 สถาบัน จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ สุโขทัยฯ เชียงใหม่ และรามฯ ที่สามารถเอาอนุปริญญาไปสอบได้เลย”

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

ทนายความป้ายแดงกับประสบการณ์ว่าความให้คุณพ่อ

     ตอนเรียนจบใหม่ๆ เป็นจังหวะเดียวกับที่บ้านซึ่งทำธุรกิจสถานบันเทิง “ไอดีโฟร์ผับ" มีปัญหาขึ้นโรงขึ้นศาล “มาร์ค” จึงขออาสาคุณพ่อ อภิชัย จักษ์ตรีมงคล หรือ “เฮียตี๋เล็ก" แห่งธนบุรีคาเฟ่ ช่วยดูเรื่องกฎหมาย โดยจ้างทนายความแล้วตัวเองเป็นที่ปรึกษาให้ และสุดท้ายได้ลองวิชาด้วยการขึ้นศาลว่าความครั้งแรกในชีวิต 

      “เป็นอะไรที่ตื่นเต้นมากๆ เป็นคดีอาญาด้วย คือที่บ้านทำธุรกิจสถานบันเทิง มีตำรวจตั้งหน่วยเข้าไปตรวจ แล้วพบลูกค้ามีสารเสพติดในปัสสาวะ ตำรวจเลยตั้งข้อหาว่าเราปล่อยปละละเลยให้มีการเสพสารเสพติดในร้าน เราก็ต้องสู้ คือคนที่เสพไปเสพมาจากไหนก็ไม่รู้แล้วเข้ามาเที่ยวในร้าน ทั้งที่จริงเจอสารเสพติดปริมาณน้อยมากที่ลูกค้าแอบเอาเข้ามา เราก็สู้ด้วยความที่เรารู้ข้อมูล ต้องขึ้นว่าความสองคน ทนายความที่จ้างมาเขาให้เราถามเอง ซักเอง เป็นคดีแรกที่ได้ประสบการณ์สูงมาก บางทีก็ถามคำถามที่ทำให้เราเสียเปรียบบ้างก็มี จริงๆ แล้วทนายเก่งแค่ไหนก็ไม่เท่าคนที่รู้ข้อมูลทั้งหมด ตอนนี้เราแพ้คดีที่ศาลชั้นต้น เราก็ต้องอุทธรณ์ จะตัดสินอีกทีเดือนธันวาคมปีนี้”

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

มุมมองกฎหมายไทยในฐานะนักกฎหมายรุ่นใหม่     

      “ผมเห็นความสวยงามอยู่ที่ศาล พูดภาษาชาวบ้านคือเป็นกลางโคตรๆ ไม่ว่าจะคดีที่ผมทำหรือคดีอื่นๆ ที่เป็นข่าวดัง บางทีหลายคนไม่เข้าใจแล้วจะชอบตำหนิศาล เวลาตัดสินคดีต่างๆ ศาลจะรับรู้ข้อมูลผ่านคู่ความ จะไม่สนใจข่าวที่เราอ่านตามเฟซบุ๊ก จากทีวี ให้เขาสู้กันด้วยสองฝ่าย นี่แหละคือข้อเท็จจริงที่ศาลควรฟังที่สุด ทำให้ศาลน่าเคารพ น่าเกรงขาม ส่วนในมุมมืดบางคดีทนายหรืออัยการห่วงเรื่องแพ้ชนะเป็นสำคัญ มากกว่าความยุติธรรมตามกฎหมายที่เรียนมา อันนี้เป็นมุมที่ทำให้ผมอยากเข้าไปเป็นผู้พิพากษา อยากเข้าไปดูในจุดนี้แล้วช่วยตัดสินให้ถูกหลักตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าแพ้ไม่ได้ กลัวประวัติการว่าความเสีย แบบนี้มันมุมมืดมากๆ”

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

ประชาชนต้องรู้เท่าทันกระบวนการยุติธรรม

      “ตัดสินร้อยคดีก็มีหลุดบ้างล่ะ เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ผมอยากให้เปลี่ยนแปลงไม่ใช่ที่ตัวระบบ เพราะมันดีระดับหนึ่งแล้ว ปัญหาใหญ่อยู่ที่การให้ความรู้แก่คนในสังคมมากกว่า เพราะหลายๆ ครั้งที่อ่านข่าวแล้วเห็นคนด่าศาล ด่าตำรวจ ด่าอัยการ อย่างคดีเสือดำผมเห็นด่าอัยการเป็นหลัก ต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้คนให้เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง หรืออย่างล่าสุดเรื่องกฎหมายค้ำประกัน กรณีข่าวดังที่ดาราหนุ่มไปค้ำประกันแล้วเป็นหนี้จนหาทางออกไม่ได้ ก็มีคนมาบอกว่าคนกู้หนีไปแล้วทำไมไม่ไปเรียกร้องกับเขา มาเอาผิดคนค้ำทำไม ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนว่ากฎหมายจริงๆ คืออะไร” 

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

สถานีต่อไป “ผู้พิพากษา”

     หนุ่มอนาคตไกล บอกว่า จะสอบผู้พิพากษาได้ต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป แล้วก็ต้องเป็นทนายความ 2 ปี ว่าความอย่างน้อย 20 คดี ถือว่าเยอะมาก ตัวเองจะใช้วิธีเป็นทนายความอาสา เช่น ผู้ที่ร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิต หรือคดีลูกหนี้บัตรเครดิตที่เบี้ยวหนี้แล้วโดนธนาคารฟ้อง เก็บชั่วโมงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 

    “ตอนนี้ถือว่าเป็นทนายความเต็มตัวแล้วแต่ถ้าถามถึงจิตใจที่จะเป็นทนายถือว่ายัง เพราะยังไม่กล้าว่าความด้วยตัวเอง ต้องพัฒนาประสบการณ์บ่อยๆ ส่วนเรื่องสอบผู้พิพากษาตอนนี้มีเวลาปีเศษก็รับงานในวงการบันเทิงพร้อมอ่านหนังสือเตรียมไปด้วย ถ้าสอบผ่านก็ถึงเวลาอำลาวงการบันเทิง เพราะผู้พิพากษาต้องมีความสันโดษ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด”

มองกฎหมายแบบ "มาร์ค" อภิวิชญ์ พระเอกอนาคตผู้พิพากษา

     ทั้งนี้ หนุ่มหล่อแถมเรียนเก่ง ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังสนใจเรียนวิชากฎหมายว่า ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิด เป็นวิชาที่สนุกถ้าเข้าใจ และถ้าได้เข้ามาเรียนปีแรกอาจจะดูน่าเบื่อเพราะเป็นวิชาพื้นฐาน ซึ่งต้องทนกับความน่าเบื่อให้ได้เพื่อรอเจอสิ่งที่สนุก พอแม่นพื้นฐานแล้วไปเรียนเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น เชื่อมโยงเนื้อหาได้ก็จะสนุกไปกับมัน เพราะมีความท้าทายอยู่ตลอดเวลา

++++++++++++++

เรื่อง/ชาญยุทธ ปะวะขัง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ