Lifestyle

พฤติกรรมฮิตบนทวิตเตอร์ของคนไทยปี 2019

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พฤติกรรมฮิตบนทวิตเตอร์ของคนไทยปี 2019 คอลัมน์...   อินโนสเปซ โดย...  บัซซี่บล็อก

 

 

 

          ปัจจุบันคนไทยอาจรู้จักและคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ชื่อว่าทวิตเตอร์ (Twitter) น้อยกว่าเฟซบุ๊ก หรือไลน์ แต่รู้หรือไม่ว่าแม้จะอยู่ในอันดับ 6 (จากรายงานการจัดอันดับโดย Hootsuit และ We are Social เมื่อต้นปี 2019) ด้วยตัวเลขผู้ใช้งานประมาณ 20 ล้านคน ทวิตเตอร์กลับเป็นโซเชียลมีเดียที่ทรงพลังและรวดเร็วในการ “ปั่นกระแส” หรือ “ต้านกระแส” ที่สำคัญยังเปรียบเสมือน “กระจก” ที่สะท้อนภาพชัดเจนและแบบเรียลไทม์แทบทุกพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ความชอบ ความไม่ชอบของชาวโซเชียล

 

 

          บนเวทีสัมมนา Creative Talk ในงาน Digital Thailand Big Bang 2019 เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “ปัญชรี สิทธิเสนี (เอมี่)” Country Head (Thailand) บริษัท มีเดียโดนัทส์ ผู้แทนอย่างเป็นทางการของทวิตเตอร์ในประเทศไทย ได้สรุปภาพรวม 5 เทรนด์มาแรงของพฤติกรรมชาวทวิตเตอร์ในประเทศไทย จากการรวบรวมกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ตั้งแต่ช่วงต้นปี และแน่นอนว่าเทรนด์เหล่านี้ยังสามารถสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ ในภาพรวมได้อีกด้วย


          5 เทรนด์มาแรงบนทวิตเตอร์ในไทย
          สำหรับ 5 เทรนด์ที่มาแรง ซึ่งเห็นได้ชัดบนโซเชียลปีล่าสุดนี้ มีทั้งแนวโน้มที่เด่นต่อเนื่อง และแนวโน้มใหม่ที่เริ่มมาแรงขึ้น เทรนด์เหล่านี้ก็วัดได้ความแรงจากแฮชแท็ก ว่าฮิตติดลมบนแค่ไหน มีการรีทวิต ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ และมีการพูดถึงในวงกว้างขนาดไหนซึ่งเรียงอันดับความแรงแล้ว ได้แก่


          1.#Happening อะไรเกิดขึ้นตอนนี้ โดยเฉพาะบนทวิตเตอร์ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ “รวดเร็ว” คนมักเข้ามาพูดถึงข่าวสารบ้านเมือง หรือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนั้นๆ เช่น บีทีเอสเสีย บีทีเอสซ่อมแล้ว ไฟไหม้ที่นี่ มีระเบิดที่ไหน น้ำท่วม ฝนตกที่ไหน นอกจากนี้ างประเด็นที่เป็นกระแสในวงกว้างก็ยังมีแบรนด์ใหญ่ๆ เข้ามาเกาะกระแส ต่อยอดไปสู่การทำกิจกรรมการตลาด หรือทำโปรโมชั่นใหม่ๆ อีกด้วย ยกตัวอย่าง แฮชแท็ก#ทีมไม่ลวกหมี่หยก ที่โด่งดังตั้งแต่เริ่มต้นปี (เดือนม.ค.) มีเหตุการณ์เล็กๆ ที่คนพูดต่อๆ กัน และรีทวิตจนเสมือนปัญหาระดับชาติ จากทวิตของเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ทะเลาะกันเรื่องลวก หรือไม่ลวกหมี่หยก จนเกิดการแบ่งทีมเชียร์ (จากชาวทวิตเตอร์) และส่งต่อแฮชแท็กนี้กันไปถึง 36 ล้านทวิต ภายใน 3 วัน อีกทั้งติดเทรนด์โลกเมื่อช่วงต้นปีด้วย ต่อมาทั้งเอ็มเค, ท็อปส์ และค่ายหนังเมเจอร์ ต่างก็กระโดดเข้ามาเล่นด้วย




          “กรณีนี้สะท้อนพฤติกรรมคนไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการรับประทาน หรือคนไทยเรื่องกินเรื่องใหญ่ อีกทั้งเห็นการเปลี่ยนแปลงว่า การ debate จากเดิมที่เกิดขึ้นจำกัดวงในกลุ่มก็สามารถใช้โซเชียลมาหาความคิดเห็นนอกกลุ่ม จากมุมมองของคนอื่นว่ามีใครคิดเหมือนเราหรือต่างออกไปบ้างมั้ย หาความคิดเห็นต่างจากโซเชียล ไม่ใช่การทะเลาะกัน”


          2.ทีวีกับโซเชียลมีเดีย (ทวิตเตอร์) เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เร็ว สามารถส่งความคิดเห็นได้ในระยะเวลาแบบเรียลไทม์ ระยะหลังๆ คนจึงเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากดูทีวี มีมือถือเป็นหน้าจอที่ 2 ดูไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปกับเพื่อนๆ บนทวิตเตอร์ “ไม่ว่าจะดูทีวีจากช่องทางไหนก็ตาม แต่ช่วงพักเบรกโฆษณา ก็ต้องมาเม้าท์กันในโซเชียลทันที”


          พฤติกรรมคอละครชาวทวิตเตอร์จะมี 3 รูปแบบคือ แคปภาพจากละครมาเม้าท์แบบเรียลไทม์ แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ถ้าไม่ได้ดูแบบเรียลไทม์เต็มๆ ก็ต้องมาดูไฮไลท์คลิปที่ชื่นชอบ และกรณีคนทำงาน หรือไม่มีเวลา แต่อยากคุยกับเพื่อน (เรื่องละคร) รู้เรื่อง ก็จะเข้ามาดูแบบ wrap-up ใช้เวลาสั้นๆ เพราะหลังละครจบจะมีแฟนละครกลุ่มหนึ่งชอบทำทวิตแบบ wrap-up หรืออาจเป็นรูปแบบการสรุปละครเรื่องนี้ใน 4 ช่องแบบไม่สปลอยล์ เป็นต้น


          สำหรับละครดังบนทวิตเตอร์ประจำปีล่าสุดนี้จากการรวบรวมข้อมูลช่วงเกือบ 10 เดือนที่ผ่านมา “กรงกรรม” ติดอันดับ 1 ในละครที่มีการพูดถึงมากที่สุดบนทวิตเตอร์ คือ 7 ล้านทวิต และมีคนเห็นทวิตเหล่านี้ 2.8 พันล้านครั้ง มีทั้งทวิตที่เม้าท์ตัวละครและบทละคร ขณะที่ในภาพรวมการคุยเรื่องบันเทิงบนทวิตเตอร์มีประมาณ 80 ล้านการสนทนา


          มุมบวกๆ บนทวิตเตอร์
          3.Respect เป็นเทรนด์ที่ปีนี้เห็นมากขึ้น ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงการรังแกทางไซเบอร์ (Cyberbullying) อย่างไรก็ตามบนโซเชียลไม่ใช่จะมีแต่กลุ่มที่รังแกคน แต่ยังมีกลุ่มที่ให้ความเคารพคนอื่นเช่นกัน ปีนี้แฮชแท็กเกี่ยวกับ respect จึงมีแยะ ที่ชัดเจนคือ #RespectLisa หลังจากเกิดกระแส Hate Speech ในเกาหลี ที่โจมตีลิซ่า แบล็คพิงก์ จุดประกายจากทวิตเดียวของแฟนคลับแบล็คพิงก์ในประเทศบราซิล จนกระจายไปทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยก็มี #RespectLisa มากกว่า 1.8 ล้านทวิต


          “สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์คือคำพูดที่ว่า “เกมพลิก” เมื่อมีการโจมตีฝั่งหนึ่งอีกไม่นานก็จะมีกระแสเข้าไปเชียร์ฝ่ายที่ถูกโจมตี แม้แต่นักการเมืองที่ถูกโจมตี หรือ bully ทวิตเตอร์ แม้ชาวทวิตเตอร์จะไม่ชอบเขาก็จะเข้าไปให้กำลังใจด้วยการติดแฮชแท็ก#Respect เช่นกัน “มีความเคารพกันมากขึ้น” คือเทรนด์ที่เริ่มเกิดขึ้นและมาแรง”


          4.Save เป็นแฮชแท็กที่เห็นมากขึ้นในปีนี้ เป็นกระแสการให้กำลังใจหรือการระดมความช่วยเหลือผ่านโซเชียล ตัวอย่างล่าสุดก็คือ #SaveUbon ทำให้เกิดการระดมเงินช่วยเหลือน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี คนบนโซเชียลไม่ใช่แค่แฮชแท็กแล้วลืมๆ กันไป แต่จะมีการลงมือทำ (Action) เกิดขึ้น


          5.เด็กนักเรียนบนทวิตเตอร์ แฮชแท็ก#Dek62 ถือว่าเป็นเทรนด์ที่มาแรงแห่งปีในประเด็นของเด็กนักเรียน เป็นแฮชแท็กของแต่ละปีที่มีการสอบแอดมิชชั่น เป็นการรวมพลังของเด็กที่จะสอบปีนี้เข้ามารวมตัวช่วยกันเรื่องการเตรียมตัวสอบ เฉลยข้อสอบ ติว 9 วิชาสามัญ สะท้อนอีกมุมหนึ่งของเยาวชนไทยยุคนี้ว่าสนใจการสอบ และมองว่าการสอบแอดมิชชั่นเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังนั้นจึงเห็นเทรนด์การติวข้อสอบออนไลน์บนทวิตเตอร์มาแรง บ่งบอกว่าในสมัยนี้ถ้าเด็กเครียดเรื่องการเรียน/การสอบ ก็สามารถเข้ามาหาเพื่อนบนทวิตเตอร์และปรึกษาได้ อีกทั้งยังมีเว็บติวเตอร์หลักๆ หรือติวเตอร์คนดังเข้ามาช่วยตอบคำถามอีกด้วย สังคมนักเรียนและครูติวเตอร์ช่วยเหลือกันอยู่บนแพลตฟอร์ม


          สัปดาห์หน้าเราจะมาคุยกันว่าข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้อะไรได้บ้างและปัจจัยข้อไหนที่จะช่วยให้ "ติดเทรนด์” โซเชียล

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ