Lifestyle

เผายา ศาสตร์รักษา ภูมิปัญญาโบราณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เผายา ศาสตร์รักษา ภูมิปัญญาโบราณ คอลัมน์...  หมอยาทางเลือก

 

 

 

          ภูมิปัญญาการรักษาที่เรียกว่าการแพทย์ทางเลือก ไม่เพียงในบ้านเรา ที่จริงแล้วได้รับความสนใจมากมายในต่างประเทศหลายทวีปทั่วโลก สิ่งนี้ย่อมชี้วัดว่าการรักษาแนวนี้มีข้อดีอยู่มาก

 

 

          ถ้าจะนับว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญาการรักษาทางเลือกแบบไหนบ้าง เห็นจะไล่เรียบเรียงไม่หมด แต่มีอยู่วิธีการรักษาหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือการรักษาแบบ “เผายา”


          คนทั่วไปอาจเพิ่งเห็นภูมิปัญญาการรักษาแบบเผายาในละครดัง “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ที่จบไปแล้วช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทำเอาฮือฮาไม่น้อย

 

 

 

เผายา ศาสตร์รักษา ภูมิปัญญาโบราณ

 


          หากที่จริงภูมิปัญญานี้ก็มีมาแล้วเนิ่นนาน คือนอกจาก นวด, ประคบ, อบไอน้ำ, สุมยา, พอกยา, รมยา ที่เราเห็นทั่วไป ก็มีการ “เผายา” นี่แหละที่นับเป็นหนึ่งในเวชปฏิบัติแผนไทยด้วยเช่นกัน


          ศาสตร์โบราณ
          ไม่มีบันทึกชัดเจนว่าการเผายาเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไรสมัยไหน และใครเป็นต้นกำเนิด แต่ก็มีข้อมูลว่า การเผายานับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมร่วมในอุษาคเนย์ของคนแถบภูมิภาคนี้มานับหลายหมื่นหลายพันปีก่อน


          โดยหลักการทั่วไปคือเป็นการเพิ่มธาตุไฟให้ร่างกาย โดยให้ความร้อนผ่านเครื่องยาสมุนไพรแล้วซึมถ่ายเข้าไปในรูขุมขุนบริเวณที่ต้องการรักษาโรค


          สำหรับสมุนไพรที่นำมาใช้มักเป็นประเภทพืชที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น น้ำมันไพล, ขมิ้นชัน, ไพลสด, ข่า, ตะไคร้, ผิวมะกรูด, ขิง, การบูร, เกลือ, แอลกอฮอล์สำหรับจุดไฟ

 

 

เผายา ศาสตร์รักษา ภูมิปัญญาโบราณ

 

 

          ขั้นตอนการเผายา เริ่มจากการเตรียมสมุนไพรตามที่ผู้รักษาเลือก,  น้ำมันไพล, ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ 2-3 ผืน, แอลกฮอล์จุดไฟ (เมทิลแอลกอฮอล์), ไฟแช็ก





          วิธีเผายา เมื่อเราเตรียมสมุนไพรที่จะใช้แล้ว ก็นำมาสับให้ละเอียดพอประมาณ จากนั้นนำมาคลุกกับการบูรให้เข้ากันดี


          ระหว่างนั้น ผู้รักษาก็ทำการนวดน้ำมันไพลบริเวณร่างกายของผู้ป่วยที่จะทำการเผายาเพื่อเตรียมผิวให้พร้อม และเป็นการไล่ลมเบื้องต้น ประมาณ 5-10 นาที


          จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ มาม้วนแล้ววางเป็นกรอบรอบสะดือ หรือบริเวณที่จะทำการเผาไฟรักษา แล้วใส่สมุนไพรลงไปให้เต็มช่องที่ผ้าขนหนูล้อมไว้ เกลี่ยสมุนไพรให้เสมอกัน แล้ววางผ้าชุบน้ำหมาดๆ คลุมบริเวณที่จะเผาอีกชั้น


          ระหว่างนั้นก็ฉีดพรมหรือจุดแอลกอฮอล์บนผ้าขนหนูในจุดที่วางเครื่องยาไว้ แล้วก็ดำเนินการจุดไฟ จนเมื่อไฟดับก็จุดใหม่ ทำแบบนี้ประมาณ 5-7 รอบ หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกร้อน

 

 

เผายา ศาสตร์รักษา ภูมิปัญญาโบราณ

 


          แต่ละรอบให้คลึงเครื่องยาเพื่อให้เครื่องยาโดนความร้อนอย่างทั่วถึงกัน โดยต้องสังเกตอาการของคนไข้ไปด้วย เพราะบางคนอาจรู้สึกไม่ไหว ความดันโลหิตขึ้นจนรู้สึกไม่สบายตัวได้


          สรรพคุณเผายา
          ที่ได้ยินทั่วไปคือเผายาช่วยเรื่อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เพราะหลักๆ แล้วการเผายาจะเน้นไล่ลมในเส้นเลือด เพื่อบรรเทาอาการเลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก


          แต่ก็ยังมีการระบุว่าการเผายายังช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้อากาศ หอบหืด ปวดเมื่อยเนื้อตัว สะบัดร้อนสะท้านหนาว เพราะความร้อนจากเปลวไฟอุ่นๆ เหมือนประคบสมุนไพรจะทำให้ตัวยาซึมเข้าสู่ร่างกายได้ตรงจุดและรวดเร็วขึ้น


          นอกจากนี้ โรคฮิตอย่าง “อาการกระดูกทับเส้น” ที่หลายคนทรมานสุดๆ การเผายาก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้


          สำหรับข้อยกเว้นที่ไม่ควรเข้ารับการเผายา ทั่วไประบุว่าเช่นคนไข้ที่มีอาการปวดศีรษะ มีประจำเดือน ตัวร้อน อ่อนเพลียจากการตากแดด มีอาการหอบเหนื่อย ร้อนใน มีแผลผ่าตัด หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มีกำเดากำเริบ เพราะการเผายาคือการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ที่อาจไปทำให้อาการกำเริบได้

 

 

 

เผายา ศาสตร์รักษา ภูมิปัญญาโบราณ

 


          รวมทั้งผู้ที่มีอาการผิวหนังอักเสบรุนแรง เป็นแผลพุพองง่าย เป็นโรคเบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะใช้ความร้อนใกล้ผิวหนัง อาจทำให้เกิดแผลได้


          หลังเผายาแล้ว ไม่ควรอาบน้ำทันที และควรงดการรับประทานอาหารฤทธิ์เย็น เช่น แตงโม น้ำเย็น เพราะความเย็นจะเข้ามากระทบ ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก การเผายาที่ทำไปจะไม่ได้ผล


          การเผายาสามารถทำได้สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง แต่ไม่ควรเผาทุกวัน


          รพ.พรหมพิราม ศาสตร์ธรรมชาติ
          บ้านเรามีสถานพยาบาลที่ทำการรักษาด้วยศาสตร์เผายามากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง “โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพรหมพิราม (โรงพยาบาลพรหมพิราม)” จ.พิษณุโลก ก็มีการรักษาด้วยวิธีการนี้เช่นกัน


          ที่นี่ประกาศเลยว่าเน้นการรักษาแบบธรรมชาติโดยเอา “ธรรมชาติมาดูแลธรรมชาติ” และยังดูแลไปถึงจิตใจของผู้ป่วยด้วย ปัจจุบันมีผู้คนหน่วยงานต่างๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติทยอยเข้ามาดูงานที่รพ.แห่งนี้กันอย่างต่อเนื่อง


          ทุกวันนี้ โรงพยาบาลมีตึกผู้ป่วยในแพทย์แผนไทย โดยรับผู้ป่วยนอนค้างคืน 15 ห้องพิเศษ รับรักษาเกือบทุกโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วย เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยให้ดีขึ้น


          ผู้ที่สนใจเข้ารับบริการที่นี่ต้องนำบัตรประชาชนมา ในการตรวจแพทย์จะซักประวัติเพื่อวินิจฉัยอาการคนไข้ และความเสี่ยงต่างๆ

 

 

 

เผายา ศาสตร์รักษา ภูมิปัญญาโบราณ

 


          นอกจากนี้้แพทย์จะวินิจฉัย Pain Scale คือดูว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บขั้นไหน ถ้าเจ็บระดับ 1-4 คือการนวดรักษาและให้กลับบ้านได้ แต่ถ้าระดับ 5-10 ก็จะให้นอนพักรักษาที่โรงพยาบาล


          สำหรับการเผายานั้น ที่ รพ.พรหมพิรามเพิ่งคิดค้นสูตรยาขึ้นมาโดยเฉพาะ อย่างอาการกระดูกทับเส้น ได้ทดลองเผายารักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็พบว่ากลับมาหายได้


          สุรศักดิ์ สิงห์ชัย หัวหน้ากลุ่มงานแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รพ.พรหมพิราม ระบุว่า การเผายาสูตรโบราณกำลังเป็นที่นิยมของผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงการใช้ยาแผนปัจจุบัน เป็นการรักษาผู้ป่วยแบบผสมผสาน ตอบโจทย์กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม หรือผู้สูงอายุที่มีอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง ที่เน้นความปลอดภัย ทั้งยังช่วยลดการใช้ยาแผนปัจจุบันลงด้วย


          โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพรหมพิราม ปัจจุบันมีผู้อำนวยการคือ นพ.อิ๊ดยังวัน ยงย่วน ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ต.พรหมพิราม อ.พรหมพิราม พิษณุโลก โทรศัพท์ 055 369 103

(ภาพจากเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพรหมพิราม) 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ