Lifestyle

ปวดกราม ขากรรไกร ฟันไม่สบกัน นอนกัดฟัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... เสียเรียกจากร่างกาย

 

 

 

 

   
          ฉบับที่แล้วเราได้พูดถึงอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดร้าวขึ้นศีรษะเหมือนเป็นไมเกรนมาแล้วนะคะ ฉบับนี้จะกล่าวถึงอาการคล้ายการปวดศีรษะ ซึ่งปัญหาของอาการนี้มักเชื่อมโยงกับอาการปวดคอ บ่าได้ค่ะ อาการดังกล่าวนี้บางท่านคาดไม่ถึงว่าจะมีความเชื่อมโยงหรือส่งผลได้นั่นคืออาการ ปวดขากรรไกร หรือในทางการแพทย์เรียกว่า Temporomandibular joint dysfunction นั่นเอง

 

 

          เสียงใดบ้างที่ร่างกายกำลังบอกเล่าให้เราฟัง ขอยกตัวอย่างคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ


          ตื่นมารู้สึกปวดขากรรไกร ปวดบริเวณกราม เมื่อยๆ ขากรรไกร บริเวณแก้ม หรือบริเวณด้านหน้ากกหู ไม่สบายหัว ปวดแบบตื้อๆ ชาๆ ตรงแก้ม–ขมับ มึนๆ ตึงๆ ทั้งศีรษะ แก้มและข้างๆ ใบหู อาจรู้สึกล้าๆ ตา หรือหูอื้อๆ


          บางท่านรู้สึกเหมือนเมื่อยๆ หน้า ขยับหน้าเช่นยิ้มหรือหัวเราะก็จะรู้สึกตึงรั้งไปทั้งใบหน้า และศีรษะ แก้มด้านที่เป็นจะรู้สึกบวมๆ มากกว่าอีกด้าน ทั้งนี้อาจเป็นได้ทั้งสองด้าน เวลาอ้าปากกว้างๆ จะรู้สึกถูกจำกัด คืออ้าได้ไม่เต็มที่ หรือมีเสียง “กร๊อก” ตอนอ้าปากหรือหุบปากลง เวลาเคี้ยวรู้สึกเหมือนกรามไม่สบกัน


          ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงหรือเรื้อรังของแต่ละท่าน ถ้าปล่อยไว้เรื้อรัง ก็จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดบ่า ปวดสะบัก หรือมีอาการวิงเวียนร่วมด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนและที่เตือนได้ชัดเจนคือการนอนกัดฟัน ซึ่งเจ้าตัวอาจไม่รู้สึกตัวแต่คนที่อยู่ข้างๆ จะบอกคุณได้ คุณอาจรู้สึกตัวตอนเช้า นั่นคือจะรู้สึกเจ็บๆ เมื่อยๆ บริเวณขากรรไกร กรามหรือขมับ โดยเฉพาะเวลาที่เคี้ยวอาหารหรืออ้าปากกว้างๆ เมื่อลุกขึ้นตอนเช้า และจะรู้สึกเจ็บเพิ่มขึ้นถ้าฟันไม่สบพอดีกัน

 

 

            อาการดังกล่าวนี้อาจต้องแยกจากกลุ่มผู้ที่มีความบกพร่องของโครงสร้างของฟันและขากรรไกรด้วย ถ้าหากเกิดจากการเรียงตัวของเนื้อฟันที่มีรอยนูน การบดเคี้ยวหรือการสบฟันที่ไม่พอดี ก็อาจพบอาการที่คล้ายๆ กัน แต่หากท่านไปพบทันตแพทย์แล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ ของโครงสร้างฟัน หรือการจัดการเกี่ยวกับฟัน ไม่สามารถแก้อาการของท่านได้ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าอาการที่เป็นอาจเนื่องมาจากปัญหาของระบบโครงสร้างร่างกายของเรานั่นเอง
 


   

          การบิดคดของกระดูกคอ ซึ่งมีความเชื่อมโยงไปถึงกระโหลกศีรษะและขากรรไกรนั้น ต้นเหตุที่แท้จริงมีได้จากหลายส่วน ตั้งแต่การบิดหรือโก่งของแนวเข่า การลงน้ำหนักเท้าที่ไม่เท่ากัน แล้วส่งผลถึงข้อสะโพก–หลัง ทำให้มีการบิดของคอ บางท่านอาจมีปัญหาที่กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อของขากรรไกร กล้ามเนื้อที่เชื่อมโยงมาขากรรไกร หรือเชื่อมมากระโหลกศีรษะมีการตึงรั้ง ไม่สมดุลกัน จนไปดึงให้ข้อต่อขากรรไกรทำงานผิดปกติได้


          เรามาดูกันว่าข้อต่อของขากรรไกรนั้นเชื่อมโยงกันอย่างไร? กับโครงสร้างร่างกาย


          ข้อต่อของขากรรไกร ประกอบด้วย กระดูกกรามหรือกระดูกขากรรไกร (Mandible) เชื่อมต่อกับกระดูกด้านข้างของกระโหลกศีรษะ (Temporal bone) ซึ่งสองชิ้นนี้มีความเชื่อมโยงต่อไปยังกระดูกคอ จึงทำให้ส่งผลต่อข้อต่อนี้ได้ ถ้าโครงสร้างร่างกายเกิดความไม่สมดุล


          กล้ามเนื้อ มีกล้ามเนื้อหลายมัดที่เกาะโยงจากกระดูกทั้งสองชิ้นนี้ไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่นเชื่อมไปถึงกระดูกไหปลาร้า แผ่ไปตามท้ายทอย หรือขมับ บางมัดเรียงตัวทอดตลอดแนวของข้อต่อขากรรไกร พาดผ่านไปที่กระโหลกศีรษะด้านข้าง หรือจากฐานกระโหลกศีรษะเชื่อมโยงไปที่กระดูกคอ เป็นต้น ตัวอย่างกล้ามเนื้อที่มีความเชื่อมโยงดังกล่าวเช่น Temporalis muscle Masseter muscle Suboccipital muscle Sternocleidomastoid muscle Platysma muscleฯลฯ ดังนั้นเมื่อเกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ จะส่งผลต่อการทำงานของขากรรไกรที่ไม่สมดุล ข้อต่อไม่อยู่ในแนวปกติ จึงเกิดอาการต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้


          เป็นอย่างไรบ้างคะ เมื่อท่านได้อ่านและทำความเข้าใจกับอาการนี้แล้วก็จะทราบว่าร่างกายของเราช่างมหัศจรรย์ เพียงแค่มีความไม่สมดุลของส่วนใดส่วนหนึ่งก็ส่งผลได้ตลอดทั้งร่างกายและที่สำคัญเขาจะคอยส่งสัญญาณเตือนเราตลอดเพียงแต่ว่าท่านจะฟังเสียงนั้นหรือเปล่า นอกจากเรื่องของโครงสร้างร่างกายที่ส่งผลต่ออาการปวดขากรรไกรแล้ว ภาวะที่มีความเครียดก็ส่งผลมาก ทำให้กลางคืนอาจมีการขบกราม หรือกัดฟันจนทำให้เกิดความตึงตัวของข้อต่อและกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆขากรรไกรได้


          ร่างกายกับจิตใจ เป็นสิ่งที่ต้องดูแลควบคู่กันไป เพราะฉะนั้นการดูแลตัวเองที่ดีที่สุดไม่ใช่บำรุงหรือดูแลแต่เพียงร่างกาย ต้องดูแลและบำรุงจิตใจด้วยค่ะ จึงจะได้ชื่อว่ามีความแข็งแรงสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจค่ะ พบกันฉบับหน้านะคะ สวัสดีค่ะ


          ***ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) โทรศัพท์ 092-3269636 www.ariyawellness.com Facebook: Ariya Wellness Center สถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ***
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ